ปัจจุบันสถาบันการศึกษาตลอดจนหน่วยงานทางด้านการศึกษาต่าง ๆ ได้ให้ความสนใจ และเริ่มมีการพัฒนาทรัพยากรด้านการศึกษาแบบเปิด หรือที่คนส่วนใหญ่จะคุ้นเคยกับคำย่อที่เรียกว่า 0ER ซึ่งเป็นการเปิดเผยแหล่งความรู้ในรูปแบบต่าง ๆ ได้แก่ หนังสือเรียน วีดิทัศน์ และสื่อมัลติมีเดียต่าง ๆ ไปยังกลุ่มเป้าหมาย โดยมีเป้าหมายเพื่อการศึกษามิได้มุ่งหวังเพื่อการค้า ดังนั้น จึงมีผู้ให้ความหมายของคำว่า “เปิด” ในมุมมองของทรัพยากรด้านการศึกษาแบบเปิดใน 4 ด้าน (Geser, 2007) ดังนี้
1. Open access หมายถึง การเปิดเผยเนื้อหา สื่อการเรียนรู้ หรือองค์ความรู้ต่าง ๆ รวมทั้งรายละเอียดเกี่ยวกับข้อมูลของเนื้อหาหรือสื่อการเรียนรู้ที่เผยแพร่ (metadata ซึ่งเป็นการเผยแพร่ที่ไม่มีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากผู้เข้าใช้งาน
2. Open licensed หมายถึง การอนุญาตให้มีการนำเนื้อหามาใช้งานได้ฟรี โดยปราศจากเงื่อนไขหรือข้อจำกัดรวมทั้งการอนุญาตให้มีการปรับเปลี่ยนเนื้อหาได้
3. Open format หมายถึง การออกแบบและพัฒนา สื่อการเรียนรู้รูปแบบต่าง ๆ ให้สามารถรองรับการใช้งานได้ในทุกระบบปฏิบัติการหรือในทุกอุปกรณ์ รวมทั้งออกแบบและพัฒนาสื่อการเรียนรู้ให้ง่ายต่อการใช้งาน Open software หมายถึง กรพัฒนาสื่อการเรียนรู้รูปแบบต่าง ๆ ด้วยซอฟต์แวร์ที่มีการอนุญาตให้ผู้พัฒนาสามารถแก้ไข และเผยแพร่ได้โดยปราศจากเงื่อนไข
ทรัพยากรด้านการศึกษาแบบเปิด จึงเป็นระบบที่ถูกพัฒนาและนำไปใช้งานในสถาบันทางการศึกษาหรือหน่วยงานต่าง ๆ อย่างแพร่หลาย โดยส่วนใหญ่มีจุดมุ่งหมายในการพัฒนา (Helsdingen, Janssen, & Schuwer, 2010) ดังนี้
1. เพื่อเพิ่มชื่อเสียงหรือจุดขายให้เกิดขึ้กับสถาบันทงการศึกษาหรือหน่วยงาน ซึ่งช่วยในการดึงดูดกลุ่มเป้าหมายได้แก่ นักเรียน นักศึกษา อาจารย์ ตลอดจนนักวิจัย ให้มาสนใจในสถาบันทางการศึกษาหรือหน่วยงานมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังช่วยเพิ่มความร่วมมือระหว่างสถาบันทางการศึกษาหรือหน่วยงานในการสร้างทรัพยากรด้านการศึกษาแบบเปิด
2. เพื่อเป็นแหล่งทรัพยากรการเรียนรู้ให้กับนักเรียน นักศึกษา อาจารย์ ตลอดจนนักวิจัย ที่จะใช้เป็นช่องทางหนึ่งในการสืบคั้นข้อมูล อีกทั้งยังเป็นการแบ่งปันข้อมูลระหว่างสถาบันทางการศึกษาหรือหน่วยงาน
3. เพื่อเพิ่มคุณภาพของการศึกษาให้เกิดแก่นักเรียน นักศึกษา อาจารย์ ลอดจนนักวิจัย เนื่องจากทรัพยากรด้านการศึกษาแบบเปิดนี้ เป็นการใช้เทคโนโลยีที่ส่งเสริมนวัตกรรมการสร้างความร่วมมือในการเรียนรู้อีกทั้งยังเป็นการสร้างสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่เปิดกว้างมากยิ่งขึ้น ซึ่งส่งผลดีต่อการกระจายและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ที่จะถูกนำมาใช้ร่วมกัน และสามารถนำความรู้ดังกล่าวไปต่อยอดเพื่อพัฒนานวัตกรรม
