การสื่อสารผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในยุคแรก ๆ จะพัฒนามาเป็นช่วง ๆ เริ่มตั้งแต่การนำส่งข้อมูลสำหรับการประมวลผลโดยคน การประมวลผลจึงเป็นแบบกลุ่ม (Batch) ต่อมาก็เริ่มใช้วงจรของโทรศัพท์ ส่งข้อมูลในระยะไกล ซึ่งเป็นการประมวลเป็นแบบกลุ่มออนไลน์ (On-Line Batch) พัฒนามาเป็นการส่งแบบสั่งงานและรอผลลัพธ์เพียงชั่วครู่หรือแบบเรียลไทม์ (Real Time) และพัฒนา ต่อมาถึงที่เชื่อมต่อกับการใช้ระบบฐานข้อมูลแบบกระจาย (Distributed Database)
1. ผู้ส่ง (Sender) เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการส่งข่าวสาร (Message) เป็นต้นทางของการสื่อสารข้อมูลมีหน้าที่เตรียมสร้างข้อมูล เช่น ผู้พูด โทรทัศน์ กล้องวิดีโอ เป็นต้น
2. ผู้รับ (Receiver) เป็นปลายทางการสื่อสาร มีหน้าที่รับข้อมูลที่ส่งมาให้ เช่น ผู้ฟัง เครื่องรับโทรทัศน์ เครื่องพิมพ์ เป็นต้น
3. สื่อกลาง (Medium) หรือตัวกลาง เป็นเส้นทางการสื่อสารเพื่อนำข้อมูลจากต้นทางไปยังปลายทาง สื่อส่งข้อมูลอาจเป็นสายคู่บิดเกลียว สายโคแอกเชียล สายใยแก้วนำแสง หรือคลื่นที่ส่งผ่านทางอากาศ เช่น เลเซอร์ คลื่นไมโครเวฟ คลื่นวิทยุภาคพื้นดิน หรือคลื่นวิทยุผ่านดาวเทียม
4. ข้อมูลข่าวสาร (Message) คือสัญญาณอิเล็กทรอนิกส์ที่ส่งผ่านไปในระบบสื่อสาร ซึ่งอาจถูกเรียกว่า สารสนเทศ (Information) โดยแบ่งเป็น 5รูปแบบ ดังนี้
4.1 ข้อความ (Text) ใช้แทนตัวอักขระต่าง ๆ ซึ่งจะแทนด้วยรหัสต่าง ๆ เช่น รหัสแอสกี เป็นต้น
4.2 ตัวเลข (Number) ใช้แทนตัวเลขต่าง ๆ ซึ่งตัวเลขไม่ได้ถูกแทนด้วยรหัสแอสกีแต่จะถูกแปลงเป็นเลขฐานสองโดยตรง
4.3 รูปภาพ (Images) ข้อมูลของรูปภาพจะแทนด้วยจุดสีเรียงกันไปตามขนาดของรูปภาพ
4.4 เสียง (Audio) ข้อมูลเสียงจะแตกต่างจากข้อความ ตัวเลข และรูปภาพเพราะข้อมูลเสียงจะเป็นสัญญาณต่อเนื่องกันไป
4.5 วิดีโอ (Video) ใช้แสดงภาพเคลื่อนไหว ซึ่งเกิดจากการรวมกันของรูปภาพหลาย ๆ รูป
5. โปรโตคอล (Protocol) คือ วิธีการหรือกฎระเบียบที่ใช้ในการสื่อสารข้อมูลเพื่อให้ผู้รับและผู้ส่งสามารถเข้าใจกันหรือคุยกันรู้เรื่อง โดยทั้งสองฝั่งทั้งผู้รับและผู้ส่งได้ตกลงกันไว้ก่อนล่วงหน้าแล้ว ในคอมพิวเตอร์โปรโตคอลอยู่ในส่วนของซอฟต์แวร์ที่มีหน้าที่ทำให้การดำเนินงาน ในการสื่อสารข้อมูลเป็นไปตามโปรแกรมที่กำหนดไว้ ตัวอย่างเช่น X.25, SDLC, HDLC, และ TCP/IP เป็นต้น
สามารถแบ่งทิศทางการสื่อสารของข้อมูลได้เป็น 3 แบบ คือ
