พายุหมุนเขตร้อน (Tropical Cyclone) เกิดจากหย่อมความกดอากาศต่ำที่เกิดขึ้นในเขตร้อนบริเวณเส้นศูนย์สูตร โดยเกิดบริเวณผิวน้ำทะเลและมหาสมุทรที่มีอุณหภูมิของน้ำสูงกว่า 27 องศาเซลเซียส เป็นพายุหมุนขนาดใหญ่ที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ 100 กิโลเมตร ขึ้นไป เกิดขึ้นได้หลายแห่งในโลก โดยมีชื่อเรียกต่างกันไปตามแหล่งกำเนิด หากเกิดเหนือเส้นศูนย์สูตรจะมีทิศทางการหมุนทวนเข็มนาฬิกา และหากเกิดใต้เส้นศูนย์สูตรหรือซีกโลกใต้จะหมุนตามเข็มนาฬิกา สามารถแบ่งย่อยโดยใช้ความเร็วลมใกล้ศูนย์กลางพายุเป็นเกณฑ์ ตามระดับความรุนแรงของพายุ ได้แก่ พายุดีเปรสชัน (Depression) มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางไม่ถึง 63 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (34 นอต) พายุโซนร้อน (Tropical storm) มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางตั้งแต่ 63 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (34 นอต ) ขึ้นไป แต่ไม่ถึง 118 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (64 นอต) และพายุไต้ฝุ่น (Typhoon) มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางตั้งแต่ 118 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (64 นอต ) ขึ้นไป
การเกิดพายุโซนร้อน
พายุโซนร้อนก่อตัวขึ้นเหนือผิวน้ำทะเลที่มีอุณหภูมิสูงกว่า 26.5 องศาเซลเซียส เป็นพายุที่เกิดขึ้นเป็นประจำในมหาสมุทรแถบเส้นศูนย์สูตรของโลก มีรูปทรงของพายุหมุน แต่ยังไม่มีกำลังมากพอที่ก่อให้เกิดตาพายุที่ชัดเจนเหมือนพายุไต้ฝุ่นหรือเฮอร์ริเคน ความร้อนและความชื้นในอากาศเหนือน่านน้ำในมหาสมุทร จึงเป็นปัจจัยหลักในการก่อตัวและทวีกำลังแรงขึ้นของพายุโซนร้อน
เมื่อพายุโซนร้อนเคลื่อนที่ขึ้นฝั่งจึงมักอ่อนกำลังลง จนกลายเป็นเพียงกลุ่มเมฆหมุนวนหรือพายุดีเปรสชันก่อนจะสลายตัวไปในที่สุด เนื่องจากปะทะเข้ากับอุณหภูมิในอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป และไม่ได้รับพลังงานจากความร้อนและความชื้นอย่างต่อเนื่อง ตามแนวร่องกดอากาศต่ำเหนือน่านน้ำในมหาสมุทรตามเดิมอีก ในทางกลับกัน หากการก่อตัวขึ้นของพายุโซนร้อนเกิดขึ้นในมหาสมุทรห่างไกลชายฝั่ง พายุดังกล่าวมีโอกาสที่จะทวีกำลังแรงขึ้น จนสามารถพัฒนาไปเป็นพายุไต้ฝุ่นหรือเฮอร์ริเคนได้ในท้ายที่สุด
การตั้งชื่อพายุ
กรมอุตุนิยมวิทยาของแต่ละประเทศหรือหน่วยงานในแต่ละภูมิภาคจะเริ่มตั้งชื่อพายุอย่างเป็นทางการ เมื่อพายุดังกล่าวมีความเร็วลมสูงสุดเกิน 63 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หรือกลายเป็น “พายุโซนร้อน” แล้วนั่นเอง โดยในแทบพื้นที่มหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกและทะเลจีนใต้ ประเทศไทยร่วมกับอีก 13 ประเทศสมาชิกในคณะกรรมการไต้ฝุ่นและองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก ได้แก่ กัมพูชา จีน เกาหลีเหนือ ฮ่องกง ญี่ปุ่น ลาว มาเก๊า มาเลเซีย ไมโครนีเซีย ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม ร่วมกันเสนอและตั้งชื่อพายุโซนร้อนที่ก่อตัวขึ้นในแต่ละปี และหากพายุโซนร้อนพัฒนาไปเป็นไต้ฝุ่นหรือเฮอร์ริเคนจะมีการจัดระดับความรุนแรงของพายุขึ้นอีกครั้งเพื่อยกระดับการเตือนภัยต่อประชาชน
ขอบคุณข้อมูล https://ngthai.com/