เหตุให้เกิดทุกข์
ทุกข์มี 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ
1.) ทุกข์ในอริยสัจ 4
2.) ทุกข์ในไตรลักษณ์
อริยสัจ หรือจตุราริยสัจ หรืออริยสัจ 4 เป็นหลักคำสอนหนึ่งของพระโคตมพุทธเจ้า แปลว่า ความจริงอันประเสริฐ ความจริงของพระอริยบุคคล หรือความจริงที่ทำให้ผู้เข้าถึงกลายเป็นอริยะ มีอยู่สี่ประการ คือ
- ทุกข์ คือ สภาพที่ทนได้ยาก ภาวะที่ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ สภาพที่บีบคั้น ได้แก่ ชาติ (การเกิด) ชรา (การแก่ การเก่า) มรณะ (การตาย การสลายไป การสูญสิ้น) การประสบกับสิ่งอันไม่เป็นที่รัก การพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก การปรารถนาสิ่งใดแล้วไม่สมหวังในสิ่งนั้น กล่าวโดยย่อ ทุกข์ก็คืออุปาทานขันธ์ หรือขันธ์ 5
- สมุทัย คือ สาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ ได้แก่ ตัณหา 3 คือ กามตัณหา-ความทะยานอยากในกาม ความอยากได้ทางกามารมณ์, ภวตัณหา-ความทะยานอยากในภพ ความอยากเป็นโน่นเป็นนี่ ความอยากที่ประกอบด้วยภวทิฏฐิหรือสัสสตทิฏฐิ และ วิภวตัณหา-ความทะยานอยากในความปราศจากภพ ความอยากไม่เป็นโน่นเป็นนี่ ความอยากที่ประกอบด้วยวิภวทิฏฐิหรืออุจเฉททิฏฐิ
- นิโรธ คือ ความดับทุกข์ ได้แก่ ดับสาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ กล่าวคือ ดับตัณหาทั้ง 3 ได้อย่างสิ้นเชิง
- มรรค คือ แนวปฏิบัติที่นำไปสู่หรือนำไปถึงความดับทุกข์ มีองค์ประกอบอยู่แปดประการ คือ 1. สัมมาทิฐิ ความเห็นชอบ 2. สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ 3. สัมมาวาจา เจรจาชอบ 4. สัมมากัมมันตะ กระทำชอบ 5. สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีพชอบ 6. สัมมาวายามะ พยายามชอบ 7. สัมมาสติ ระลึกชอบ และ 8. สัมมาสมาธิ ตั้งใจชอบ ซึ่งรวมเรียกอีกชื่อหนึ่งได้ว่า “มัชฌิมาปฏิปทา” หรือทางสายกลาง
ทุกข์ในอริยสัจ 4 ก็คือทุกขเวทนาหรือความรู้สึกที่เป็นทุกข์ ซึ่งก็คือความทุกข์ในความหมายของคนทั่ว ๆ ไปนั่นเอง ทุกขเวทนามี 2 ทางคือ ทุกข์ทางกาย กับทุกข์ทางใจ
ทุกข์ทางกาย หมายถึงทุกข์ที่มีกายเป็นเหตุ ได้แก่ ทุกข์ที่เกิดจากความหนาว ความร้อน ความป่วยไข้ ความบาดเจ็บ ความหิวกระหาย ความเสื่อมสภาพของร่างกาย และความทุกข์อื่น ๆ อันมีกายเป็นต้นเหตุอีกเป็นจำนวนมาก ทุกข์ทางกายเหล่านี้เป็นสิ่งที่เกิดมาคู่กับร่างกาย เป็นสิ่งที่เลี่ยงได้ยาก
ทุกข์ทางใจ หมายถึงทุกข์ที่เกิดจากการปรุงแต่งของใจ ทุกข์ทางใจนี้ส่วนหนึ่งมีทุกข์ทางกายเป็นสิ่งเร้าให้เกิด เช่น เมื่อได้รับบาดเจ็บหรือป่วยไข้ขึ้นมาทำให้เกิดทุกข์ทางกายขึ้นแล้ว ต่อมาก็เกิดความกังวลใจ ความหวาดกลัวขึ้นมาอีกว่าอาจจะรักษาไม่หาย อาจจะต้องสูญเสียอวัยวะไป หรืออาจจะต้องถึงตาย
เพราะการยึดในสิ่งที่เราไม่ชอบใจก็ย่อมจะทำให้เกิดความขัดเคืองใจ โกรธ ไม่พอใจ คับแค้นใจ กลัว ฯลฯ พูดง่าย ๆ ก็คือเป็นต้นเหตุของความทุกข์จากความโกรธนั่นเอง ส่วนการยึดในสิ่งที่เราชอบใจก็จะทำให้เกิดทุกข์อันมีต้นเหตุมาจากความโลภ
ทุกข์ในไตรลักษณ์ ไตรลักษณ์ก็คือสามัญลักษณะ 3 ประการคือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา คำว่าทุกข์ในไตรลักษณ์ก็หมายถึงทุกขัง ในไตรลักษณ์หรือที่เรียกว่าทุกขลักษณะนั่นเอง
อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ซึ่งเป็นไตรลักษณะ ซึ่งเราก็คงจะได้ยินได้ฟังว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน แต่ทุกข์ที่นี่ไม่ใช่ทุกข์เจ็บตัว ไม่ใช่ทุกข์เจ็บใจ แต่ทุกข์นั้นไม่เที่ยงเพราะ เกิดขึ้นสั้นมากแล้วก็ดับ ไม่มีอะไรเลย ซึ่งเกิดขึ้นแล้วคงอยู่โดยไม่ดับ แต่ว่าความไม่รู้ก็ทำให้คิดว่าทุกสิ่งทุกอย่างเทียง เมื่อไม่สามารถที่จะรู้ความจริง ก็ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นเรา เป็นวัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใดจริงๆ แต่คนที่จะหมดกิเลสได้ ถึงความเป็นพระอรหันต์ต้องมีปัญญาแน่นอน ถ้าไม่มีปัญญาแล้วดับกิเลสไม่ได้ แต่ว่าปัญญาก็ต้องมีการตั้งต้น มีการเริ่มต้น ตั้งแต่การที่บุคคลใดก็ตามที่ไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วต้องฟังพระธรรมของพระองค์ก่อน จะได้ทราบว่าเราเข้าใจผิดหรือเข้าใจถูกมาก่อนที่จะได้ฟัง ถ้าทุกคนเข้าใจได้ถูกต้องก่อนฟัง ไม่ต้องฟัง เสียเวลาไม่มีประโยชน์ แต่ว่าทุกครั้งที่ฟังจะรู้ว่าแต่ก่อนเราไม่เคยได้เข้าใจอย่างนี้ แม้แต่ความหมายของอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่เคยคิดเลยว่าหมายความถึงสภาพธรรมในขณะนี้ กำลังไม่เที่ยง กำลังเกิดขึ้นและดับไป เราไปคิดว่าเกิดมาแล้วก็แก่แล้วก็เจ็บแล้วก็ตาย นั่นคือความไม่เที่ยง เราเข้าใจอย่างนั้น แต่ถ้าศึกษาแล้วจะรู้ได้ว่าถ้าเข้าใจเพียงเท่านั้น หมดกิเลสไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องซึ่งเราก็รู้ เวลานี้พูดก็จริง
ขอขอบคุณ
ข้อมูล :www.dhammathai.org และ https://www.sanook.com/