Amish หรือ อามิช เป็นกลุ่มคนที่มีความเชื่อเรื่องการพึ่งพาตนเอง เกี่ยวข้องกับโลกภายนอกน้อยที่สุด พึ่งพาเทคโนโลยีน้อยที่สุด เป็นคริสเตียนในแบบของตนเอง นับถือพระเจ้า แต่มีวิธีเข้าหาพระเจ้าต่างจากคริสเตียนสายอื่น
ราวคริสต์ศตวรรษที่ 18 เขาก็อพยพมาอเมริกา บางส่วนไปแคนาดา สาเหตุการอพยพคือ ปัญหาความขัดแย้งเรื่องศาสนา ถูกกดขี่บีฑาจากคริสเตียนกระแสหลัก
ที่อเมริกานี่เขาพากันปักหลักที่รัฐเพนซิลวาเนียก่อน ต่อมาขยายไปเมืองอื่นด้วย ตอนนี้ก็อยู่แถวไปรัฐของฉันคือวิสคอนซินก็เคยเห็น แต่ถิ่นย่านอามิชเก่าแก่ และกลายเป็นเมืองอามิชจนถึงปัจจุบันก็อยู่ในเพนซิลวาเนีย
เขายังใช้ภาษาของเขาเอง คือ ภาษาเยอรมัน แต่คงดัดแปลงกันมาบ้าง ฉันฟังไม่รู้เรื่อง แต่เขาก็พูดภาษาอังกฤษได้นะ
คนอามิชไม่ยอมเกณฑ์ทหาร ไม่ซื้อประกันชีวิต ไม่สมัครประกันสังคมใดๆ ทั้งสิ้น เด็กจะเรียนในโรงเรียนตามกฎหมายถึงแค่เกรดแปด หลังจากนั้นจะเรียนวิชาชีพ สอนโดยพ่อแม่และคนในสังคมเอง เขาจะเรียนถึงแค่อายุ 16 จากนั้นก็ออกมาทำงานมีครอบครัว คนอามิชจึงไม่ได้เรียนหนังสือสูง มีหลายคนที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้
เขาทำนา เลี้ยงสัตว์ รีดนมวัว ไม่ใช้ปุ๋ยและสารเคมีใดๆ เสื้อผ้าใช้ใกล้เคียงธรรมชาติที่สุด ก่อนนี้เขาใช้ผ้าย้อมด้วยมือเลยทีเดียว เดี๋ยวนี้ใช้ผ้าที่มีขายทั่วไป แต่ใช้สีพื้น เช่น สีดำ สีน้ำเงิน สีน้ำตาล ไม่ใส่สีฉูดฉาด
แต่พักหลังก็เห็นสาวๆ นุ่งสีสันเหมือนกันนะ แต่เฉพาะในงานพิเศษ งานรื่นเริงอะไรแบบนั้น และต้องเป็นงานใหญ่จริงๆ จึงจะทำได้ และที่สำคัญต้องได้รับอนุญาตจากผู้คุมกฎของเขา
พวกเขานับถือศาสนาคริสต์ นิกายอนาแบ๊ปติส (Anabaptists) ที่ยังเคร่งศาสนา จารีตประเพณีแบบดั้งเดิม จึงไม่น่าแปลกใจที่เมื่อเราก้าวเข้ามาในชุมชนอามิชแห่งนี้ สิ่งที่ปรากฏตรงหน้าจะไม่ต่างจากภาพของชุมชนเมื่อราวร้อยปีที่แล้ว นั่นก็คือ ความเงียบสงบบนถนนสายเล็ก ๆ ที่สองข้างทางเพาะปลูกพืช และทำการปศุสัตว์ในแบบดั้งเดิม ขณะที่ชาวอามิชเองก็แต่งตัวเหมือนกับหนังฝรั่งสไตล์ย้อนยุค ขับขี่รถม้าวิ่งไปตามทางบนถนน
ชาวอามิชประกอบด้วยคน 2 กลุ่ม คือ คนกลุ่มเก่า (Old Order) และคนกลุ่มใหม่ (New Order)
