Machine Learning ก็คือกลไกภายในของ Artificial Intelligence ซึ่งกลไกนั้นคือ การเรียนรู้ด้วยตนเองของคอมพิวเตอร์จากสิ่งที่เรากระตุ้นหรือในที่นี้ก็คือข้อมูลที่นำใส่เข้าไป โดยอาศัยโปรแกรมหรืออัลกอริทึม (algorithm) เป็นตัวประมวลผล คอมพิวเตอร์มีการทำงานโดยจดจำและเรียนรู้เพื่อส่งผลลัพธ์ที่เราต้องการออกมาได้ อัลกอริทึมที่ได้รับความนิยมในปัจจุบันก็คือ Deep Learning
สำหรับบทความนี้เราคงยังไม่ลงรายละเอียดเชิงลึกในส่วนที่เป็นหลักการทั้งหมด แต่อยากนำเสนอให้เห็นภาพชัดเจนอย่างง่ายว่า ในชีวิตประจำวันของเรา สิ่งที่มักเรียกกันว่า Machine Learning จริง ๆ แล้ว รอบตัวมันมีอะไรอยู่บ้างที่เห็นกันบ่อย ๆ
เสียง
Speech Recognition หรือการแปลงเสียงเป็นข้อความ ซึ่งก็คือการทำให้คอมพิวเตอร์รู้จำเสียงมนุษย์ ที่อาจสั่งคำสั่งออกไป คำสั่งนั้นจะถูกแปลงเป็นคำสั่งที่คอมพิวเตอร์เข้าใจ จากนั้นคอมพิวเตอร์ก็จะทำตามคำสั่งที่มนุษย์สั่งออกไป ยกตัวอย่างเช่น แอปพลิเคชัน Apple Siri ที่พวกเรารู้จักกันดี ตัวอย่างการใช้งานก็คือ พอเราเปิดการใช้งานแอปพลิเคชัน แล้วกดปุ่มเพื่อออกเสียงพูดไปเป็นภาษาของเรา แอปพลิเคชันก็จะแปลงเสียงเหล่านั้นเป็นข้อความ และกลายเป็นคำสั่งให้แอปพลิเคชันทำงานตามความต้องการของเรานั่นเอง
ภาพ
เป็นการค้นหาและแสดงส่วนที่ที่ต้องการประมวลผลภาพได้ตามความต้องการ เช่น การใช้งาน Face ID ของ Apple ซึ่งเป็นการตรวจจับและตรวจสอบใบหน้าเพื่อการใช้งานสมาร์ตโฟน ซึ่งเป็น Machine Learning ที่ใช้วิธียิงจุดอินฟราเรดออกไป และใช้การตรวจสอบภาพของใบหน้า จากใบหน้าต้นแบบที่เราทำการลงทะเบียนใช้งานไว้ในครั้งแรก (ภาพใบหน้าต้นแบบ) ซึ่งสิ่งนี้อาจเรียกได้อีกอย่างว่า Face Recognition
ภาษา
หลายคนคงเคยใช้งานโปรแกรมแปลภาษา ที่สามารถ แปลประโยคจากภาษาหนึ่งไปเป็นอีกภาษาหนึ่งได้ซึ่งสิ่งที่เราเรียกว่า Machine Translation
โฆษณาทางสื่อต่าง ๆ
หลาย ๆ ครั้งที่เรามักพบสิ่งที่เราสนใจ ผ่านหน้าเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันที่เราใช้งานบ่อย ๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นการใช้ Machine Learning เพื่อเรียนรู้พฤติกรรมของผู้ใช้งานจากการค้นหาและเข้าถึงคอนเทนต์ที่สนใจ ซึ่งก็จะมีการเก็บข้อมูลเพื่อที่จะเรียนรู้และจดจำว่าว่าผู้ใช้งานคนนี้สนใจคอนเทนต์ประเภทไหน เพื่อที่จะวางโปรแกรมหรือทำการตลาดส่งหรือนำเสนอคอนเทนต์นั้น ๆ ไปให้ผู้ที่สนใจได้ในอนาคต
ทั้ง 4 ตัวย่างที่กล่าวไปนั้น เป็นตัวอย่างที่สามารถเห็นการทำงานของ Machine Learning ได้ชัดเจนและบ่อยที่สุด จะเห็นได้ว่ามันเป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวเราและมีประโยชน์กับตัวเรามากมาย Machine Learning ยังคงมีแนวโน้มพัฒนาต่อไปได้เรื่อย ๆ หากโอกาสหน้ามีอะไรที่น่าสนใจ ผู้เขียนสัญญาว่าจะนำข้อมูลมาฝากให้ให้อ่านกัน ยังไงก็ฝากติดตามกันต่อไปด้วย
แหล่งที่มา
มทนา วิบูลยเสข. Machine Learning คืออะไร?. สืบค้นเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2562. จาก https://www.aware.co.th/machine-learning-คืออะไร/
ณัฐดนัย เนียมทอง. เรียนรู้การทำงานของ AI ผ่าน machine learning (ML). สืบค้นเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2562. จาก https://www.scimath.org/article-technology/item/7803-a-i-experiments
Suphan Fayong. Machine Learning ตอนที่ 1: ทำไมต้องมี Machine Learning.สืบค้นเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2562. จาก http://codeonthehill.com/machine-learning-1-why-machine-learning/