ความหมายของเทคโนโลยี (Technology)
ในชีวิตประจำวัน เราต้องใช้ สิ่งของเครื่องใช้เพื่อแก้ปัญหาหรือสนองความต้องการของเราอยู่ทุกวัน เช่น ใช้นาฬิกาปลุกเพื่อให้เราตื่น อานน้ำแปรงฟันด้วยอุปกรณ์สำหรับอาบน้ำ รับประทานอาหารท่่ี่ใส่ในจานหรือชาม เดินทางมาโรงเรียนด้วยรถยนต์หรือรถจักรยาน เขียนหนังสือด้วยดินสอหรือปากกา สืบค้นข้อมูลด้วยคอมพิวเตอร์ เมื่อกลับถึงบ้าน ก็นอนหลับพักผ่อนดวยเครื่องนอน เช่น หมอน ที่นอน ฯลฯ
จากกิจกรรมต่างๆในชีวิตประจำวัน จะพบว่าเราต้องอาศัยสิ่งของเครื่องใช้หรือวิธีการต่างๆมากมายเข้ามาช่วยในการแก้ปัญหาของเรา เพื่อให้การทำงานสะดวก รวดเร็วและสบายขึ้น ดังตัวอย่างต่อไปนี้
1. วิธีการปลูกพืชแบบขั้นบันได เป็นวิธีการที่มนุษย์คิดค้นขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาการพังทลายของหน้าดินและการเก็บกักน้ำในพื้นที่การเกษตรที่มีความลาดชัน
นาขั้นบันได
2. วิธีการปลูกพืชกางมุ้ง จุดประสงค์ก็เพื่อแก้ปัญหาการระบาดของศัตรูพืช ซึ่งทำให้มนุษย์ต้องใช้สารเคมีฉีดป้องกันและกำจัด ซึ่งจะส่งผลต่อความปลอดภัยของผู้บริโภค
ปลูกผักกางมุ้ง
3. คอมพิวเตอร์ มนุษย์ประดิษฐ์คอมพิวเตอร์ขึ้นมา ก็เพราะงานบางอย่างต้องใช้การคำนวณอย่างรวดเร็ว แม่นยำ และพลาดไม่ได้ ซึ่งถ้าจะใช้สมองของมนุษย์ก็คงจะไม่สามารถทำงานได้อย่างรวดเร็วและจำนวนมากเหมือนคอมพิวเตอร์
จากตัวอย่างเทคโนโลยีทั้ง 3 เรื่องจะเห็นว่า เทคโนโลยีต่างๆจะเกิดขึ้นมาได้ก็เพราะ มีปัญหาที่มนุษย์เห็นว่าทำให้ตนเองเกิดความไม่สะดวก สบาย หรือมีบางสิ่งบางอย่างที่มนุษย์ต้องการใช้งาน ซึ่งมนุษย์ก็จะใช้ความรู้ ทักษะและทรัพยากรต่างๆ นำมาสร้างสิ่่งของหรือวิธีการเพื่อแก้ปัญหาหรือตอบสนองความต้องการของตนเอง
ดังนั้นเทคโนโลยี หมายถึง สิ่งที่มนุษย์พัฒนาขึ้น เพื่อช่วยในการทำงานหรือแก้ปัญหาต่างๆ เช่น อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องจักร วัสดุต่างๆ หรือกระบวนการต่างๆ เช่น กระบวนการเทคโนโลยี เป็นต้น
ระดับของเทคโนโลยี
เทคโนโลยี มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์มาเป็นเวลานาน เพราะมนุษย์ใช้เทคโนโลยีในการแก้ปัญหาพื้นฐานในการดำรงชีพ เช่น การเพาะปลูก การเลี้ยงสัตว์ การสร้างบ้านเรือนที่อยู่อาศัย การคิดประดิษฐ์เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม การผลิตและใช้ยารักษาโรค การคมนาคมขนส่ง การค้าขาย การศึกษา การป้องกันประเทศ ในระยะแรก เทคโนโลยีที่นำมาใช้เป็นเทคโนโลยีพื้นฐานที่เรียกกันว่า “เทคโนโลยีชาวบ้านหรือภูมิปัญญาท้องถิ่น แต่เนื่องจากอัตราการเพ่ิมขึ้นของประชากรและข้อจำกัดด้านทรัพยากรธรรมชาติที่มีจำนวนลดลง จึงมีการพัฒนาเทคโนโลยีให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อให้สามารถผลิตปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตได้เพียงพอกับความต้องการของประชาชนภายใต้เงื่อนไขของการอนุรักษ์ คือ การใช้ทรัพยากรให้น้อยที่สุดแต่เกิดประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่มากที่สุด
ลักษณะของเทคโนโลยี
เทคโนโลยีที่สร้างขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาหรือตอบสนองความต้องการของมนุษย์ มี 2 ลักษณะ คือ
1. เทคโนโลยีที่มีลักษณะเป็นสิ่งของ เครื่องใช้ ซึ่งมนุษย์ใช้ความรู้ ทักษะ ประสบการณ์สร้างขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาต่างๆของมนุษย์ เทคโนโลยีประเภทนี้จะพบเห็นได้อยู่ทั่วไป เช่น คอมพิวเตอร์ ดาวเทียม โทรทัศน์