4. เพื่อแบ่งปันองค์ความรู้ ซึ่งช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ด้วยตนเอง อีกทั้งยังเป็นการเผยแพร่ความรู้ให้กับบุคคลที่สนใจให้สามารถข้าถึงแหล่งทรัพยากรการเรียนรู้ได้อย่างสะดวก นอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริมให้มีการพัฒนาวิธีการสอนรูปแบบใหม่ ๆ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ในสภาพแวดล้อมที่เป็นการเรียนรู้แบบเปิด
จากการศึกษาแนวทางขั้นตอนการสร้างและการใช้สื่อการเรียนรู้ Guidelines on the development of OERs policies โดย United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization (UNESCO) พบว่า ได้แนะนำแนวทางการพิจารณาปัจจัยขั้นตอนในการสร้างและการใช้สื่อการเรียนรู้ โดยแบ่งเป็น 4 ข้อ ดังนี้
1. ผู้สร้างสื่อการเรียนรู้
ผู้สร้างสื่อการเรียนรู้อาจเป็นบุคคล กลุ่มหรือชุมชน ซึ่งต้องระบุสิทธิ์การใช้งานแบบเปิดที่ใช้กับวัสดุหรือสื่อประเภทต่างๆ โดยให้สิทธิ์ทางกฎหมายและแรงจูงใจสำหรับผู้ใช้ในการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ และปรับให้เข้ากับการตั้งค่าอย่างเหมาะสม นอกจากนี้ ต้องพิจารณาว่าแหล่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องเปิดเผยต่อสาธารณะและสามารถสืบค้นได้หรือไม่ สื่อที่ได้รับการสนับสนุนจากผู้สร้างสรรค์เป็นสัญญาอนุญาตแบบเปิดหรือไม่ และแหล่งการเรียนรู้ที่เลือกใช้นั้น สามารถปรับเปลี่ยนการทำงานต่างๆ ได้สะดวกหรือไม่
สำหรับโครงสร้างพื้นฐานด้าน ICT และเครื่องมือรองรับเทคโนโลยีสำหรับ OER ควรพิจารณา ดังนี้
- รูปแบบของแหล่งเก็บข้อมูลหรือแหล่งอ้างอิงต้องเข้าถึงได้ เพื่อให้สามารถค้นสื่อการเรียนรู้ที่เกี่ยวข้องได้
- รูปแบบของบรรณาธิการควรสร้างเพื่ออำนวยความสะดวกในการปรับเปลี่ยนของแหล่งเรียนรู้
- รูปแบบของการสื่อสารและเครื่องมือการทำงานร่วมกันควรคำนึงถึงการอำนวยความสะดวกความร่วมมือระหว่างผู้เขียน
2. สื่อการเรียนรู้ได้รับอนุญาตให้ใช้ในการเรียนรู้ที่เฉพาะเจาะจง
การศึกษาในระบบ ต้องได้รับอนุญาตและต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับหลักสูตรที่กระทรวงศึกษาธิการหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้กำหนด ทั้งนี้ การศึกษานอกระบบ จะมุ่งเน้นการขับเคลื่อนหรือดำเนินการเพื่อให้บรรลุผลการเรียนรู้หรือได้รับใบรับรอง (certification) ซึ่งแตกต่างกับการศึกษาตามอัธยาศัยที่อาจไม่จำเป็นต้องได้รับการอนุญาตในการดำเนินการ