1. แบบทิศทางเดียว (Simplex) เป็นทิศทางการสื่อสารข้อมูลแบบที่ข้อมูลจะถูกส่งจากทิศทางหนึ่งไปยังอีกทิศทาง โดยไม่สามารถส่งข้อมูลย้อนกลับมาได้ เช่นระบบวิทยุ หรือโทรทัศน์
2. แบบกึ่งสองทิศทาง (Half Duplex) เป็นทิศทางการสื่อสารข้อมูลแบบที่ข้อมูลสามารถส่งกลับกันได้ 2 ทิศทาง แต่จะไม่สามารถส่งพร้อมกันได้ โดยต้องผลัดกันส่งครั้งละทิศทางเท่านั้น เช่น วิทยุสื่อสารแบบผลัดกันพูด
3. แบบสองทิศทาง (Full Duplex) เป็นทิศทางการสื่อสารข้อมูลแบบที่ข้อมูลสามารถส่งพร้อม ๆ กันได้ทั้ง 2 ทิศทาง ในเวลาเดียวกัน เช่น ระบบโทรศัพท์
ประโยชน์ของการสื่อสารข้อมูล
- การสื่อสารข้อมูลในรูปของสัญญาณอิเล็กทรอนิกส์ช่วยให้การจัดเก็บข้อมูลได้ง่ายและสื่อสารได้รวดเร็ว ทำให้การค้นหาข้อมูลหรือเชื่อมต่อข้อมูลเป็นไปได้ง่ายถึงแม้ว่าต้นทางกับปลายทางจะอยู่ห่างไกลกันก็ตาม ทำให้สะดวกต่อผู้ใช้งานข้อมูลนั้น ๆ เช่น เช่น บริษัทจองตั๋วรถทัวร์ทุกแห่งสามารถทราบข้อมูลของทุกเที่ยวโดยสารได้อย่างรวดเร็ว ทำให้การจองที่นั่งของผู้โดยสารสามารถทำได้ทันที
- ในขั้นตอนของการสื่อสารข้อมูลในรูปของสัญญาณอิเล็กทรอนิกส์นั้นวิธีการส่งข้อมูลนั้นมีการตรวจสอบสภาพของข้อมูล หากข้อมูลผิดพลาดก็จะมีการรับรู้ และพยายามหาวิธีแก้ไขให้ข้อมูลที่ได้รับมีความถูกต้อง โดยอาจให้ทำการส่งใหม่ ทำให้มีผลดีในเรื่องของความถูกต้องของข้อมูล
- การสื่อสารข้อมูลในรูปของสัญญาณอิเล็กทรอนิกส์ช่วยลดต้นทุนด้านต่าง ๆ เนื่องจากการเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์เข้าหากันเป็นเครือข่าย เพื่อส่งหรือสำเนาข้อมูล ทำให้ราคาต้นทุนของการใช้ข้อมูลประหยัดขึ้น เมื่อเทียบกับการจัดส่งแบบวิธีอื่น สามารถส่งข้อมูลให้กันและกันผ่านทางระบบเครือข่ายได้
- ในด้านการบริหารจัดการการสื่อสารข้อมูลในรูปของสัญญาณอิเล็กทรอนิกส์ช่วยให้การดำเนินการทางธุรกิจเป็นไปอย่างรวดเร็วและเชื่อมโยงสื่อสารกันได้ เช่น การดำเนินกิจการจากสำนักงานใหญ่ไปสาขาย่อยต่าง ๆ
- ในด้านธุรกิจการเงินการสื่อสารข้อมูลในรูปของสัญญาณอิเล็กทรอนิกส์ช่วยทำในการทำงานหรืออัปเดตข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว เช่น อัตราแลกเปลี่ยน และข้อมูลในตลาดหุ้นเป็นต้น
- การสื่อสารข้อมูลในรูปของสัญญาณอิเล็กทรอนิกส์ทำให้เกิดสังคมให้การแลกเปลี่ยนและนำเสนอข้อมูลข่าวสารได้อย่างรวดเร็ว เช่น การแลกเปลี่ยน การติดตามข่าว การนำเสนอข่าว ในสื่อสังคมออนไลน์ เป็นต้น
-ขอบคุณข้อมูล https://www.scimath.org