ชาลส์ โรเบิร์ต ดาร์วิน (Charles Robert Darwin) เป็นนักธรรมชาติวิทยา นักธรณีวิทยา และนักชีววิทยา ผู้ทำการปฏิวัติความเชื่อเดิมๆเกี่ยวกับที่มาของสิ่งมีชีวิต และเสนอทฤษฎีซึ่งเป็นทั้งรากฐานของทฤษฎีวิวัฒนาการสมัยใหม่ และหลักการพื้นฐานของกลไกการคัดเลือกโดยธรรมชาติ (natural selection) หนังสือ The Origin of Species (กำเนิดของสรรพชีวิต) ของเขาได้เปลี่ยนความคิดของผู้คนทั่วโลกต่อการเกิดของสปีชีส์ใหม่ และจุดชนวนให้เกิดการโต้เถียงขึ้นในสังคมอย่างกว้างขวางจนถึงปัจจุบัน ดาร์วินมีผลงานวิจัยมากมายในด้านวิวัฒนาการทั้งของมนุษย์ สัตว์ และพืช เขาได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในนักวิทยาศาสตร์ผู้มีอิทธิพลมากที่สุดในประวัติศาสตร์
ชาลส์ ดาร์วิน เป็นชาวอังกฤษ เกิดเมื่อปี 1809 ที่เมือง Shrewsbury เป็นลูกของนายแพทย์ผู้มั่งคั่ง พ่อของดาร์วินต้องการให้ลูกชายคนนี้สืบสานความเป็นครอบครัวนายแพทย์จึงส่งเขาเข้าเรียนแพทย์ที่มหาวิทยาลัยเอดินบะระ (Edinburgh) ซึ่งเป็นโรงเรียนแพทย์ที่ดีที่สุดในอังกฤษตอนนั้น แต่สำหรับดาร์วินผู้สนใจเกี่ยวกับธรรมชาติและชอบการศึกษาทดลองเกี่ยวกับสัตว์และพืชตั้งแต่วัยเด็ก การเรียนแพทย์ที่ต้องนั่งฟังเลคเชอร์ที่น่าเบื่อและการผ่าตัดที่แสนเศร้าใจนั้นเป็นสิ่งที่เขาไม่ชอบเลย เขาจึงไม่สนใจการเรียน แต่กลับไปเรียนรู้เทคนิคการสตัฟฟ์สัตว์และเข้าร่วมในสมาคมพลิเนียน (Plinian Society) ซึ่งเป็นกลุ่มศึกษาด้านประวัติศาสตร์ธรรมชาติในมหาวิทยาลัยเอดินเบอระ ดาร์วินได้ช่วยนักสัตววิทยาทำการตรวจสอบสรีระและวงจรชีวิตของสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังที่บริเวณปากแม่น้ำ Forth จนมีผลงานการค้นพบว่าสปอร์สีดำที่พบในเปลือกหอยนางรมเป็นไข่ของปลิง
ความไม่ใส่ใจในการเรียนแพทย์สร้างความไม่พอใจให้กับพ่ออย่างมาก หลังจากดาร์วินเรียนแพทย์ได้ 2 ปี พ่อเขาจึงส่งเขาไปเรียนศิลปศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์เพื่อปูทางสำหรับการเป็นบาทหลวง ระหว่างการเรียนดาร์วินยังคงสนใจและศึกษาเกี่ยวกับธรรมชาติ โดยเฉพาะการสะสมแมลงปีกแข็ง (beetles) จนมีผลงานได้ตีพิมพ์ในหนังสือ เขาได้รู้จักกับนักบวชผู้สนใจศึกษาเรื่องธรรมชาติวิทยาหลายคน รวมทั้ง John Stevens Henslow ศาสตราจารย์ด้านพฤกษศาสตร์ผู้ซึ่งเสนอชื่อของเขาให้ร่วมเดินทางไปกับเรือหลวงบีเกิล (HMS Beagle) ที่กำลังจะออกเดินทางไปทำภารกิจทำแผนที่ชายฝั่งทวีปอเมริกาใต้ในฐานะนักธรรมชาติวิทยาหลังจากที่เขาจบการศึกษาระดับปริญญาตรีในปี 1831 ได้เพียงไม่นาน และการเดินทางในครั้งนี้ก็ทำให้ชีวิตของเขาเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง
สำรวจโลกกับเรือหลวงบีเกิล
เรือหลวงบีเกิลออกเดินทางตอนปลายปี 1831 และใช้เวลาทำภารกิจทั้งหมด 5 ปี ดาร์วินใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่บนบกทำการสำรวจทางธรณีวิทยาและเก็บรวบรวมตัวอย่างสำหรับการศึกษาประวัติศาสตร์ธรรมชาติ ขณะที่เรือหลวงบีเกิลทำการสำรวจและทำแผนที่ชายฝั่ง ดาร์วินทำการจดบันทึกสิ่งที่เขาสังเกตพบและข้อสันนิษฐานทางทฤษฎีอย่างละเอียด ตัวอย่างที่เขาเก็บได้ถูกส่งไปยังแคมบริดจ์พร้อมกับจดหมายและบันทึกการเดินทาง ระหว่างการเดินทางดาร์วินได้อ่านหนังสือ Principles of Geology ของ Charles Lyell ที่กัปตันเรือมอบให้ ซึ่งให้แนวคิดแก่เขาในเรื่องความเป็นเอกภาพ (Uniformitarianism) ผ่านการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยาอย่างช้าๆในช่วงเวลาที่ยาวนาน รวมทั้งแนวคิดเกี่ยวกับการสร้างสปีชีส์
การเดินทางสำรวจในพื้นที่ที่แตกต่างด้านสภาพธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างมากไปเกือบครึ่งค่อนโลกในครั้งนี้ทำให้ดาร์วินได้พบข้อเท็จจริงมากมายที่เป็นพื้นฐานให้เขาได้ศึกษาต่อยอดไปสู่ทฤษฎีอันลือลั่น ที่กาบูเวร์ดีเขาพบแถบขาวบนหน้าผาหินภูเขาไฟที่มีเปลือกหอยทะเลรวมอยู่ด้วย ที่บราซิลเขาได้พบกับป่าฝนที่อุดมสมบูรณ์ ที่ปาตาโกเนียดาร์วินพบฟอสซิลกระดูกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ที่สูญพันธุ์แล้วในหุบเขาอยู่ข้างเปลือกหอยใหม่ ซึ่งบ่งชี้ว่าเป็นการสูญพันธุ์ที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้โดยที่ไม่มีร่องรอยการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศหรือการเปลี่ยนแปลงของเปลือกโลกอย่างรุนแรง
ที่หมู่เกาะกาลาปากอสดาร์วินได้พบสิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์หลายชนิดที่ไม่เคยพบจากที่ใดมาก่อน เขาได้สังเกตนกฟินช์ (Finch) ที่กระจายอยู่ตามหมู่เกาะต่างๆถึง 14 ชนิด แต่ละชนิดมีขนาดและรูปร่างของจงอยปากที่แตกต่างกัน ตามความเหมาะสมในการใช้กินอาหารแต่ละประเภทตามสภาพแวดล้อมของแต่ละเกาะ ดาร์วินเชื่อว่าบรรพบุรุษของนกฟินช์บนเกาะกาลาปากอสน่าจะสืบเชื้อสายมาจากนกฟินช์บนแผ่นดินใหญ่ และเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยาจนทำให้หมู่เกาะแยกออกจากแผ่นดินใหญ่ ทำให้เกิดการแปรผันทางพันธุกรรมของบรรพบุรุษนกฟินช์ เมื่อผ่านเวลาอันยาวนานจึงทำให้เกิดวิวัฒนาการกลายเป็นนกฟินช์สปีชีส์ใหม่ขึ้น
-ขอบคุณข้อมูล https://www.takieng.com/