สื่อการเรียนรู้โดยเฉพาะสื่อที่อนุญาตให้ดัดแปลงหรือสร้างขึ้นโดยผู้ใช้ จะสามารถใช้งานได้เมื่อได้รับอนุญาตแล้วเท่านั้น ดังนั้นจะต้องพิจารณาว่า สื่อการเรียนรู้ที่ได้รับมานั้นมีอะไรบ้าง และต้องระบุให้ชัดเจนว่าสื่อดังกล่าวออกแบบมาเพื่อวัตถุประสงค์ใด ระบบประกันคุณภาพสามารถยอมรับแหล่งเรียนรู้ที่อนุญาตให้ผู้ใช้งานเป็นผู้ปรับปรุงและดัดแปลงหรือไม่ หรือจำเป็นต้องปฏิรูประบบประกันคุณภาพเพื่อให้สอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนไป
สำหรับโครงสร้างพื้นฐานด้าน ICT และเครื่องมือรองรับเทคโนโลยีสำหรับ OER นั้น ต้องคำนึงถึงรูปแบบของแหล่งเก็บข้อมูล และควรมี Matadata ที่เกี่ยวข้องและเหมาะสมกับแหล่งเรียนรู้เหล่านั้น
3. สื่อการเรียนรู้ทำให้ผู้เรียนทุกคนสามารถเข้าถึงได้
สื่อการเรียนรู้ที่รองรับผู้เรียนที่มีปัญหาและอุปสรรคในเรื่องของเวลา สถานที่และความพิการ โดยสามารถทำให้ผู้เรียนสามารถเข้าถึงสื่อการเรียนรู้ได้ในรูปแบบดิจิทัลได้ ไม่ว่าจะขึ้นอยู่กับอุปกรณ์ใดๆ เช่น ผ่านระบบจัดการการเรียนรู้ หรือระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านเครือข่าย (Learning Management System : LMS) ของสถาบัน หรือผ่านเว็บไซต์
ทั้งนี้ จะต้องตรวจสอบอยู่เสมอว่า สื่อการเรียนรู้ที่เปิดใช้งานนั้น สามารถเข้าถึงได้โดยไม่จำกัดเวลา สถานที่ หรืออุปกรณ์ รวมถึงผู้มีความบกพร่องทางร่างกายและความต้องการพิเศษอื่นๆ แล้วหรือไม่ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายที่ตั้งไว้
สำหรับโครงสร้างพื้นฐานด้าน ICT และเครื่องมือรองรับเทคโนโลยีสำหรับ OER นั้น ควรพิจารณา ดังนี้
- เลือกใช้อุปกรณ์ดิจิทัลที่รองรับการเชื่อมต่อหรือเข้าถึงสื่อการเรียนรู้ได้อย่างเป็นสากล
- ฐานข้อมูลต้องสามารถค้นหาและเข้าถึงได้ง่าย
- เลือก LMS ที่สามารถแนะนำเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับความต้องการส่วนบุคคลได้
4. สื่อการเรียนรู้ได้รับการทบทวนและเสนอเพื่อแก้ไข
หลักสูตรต่างๆ ที่เผยแพร่ควรได้รับการปรับปรุงและปรับเปลี่ยนเป็นระยะๆ โดยสถาบันที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น แต่สำหรับสื่อการเรียนรู้นอกเหนือจากนี้ สามารถตรวจสอบและปรับปรุงได้ตามความเหมาะสมโดยทุกคน
นอกจากนี้ ควรมีการจัดการหลักสูตรที่ยืดหยุ่น มีการพิจารณานำผลการเรียนรู้และการประเมินตามความสามารถมาใช้ เพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถแก้ไขเนื้อหาและสร้างความรู้ต่อยอดได้ โดยควรพิจารณารายละเอียดที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม ดังนี้
- กำหนดผลลัพธ์การเรียนรู้และเกี่ยวข้องกับสื่อการเรียนรู้อย่างไร
- กำหนดขั้นตอนการประเมินผล
- กำหนดผู้ที่มีส่วนร่วมในกระบวนการประเมินผล
- กำหนดวิธีการแจ้งผลการประเมินให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทราบ
ขอบคุณข้อมูลhttps://www.nstda.or.th/ และ https://www.scimath.org/