2. เทคโนโลยีที่มีลักษณะเป็นวิธีการ เทคโนโลยีประเภทนี้เกิดจากการที่มนุษย์ได้พยายามหาวิธีการใดวิธีการหนึ่งมาใช้แก้ปัญหาจนประสบความสำเร็จ สามารถแก้ปัญหาและตอบสนองความต้องการของมนุษย์ได้ เช่น เมื่อมีปัญหาฝนแล้ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯก็ทรงคิดค้นวิธีการทำฝนเทียมเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว หรืออีกหนึ่งตัวอย่างที่เห็นอยู่ในขณะนี้ก็คือ “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ก็จัดเป็นเทคโนโลยีประเภทวิธีการได้เช่นเดียวกัน เนื่องจากปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาที่ชี้แนะแนวทางการดำรงอยู่และปฏิบัติตนในทางที่ ควรจะเป็นโดยมีพื้นฐานมาจากวิถีชีวิตดั้งเดิมของสังคมไทย สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ตลอดเวลา และเป็นการมองโลกเชิงระบบที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา มุ่งเน้นการรอดพ้นจากภัย และวิกฤต เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติเพื่อการพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืน พร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงในทุกด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมความรู้และเทคโนโลยีปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จัดเป็นเทคโนโลยีประเภทวิธีการ
การจัดแบ่งระดับของเทคโนโลยีตามความรู้ที่ใช้ในการแก้ปัญหา แบ่งออกได้ 3 ระดับ คือ
1. เทคโนโลยีระดับพื้นบ้านหรือพื้นฐาน (Basic Technology)
เทคโนโลยีระดับพื้นบ้านหรือพื้นฐาน (Basic Technology) เป็นเทคโนโลยีในยุคแรกๆ ส่วนใหญ่เป็นเทคโนโลยีเพื่อการยังชีพ โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่ใช้ในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมพื้นบ้าน เช่น คันไถ คราด มีด พร้า จอบ เสียม อวน แห เบ็ด เรือพาย หม้อ ไห โดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่น รวมถึงการคิดหาวิธีการถนอมอาหารและแปรรูปอาหารเพื่อเก็บไว้บริโภคได้เป็นเวลานาน เช่น การตากแห้ง การทำเค็ม การหมัก การดอง ฯลฯ ตลอดจนการคิดค้นสูตรยาสมุนไพรต่างๆ เทคโนโลยีพื้นบ้านจึงจัดเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เป็นต้นแบบของเทคโนโลยีสมัยใหม่ เทคโนโลยีพื้นบ้านส่วนมากไม่ต้องใช้ความรู้หรือประสบการณ์เฉพาะด้าน ส่วนใหญ่เกิดจากการสังเกต จดจำและฝึกหัดจนเกิดประสบการณ์ตรง
การแปรรูปและการถนอมอาหารเพื่อเก็บไว้บริโภค เช่น การหมัก การดอง การทำเค็ม ฯลฯ เป็นเทคโนโลยีระดับพื้นบ้าน
2. เทคโนโลยีระดับกลาง (Intermediate Technology)
เทคโนโลยีระดับกลาง เป็นเทคโนโลยีที่ต้องใช้ความรู้ประสบการณ์ในการแก้ปัญหามากขึ้น มีการใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ที่ีมีกลไกซับซ้อนมากขึ้น เช่น การใช้เครื่องจักรทำงานแทนคน การใช้เครื่องทุ่นแรงในการทำงาน การใช้อุปกรณ์สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เช่น เครื่องพ่นยาอัตโนมัติ รถแทรกเตอร์ รถตัดหญ้า นอกจากนี้ ผู้ปฏิบ้ติงานก็จะต้องมีความรู้ มีทักษะและประสบการณ์มากขึ้น
การใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์เพื่ออำนวยความสะดวก เช่น รถแทรกเตอร์ ตู้เย็น เครื่องซักผ้า ฯลฯ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีระดับกลาง
3. เทคโนโลยีระดับสูง (High Technology)
เทคโนโลยีระดับสูง เป็นเทคโนโลยีที่ต้องอาศัยความรู้และประสบการณ์ขั้นสูง มีการใช้ระบบฐานข้อมูลและการติดต่อสื่อสารผ่านอินเทอร์เน็ต ตลอดจนมีการศึกษาวิจัยและการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เทคโนโลยีระดับนี้ เช่น อุปกรณ์การแพทย์ที่ใช้ระบบคอมพิวเตอร์ในการวินิจฉัยโรค อุปกรณ์และวิธีการในการตัดแต่งพันธุกรรมพืช ระบบโทรคมนาคมและสื่อสาร ระบบอินเทอร์เน็ต ฯลฯ
ดาวเทียม หุ่นยนต์ และเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ซึ่งใช้ระบบคอมพิวเตอร์ จัดเป็นเทคโนโลยีระดับสูง
ที่มา : http://krusomchai.net/
และ https://occupationandtechnologym3.wordpress.com/