หลักการและเหตุผล
ปัญหาคือ “ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นและไม่ตรงกับความคาดหวังหรือสิ่งที่ควรจะเป็น” การแก้ปัญหาเป็นกระบวนการทำความเข้าใจปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเกี่ยวข้องกับการทำงานของสมอง (การคิด) และพฤติกรรมที่ใช้แก้ปัญหา เมื่อมีปัญหาผ่านเข้ามาสู่ระบบการรับรู้ของมนุษย์ (Sensing) มนุษย์แต่ละคนมีวิธีการจัดการกับปัญหาที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งส่งผลให้เกิดการสะสมเป็นประสบการณ์ที่แตกต่างกันในแต่ละคน ดังนั้นการให้ความสำคัญกับแต่ละปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดประสบการณ์ที่มีประสิทธิภาพ (Effective Experience) ในการแก้ปัญหาจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมาก
หนึ่งในการคิดแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพคือ “การคิดเชิงตรรกะ (Logical Thinking)” เนื่องจากเหตุผล 9 ข้อ ดังนี้
- การคิดเชิงตรรกะให้ความสำคัญกับการมองภาพรวมของปัญหา (Big Picture)
- การคิดเชิงตรรกะมุ่งเน้นการกำหนด Framework ในการแก้ปัญหา
- การคิดเชิงตรรกะมีการกำหนดเป้าหมายที่ต้องการบรรลุอย่างชัดเจน (Goal)
- การคิดเชิงตรรกะแสดงลำดับขั้นตอนของความเป็นเหตุและผล (Cause and Effect)
- การคิดเชิงตรรกะวิเคราะห์ผลกระทบที่เกิดขึ้นเพื่อหาทางป้องกัน
- การคิดเชิงตรรกะประเมินอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้นเพื่อหาทางหลีกเลี่ยง
- การคิดเชิงตรรกะหลีกเลี่ยงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า
- การคิดเชิงตรรกะเน้นการจัดลำดับแก้ปัญหากับสิ่งที่ให้ผลผลัพธ์สูง
- การคิดเชิงตรรกะเน้นการแสวงหาความเป็นไปได้ในการแก้ปัญหา
การคิดเชิงตรรกะ (Logical Thinking) ให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์หาเหตุผลแท้จริงของความสำเร็จและล้มเหลว แสดงลำดับขั้นตอนของเรื่องราวอย่างชัดเจน และอื่น ๆ ดังกล่าวข้างต้น เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจเลือกวิธีแก้ปัญหาในทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด อาจกล่าวได้ว่าการคิดเชิงตรรกะคือ “การตัดสินใจแบบมีเหตุผลรองรับ” ดังนั้นความคิดเชิงตรรกะถือว่าเป็นกระบวนการสร้างนิสัยการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ การตัดสินใจใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์ และหลีกเลี่ยงการคิดแก้ปัญหาที่ยึดติดกับกรอบความคิดเดิม