มารี คูรี (ค.ศ. 1867 – 1934) นักฟิสิกส์และนักเคมีชาวโปแลนด์ เป็นผู้บุกเบิกงานวิจัยด้านกัมมันตภาพรังสีและเป็นผู้ค้นพบธาตุเรเดียมที่ใช้รักษาโรคมะเร็งที่ทำให้คนตายเป็นอันดับหนึ่งมาทุกยุคสมัย เธอเป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้รางวัลโนเบล เป็นคนแรกและผู้หญิงเพียงคนเดียวที่ได้รางวัลโนเบล 2 ครั้ง และเป็นเพียงคนเดียวที่ได้รางวัลโนเบลด้านวิทยาศาสตร์ 2 สาขา มารี คูรีเป็นหนึ่งในผู้หญิงที่เก่งที่สุดและได้รับการยกย่องมากที่สุดในโลก แม้จะขัดสนเรื่องการเงินและถูกกีดกันจากการเป็นผู้หญิง มารีได้ต่อสู้ดิ้นรนโดยหยุดเรียนเพื่อทำงานส่งให้พี่สาวของเธอเรียนจนจบก่อน แล้วให้พี่สาวส่งเธอเรียนด้านฟิสิกส์และคณิตศาสตร์ที่กรุงปารีสตามที่เธอตั้งใจ
มารีเริ่มค้นคว้าด้านกัมมันตภาพรังสีร่วมกับสามีคือปิแอร์ คูรีจนค้นพบว่ามีพลังงานถูกปล่อยออกมาจากแร่พิตช์เบลนด์ และได้พยายามแยกธาตุใหม่ออกจากแร่พิตช์เบลนด์ หลังจากใช้เวลาค้นคว้าราว 7 ปีเธอก็สามารถแยกธาตุใหม่ที่เธอเรียกว่าเรเดียมได้สำเร็จ ผลงานนี้ทำให้มารีและสามีได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ หลังจากปิแอร์เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ มารียังคงมุ่งมั่นค้นคว้าต่อไปโดยมุ่งไปที่การใช้ประโยชน์ของเรเดียมในทางการแพทย์ จนเธอได้รับรางวัลโนเบลครั้งที่สองในสาขาเคมี เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 มารีได้ตั้งหน่วยเอกซเรย์เคลื่อนที่ตระเวนรักษาทหารที่บาดเจ็บตามที่ต่างๆ หลังสงครามมารีได้กลับมาทำงานวิจัยอีกครั้ง แต่ผลกระทบจากการสัมผัสกับรังสีของเรเดียมเป็นเวลานานทำให้ไขกระดูกเธอถูกทำลายและเสียชีวิต การค้นพบที่ช่วยชีวิตผู้คนได้จำนวนมาก กลับต้องแลกด้วยชีวิตของเธอ
เกิดเป็นผู้หญิงเก่งแต่ถูกกีดกัน
มารี คูรี เป็นชาวโปแลนด์ เกิดในปี 1867 ที่เมืองวอซอว์ ซึ่งตอนนั้นถูกยึดครองโดยจักรวรรดิรัสเซีย เธอเป็นลูกคนสุดท้องในจำนวนพี่น้อง 5 คน พ่อของมารีเป็นครูสอนคณิตศาสตร์และฟิสิกส์ และยังเป็นผู้อำนวยการของโรงเรียนมัธยมสองแห่ง แต่ด้วยความที่พ่อของเธอเป็นผู้ที่รักชาติจึงถูกทางการรัสเซียบังคับออกจากงานและบีบให้ต้องทำงานที่มีรายได้ต่ำ ประกอบกับขาดทุนจากการลงทุน ครอบครัวจึงมีปัญหาด้านการเงิน แม่ของมารีเป็นผู้บริหารโรงเรียนกินนอนสำหรับเด็กผู้หญิงชื่อดัง เธอลาออกจากงานหลังจากคลอดมารี และเสียชีวิตด้วยวัณโรคเมื่อมารีอายุ 10 ปี
มารีเข้าโรงเรียนกินนอนตอนอายุ 10 ปีต่อด้วยโรงเรียนมัธยมสำหรับผู้หญิง เธอเรียนจบชั้นมัธยมในปี 1883 ด้วยคะแนนสูงสุด แต่โชคร้ายที่เธอเกิดมาเป็นผู้หญิงจึงทำให้เธอไม่มีที่เรียนต่อในระดับสูงขึ้นไป เพราะในสมัยนั้นมีการกีดกันผู้หญิงอย่างมาก ในโปแลนด์ไม่มีมหาวิทยาลัยใดรับผู้หญิงเป็นนักศึกษา เธอและ Bronisława พี่สาวของเธอจึงต้องหาทางเรียนต่อตามมหาวิทยาลัยใต้ดินที่เรียกว่า Flying University หรือ Floating University ซึ่งรับพวกเธอเข้าเรียน