โดยคนกลุ่มเก่าจะเป็นกลุ่มที่ปฏิเสธการใช้ไฟฟ้า ยังคงใช้ชีวิตเหมือนกับวิถีชีวิตดั้งเดิมทุกอย่าง และใช้รถม้าเป็นพาหนะเพียงเท่านั้น ขณะที่คนกลุ่มใหม่ แม้จะมีการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านแล้ว แต่ก็ยังไม่มีเทคโนโลยี อย่างเช่น โทรทัศน์ หรืออินเทอร์เน็ต พวกเขาใช้ไฟฟ้าเพื่อให้แสงสว่างภายในบ้าน ใช้เตาแก๊สในการหุงหาอาหาร และบางบ้านก็จะมีรถยนต์ขับ แต่ยานพาหนะสำคัญก็ยังคงเป็นรถม้าอยู่ดี
หากมองไปรอบ ๆ จะเห็นภาพของเด็ก ๆ ชาวอามิช ทั้งตัวเล็ก ตัวน้อย ช่วยพ่อแม่ทำเกษตรกรรม ดูแล้วเป็นภาพความผูกพันของครอบครัวที่เหนียวแน่น และอาจจะเหนียวแน่นกว่าหลาย ๆ ครอบครัวในสังคมทุนนิยมที่ต่างฝ่ายต่างไม่มีเวลาให้กันเท่าไหร่นัก
คุณยายลิเดีย แลนซ์ ชาวอามิช เล่าให้ฟังว่า พ่อแม่สอนให้เธอทำงานหนักมาตั้งแต่เล็ก ๆ แต่เวลาเล่น พวกเธอก็เล่นกันอย่างสนุกสนาน แม้เธอจะเคยคิดว่า เราทำงานหนักเกินไปไหม แต่เมื่อเวลาผ่านไปเรื่อย ๆ มันก็ทำให้เธอรู้สึกดีใจที่พ่อแม่เลี้ยงมาแบบนี้ เพราะทำให้รู้สึกถึงคุณค่าของชีวิต
3 สิ่งที่ชาวอามิชให้ความสำคัญมากที่สุด ก็คือ Faith หมายถึง ความศรัทธา Family หมายถึงครอบครัว และ Friends หมายถึงเพื่อน ซึ่งใครที่ได้เข้ามาเยือนดินแดนเล็ก ๆ แห่งนี้แล้ว คงจะสัมผัสถึง 3 สิ่งนี้ได้ชัดเจน จากความเชื่อ ความรัก ความอบอุ่นที่ชาวอามิชแสดงให้เห็นอย่างจริงใจ รวมทั้งการยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือทุกคนในชุมชนที่มีปัญหา ไม่ต่างจาก “คนในครอบครัวเดียวกัน”
“เราพอใจในสิ่งที่เป็นอยู่ตอนนี้ รู้ไหม โลกภายนอกอาจมองเข้ามาแล้วพากันสงสารเรา ขณะเดียวกัน เราก็มองว่า คนในโลกข้างนอกนั่นแหละที่น่าสงสาร เรารู้ดีว่าชีวิตในโลกข้างนอกนั้นยากลำบากกว่าเรามากนัก แน่นอน ผมไม่ได้บอกว่าชีวิตของชาวอามิชโรยด้วยกลีบกุหลาบ เรามีคนที่อยู่แบบนี้ไม่ได้ และลาออกไป บางทีก็มีเรื่องที่ไม่ถูกไม่ควรเกิดขึ้น แต่ชีวิตก็เป็นแบบนี้ การเป็นอามิชไม่ได้หมายความว่า เราดีกว่าใคร หรือชีวิตแบบเราถูกต้องเสมอไป ไม่มีชีวิตใครสมบูรณ์แบบ เราเพียงแค่พยายามใช้ชีวิตให้ดีที่สุด เท่าที่เราจะทำได้” คุณปู่ชาวอามิช กล่าว
-ขอบคุณข้อมูล https://hilight.kapook.com/ และ ThaiPBS