เงินเฟ้อคือภาวะที่ระดับราคาสินค้าและบริการโดยทั่วไปในประเทศสูงขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งเกิดขึ้นได้จาก 2 สาเหตุหลัก คือ
1) ความต้องการซื้อสินค้าและบริการของประชาชนที่เพิ่มขึ้น (Demand-pull Inflation) ขณะที่สินค้าและบริการนั้น ๆ อาจมีไม่เพียงพอ ทำให้ผู้ขายปรับราคาสินค้าและบริการให้สูงขึ้น
2) ต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น (Cost-push Inflation) อาทิ วัตถุดิบที่ใช้ผลิตสินค้ามีราคาสูงขึ้น และผู้ผลิตไม่สามารถแบกรับภาระต้นทุนที่สูงขึ้นได้ จึงต้องปรับราคาสินค้าและบริการให้สูงขึ้นตาม
ผลกระทบสำหรับคนทั่วไปคือราคาสินค้าแพงขึ้น เงินมีค่าลดลง ยกตัวอย่างง่ายๆ คือในอดีตก๋วยเตี๋ยว 1 ชามราคา 30 บาท แต่ในวันนี้ก๋วยเตี๋ยวแบบเดิมราคาขึ้นไปเป็น 40 บาท จะเห็นว่าเงิน 30 บาทในวันนี้มีค่าน้อยกว่าเงิน 30 บาทในอดีต ก็คือเงินมีค่าลดลงนั่นเอง
มาถึงตรงนี้หลายๆ คนอาจรู้สึกว่าเงินเฟ้อเป็นสิ่งไม่ดี แต่จริงๆแล้วการที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำและไม่ผันผวน จะเป็นผลดีต่อระบบเศรษฐกิจเพราะจะเอื้อต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว
ดัชนีที่ใช้ในการชี้วัดระดับเงินเฟ้อคือดัชนีราคาผู้บริโภค หรือ Consumer Price Index (CPI) เป็นตัวเลขทางสถิติที่ใช้วัดการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าและบริการที่ครัวเรือนหรือผู้บริโภคซื้อหามาบริโภคเป็นประจำ เป็นราคาในปัจจุบันเปรียบเทียบกับราคาในปีที่กำหนดไว้เป็นปีฐาน
ขณะที่ภาวะเงินเฟ้อคือการที่ดัชนีราคาผู้บริโภคเพิ่มสูงขึ้น ในทางกลับกันบางช่วงเวลาดัชนี CPI ก็อาจติดลบได้ ซึ่งในภาวะเงินเฟ้อติดลบนี้ หากเกิดขึ้นติดต่อกันยาวนานอาจทำให้เกิดภาวะเงินฝืดได้ ซึ่งเป็นภาวะที่ระดับราคาสินค้าและบริการโดยทั่วไปลดต่ำลงเรื่อยๆ
ภาวะเงินฝืดสามารถเกิดขึ้นได้จาก 2 สาเหตุเช่นกันกับเงินเฟ้อ คือผู้บริโภคมีความต้องการซื้อสินค้าและบริการที่ลดลง และอีกสาเหตุคือต้นทุนการผลิตสินค้าที่ลดต่ำลง
อัตราเงินเฟ้อ (Inflation Rate) คือ ตัวชี้วัดที่แสดงการเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาสินค้าและบริการในปีปัจจุบันเทียบเท่ากับปีก่อน เช่น อัตราเงินเฟ้อ 5% อธิบายง่ายๆ ก็คือ ราคาสินค้าโดยทั่วไปสูงขึ้น 5% (จาก 100 เป็น 105 บาท) เมื่อเทียบกับปีก่อน ดังนั้น ถ้ารายได้ของเราเพิ่มขึ้นน้อยกว่าอัตราเงินเฟ้อ เราก็จะซื้อสินค้าได้น้อยลง เงินเฟ้อจึงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้อำนาจซื้อ (Purchasing Power) ของเราลดลง ซึ่งในการพิจารณาผลตอบแทนจากการลงทุนเพื่อวางแผนการเงิน โดยเฉพาะแผนการเกษียณและแผนการเงินระยะยาวก็จะต้องคำนึงถึงเงินเฟ้อด้วยเสมอเพราะเงินเฟ้อจะลดทอนจำนวนเงินของเราไปตามกาลเวลาได้นั่นเอง
ขอบคุณข้อมูล https://advicecenter.kkpfg.com/ และ https://www.set.or.th/