ปลายปี 1891 มารีเดินทางไปกรุงปารีส พักกับพี่สาวและพี่เขยช่วงสั้นๆก่อนที่จะไปเช่าห้องใต้หลังคาใกล้มหาวิทยาลัย เธอลงทะเบียนเรียนที่มหาวิทยาลัยปารีสในวิชาฟิสิกส์ เคมี และคณิตศาสตร์ตอนปลายปีนั้นเอง เธอต้องอยู่อย่างจำกัดจำเขี่ยเพราะไม่มีเงิน ต้องทนทุกข์ต่อสู้กับฤดูหนาวที่เย็นยะเยือก บางครั้งหน้ามืดเป็นลมด้วยความหิวโหย
มารีเรียนตอนกลางวัน ทำงานเป็นติวเตอร์ในตอนค่ำ ได้เงินน้อยมากแทบไม่พอใช้จ่าย ปี 1893 เธอได้รับปริญญาสาขาฟิสิกส์และเริ่มทำงานในห้องปฏิบัติการทางอุตสาหกรรมของศาสตราจารย์ Gabriel Lippmann ขณะเดียวกันก็ยังเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยปารีส ด้วยความช่วยเหลือของเพื่อนๆเธอเรียนจบปริญญาโทในปี 1894
นางฟ้านักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่
หลังสิ้นสุดสงครามโลกมารีกลับมาทำงานวิจัยอีกครั้งที่สถาบันเรเดียม ชื่อเสียงของเธอเริ่มขจรขจายไปทั่วโลก มีผู้ช่วยเหลือตั้งกองทุนหาเงินซื้อเรเดียมให้เธอใช้ในงานวิจัย รวมทั้งประธานาธิบดี Warren G. Harding ของสหรัฐอเมริกาที่ได้มอบเรเดียมจำนวน 1 กรัม (ราคาตอนนั้น 100,000 ดอลลาร์) ตอนที่มารีมาเยือนทำเนียบขาว มารีเดินทางไปปรากฏตัวต่อสาธารณชนและบรรยายในหลายประเทศ รัฐบาลฝรั่งเศสรู้สึกอับอายที่มารีไปปรากฏตัวที่ประเทศต่างๆในฐานะบุคคลสำคัญที่ทำประโยชน์ยิ่งใหญ่ให้กับโลกแต่ไม่มีอะไรแสดงว่าได้รับการยกย่องจากทางการฝรั่งเศส จึงเสนอมอบ Legion of Honour ซึ่งเป็นเครื่องอิสริยาภรณ์ชั้นสูงของฝรั่งเศสให้กับเธอแต่มารีปฏิเสธ
สถาบันเรเดียมภายใต้การนำของมารีก็มีผลงานยอดเยี่ยม นักวิจัยของสถาบันได้รับรางวัลโนเบลถึง 4 คน รวมทั้ง Irène Joliot-Curie ลูกสาวคนโตของมารี และ Frédéric Joliot-Curie สามีของ Irène ทำให้ครอบครัวของมารีมีผู้ได้รับรางวัลโนเบลมากที่สุดถึง 5 รางวัล เป็นของมารีเอง 2 ปิแอร์สามีของเธอ 1 ลูกสาว 1 และลูกเขยอีก 1
มารีเสียชีวิตในปี 1934 ด้วยวัยเพียง 66 ปีจากการเป็นโรคไขกระดูกฝ่อ (Aplastic Anemia) อันเป็นผลพวงจากการได้รับกัมมันตภาพรังสีขณะทำงานมาตลอดชีวิต สิ่งที่เธอค้นพบสามารถช่วยเหลือผู้คนทั่วโลกจำนวนมาก แต่มันกลับเป็นสิ่งที่คร่าชีวิตของเธอไป ในปี 1995 หลังจากมารีเสียชีวิต 60 ปีศพของเธอถูกย้ายไปฝังที่วิหารแพนธีออน (Pantheon) คู่กับปิแอร์เพื่อเป็นเกียรติแก่ความสำเร็จของพวกเขา มารีเป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้รับเกียรติยศนี้
มารีเป็นหนึ่งในผู้หญิงที่เก่งที่สุดและได้รับการยกย่องมากที่สุดในโลก เธอประสบความสำเร็จในการทำงานอย่างมากแต่ก็ใช้ชีวิตแบบคนธรรมดา ที่จริงเธอสามารถร่ำรวยมหาศาลได้หากเธอจดสิทธิบัตรเรเดียมแต่เธอไม่ทำ เธอบอกว่าเรเดียมเป็นของทุกๆคนไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง แม้ว่าเธอถูกกีดกันเพราะเป็นผู้หญิงมาตลอดชีวิต แต่ก็ไม่ได้ย่อท้อยังคงมุ่งมั่นทำงานด้วยความมานะและช่วยเหลือผู้คนด้วยจิตใจที่งดงาม มารีจึงเป็นนางฟ้านักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ในใจของผู้คนทั่วโลก
ผลงานเด่น :
– รางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์จากผลงานการค้นพบธาตุเรเดียม
– รางวัลโนเบลสาขาเคมีจากผลงานการค้นคว้าหาประโยชน์จากธาตุเรเดียม
ขอบคุณข้อมูล https://www.takieng.com/