ความแตกต่างระหว่างการตรวจแอนติเจน และแอนติบอดี
ก่อนที่จะซื้อชุดตรวจมาใช้ ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าชุดตรวจมี 2 แบบคือ
- แบบตรวจหาแอนติเจน (Antigen)
- แบบตรวจหาแอนติบอดี (Antibody)
โดยแบบแรกเป็นการตรวจ ‘ชิ้นส่วนของไวรัส’ ซึ่งจะต้องเก็บตัวอย่างในจมูกหรือคอหอย ส่วนแบบหลังเป็นการตรวจหา ‘ภูมิคุ้มกันต่อไวรัส’ ซึ่งจะต้องเจาะเลือดตรงปลายนิ้ว แต่ชุดตรวจที่แนะนำให้ใช้ในขณะนี้คือแบบตรวจหาแอนติเจนเพียงแบบเดียว
หลายคนมีคำถามในใจว่า ทำเราถึงยังไม่เข้าถึงชุดตรวจอย่าง Rapid Antigen Test ชุดตรวจหาเชื้อโควิด-19 เบื้องต้น ซึ่งในบางประเทศ อาทิ ฝรั่งเศส อิตาลี เยอรมนี สหราชอาณาจักร ฯลฯ ชุดตรวจนี้สามารถหาได้ตามร้านขายยาทั่วไป เพื่อให้นำไปตรวจหาโควิดได้เองที่บ้าน แม้ผลที่ออกมาจะไม่เป็นทางการ แต่ทำให้เราคัดกรองตัวเองได้ในระดับหนึ่งว่า หากเราเป็นผู้ที่มีเชื้อโควิด-19 อยู่ในร่างกาย แม้ไม่มีอาการ ก็ต้องมีการตรวจซ้ำ เพื่อให้ได้ผลยืนยัน ก่อนเข้าสู่กระบวนการรักษาให้รวดเร็ว เพื่อความปลอดภัยกับตัวเอง และคนใกล้ชิด ดีกว่าการที่ไม่รู้ว่าตัวเองมีเชื้อหรือไม่มีเชื้อในร่างกาย
ข้อดีของชุดตรวจคือทราบผลเร็วภายใน 15-30 นาที และสามารถตรวจซ้ำได้บ่อย (คำแนะนำของ NHS สหราชอาณาจักร สามารถตรวจซ้ำได้สัปดาห์ละ 2 ครั้ง หรือทุก 3-4 วันหากไม่มีอาการ) แต่มีข้อควรระมัดระวังคือ ผลลบปลอม (False Negative) คือเป็นผู้ติดเชื้อ แต่ผลตรวจเป็นลบ (Negative) คือยังไม่พบเชื้อ เนื่องจากปริมาณเชื้อน้อย อยู่ในระยะฟักตัว 14 วัน หรือการเก็บตัวอย่างไม่ถูกวิธี
สำหรับ Rapid Antigen Test เป็นการตรวจหาองค์ประกอบของไวรัส ซึ่งในประเทศไทยตอนนี้มีขึ้นทะเบียนอยู่ 24 ยี่ห้อ ถูกกำหนดให้ใช้โดยบุคลากรทางการแพทย์ และดำเนินการโดยสถานพยาบาลที่ได้รับการรับรองในการตรวจ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 300 แห่งเท่านั้น โดยทั้ง 24 ยี่ห้อนั้นก็จะมีความแตกต่างกันในเรื่องของการเก็บตัวอย่างที่ใช้ตรวจ เทคนิคการตรวจหาโปรตีนของไวรัส และการทำลายเชื้อของสารทำละลายที่ใช้ในการตรวจ ในทางวิทยาศาสตร์ให้ผลที่แม่นยำประมาณ 90%
ขอบคุณข้อมูล https://www.thairath.co.th