คณิตศาสตร์ (Mathematics) วิชารากฐานของวิทยาการหลายสาขาวิชาและมีบทบาทสำคัญต่อความเจริญทางด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และความเจริญในอีกหลาย ๆ ด้าน แต่หลายคนไม่ชอบวิชาคณิตศาสตร์ด้วยเหตุผลส่วนตัวเป็นส่วนใหญ่ที่ว่า “ไม่ชอบ”
เราอาจมักเคยได้ยินเด็ก ๆ บางกลุ่มบางคนมักจะบ่นและโทษครูคณิตศาสตร์อยู่เสมอว่าสอนไม่รู้เรื่อง แต่ก็สงสัยอยู่เหมือนกันว่า แล้วทำไมมีเด็กบางกลุ่มก็เรียนรู้และเข้าใจในสิ่งที่ครูสอน ก็ฝากเป็นคำถามชวนคิดให้ผู้อ่านลองคิดดูสนุก ๆ แต่โดยส่วนตัวของผู้เขียนเองเป็นคนที่จะเข้าใจอะไรได้ดีและลึกซึ้ง จำเป็นต้องฝึกเรียนรู้และปฏิบัติด้วยตนเองอยู่เสมอ จึงเป็นที่มาของบทความนี้ที่ว่าประสบการณ์หนึ่งที่สามารถเอาชนะความไม่ชอบนี้ จนสามารถประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งจนมาถึงทุกวันนี้ได้ก็คือ การเรียนรู้และฝึกฝนด้วยตนเอง
ซึ่งก็สอดคล้องกับบทความแนะแนวการศึกษาเรื่อง “แนวทางพื้นฐานในการศึกษาวิชาคณิตศาสตร์ด้วยตนเอง” ของฝ่ายแนะแนวการศึกษา สำนักบริการการศึกษา มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เกี่ยวกับเทคนิคการเรียนรู้ด้วยตนเองในวิชาคณิตศาสตร์ ก็เลยอยากสรุปและนำมาฝากให้ได้อ่านกัน และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้อ่านอาจใช้เป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยให้เข้าใจคณิตศาสตร์ และชอบคณิตศาสตร์มากขึ้น
ภาพ การเรียนรู้ทางด้านวิชาคณิตศาสตร์ (Mathematics)
ที่มา https://pixabay.com , geralt
เข้าใจคณิตศาสตร์
เราอาจรู้จักวิชาคณิตศาสตร์แค่ว่าเป็นวิชาที่ต้องเรียนเพราะมันสำคัญ แต่ไม่เคยทำความเข้าใจว่ามันมีประโยชน์อย่างไร และนำไปทำอะไรได้บ้าง จึงทำให้เราให้ความสำคัญกับการเรียนรู้แบบท่องจำว่า ถ้าต้องการแก้ไขปัญหานี้ต้องใช้สูตรอะไร แต่ไม่เข้าใจอย่างลึกซึ้งว่าทำไมต้องใช้สูตรนี้หรือมีหลักในการเลือกใช้สูตรนี้เพราะอะไร จึงทำให้เราพบปัญหาที่ว่าเราประยุกต์ใช้วิชาคณิตศาสตร์ในการแก้ปัญหาทั้งในและนอกบทเรียนไม่เป็น
เรียนรู้และฝึกฝนคณิตศาสตร์ด้วยตนเอง
แนวทางการศึกษาวิชาคณิตศาสตร์ด้วยตนเอง ไม่ควรที่จะศึกษาด้วยวิธีการแบบท่องจำ การฝึกฝนตนเองด้วยการทำแบบฝึกหัด ข้อสอบ จะช่วยสร้างความเข้าใจเนื้อหาวิชาได้อย่างแท้จริง ลองอ่านและทำตามแนวทางที่นำเสนอต่อไปนี้ อาจช่วยได้มากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับความตั้งใจเป็นสำคัญด้วย
แนวทางพื้นฐานในการศึกษาวิชาคณิตศาสตร์ด้วยตนเอง มีดังนี้
- พยายามสร้างเสริมความคิดความรู้สึกทางบวกต่อวิชาคณิตศาสตร์ ไม่ควรรู้สึกท้อแท้ใจเมื่อไม่ประสบความสำเร็จในการศึกษาช่วงแรก ๆ แต่ควรพยายามค้นหาสาเหตุ และพยายามแก้ไข จนถึงช่วงเวลาหนึ่งก็จะรู้สึกดีขึ้นเอง
- ปรับพื้นความรู้ด้านคณิตศาสตร์ บางคนที่อาจมีพื้นฐานด้านคณิตศาสตร์ที่ไม่เพียงพอ แนวทางแก้ไขคือการทบทวนและฝึกทำโจทย์ปัญหาเพิ่มเติมให้มากขึ้น ยิ่งทำเยอะจะยิ่งช่วยให้เข้าใจมากขึ้น และสร้างสร้างพื้นฐานความรู้ด้านคณิตศาสตร์ให้แน่นขึ้น
- มีการวางแผนการเรียนอย่างสม่ำเสมอ และเรียนด้วยความรับผิดชอบต่อตนเอง คณิตศาสตร์เป็นวิชาที่มีการศึกษาอย่างเป็นลำดับขั้นตอน เรียนรู้จากง่ายไปยาก จากแบบฝึกหัดเป็นแบบทดสอบ จากพื้นฐานเป็นประยุกต์ ซึ่งเป็นความรู้ที่จะต้องสะสมต่อยอดกันขึ้นไปเรื่อย ๆ จึงควรมีความสม่ำเสมอและตั้งใจควบคู่กันไป การวางแผนให้เป็นไปตามลำดับที่วางไว้จะช่วยให้เรามองเห็นเป้าหมายและแนวทางสำเร็จในแต่ละช่วงได้อย่างชัดเจน ทำให้สนุกและท้าทายมากขึ้นด้วย ควรกำหนดช่วงเวลาในการศึกษาด้วยตนเองให้ได้ทุกวัน โดยวันหนึ่ง ๆ อาจจะเป็นเนื้อหา 1 ประเด็น โดยมีการทำแบบฝึกหัด และการจดบันทึกสาระสำคัญอย่างมีระบบการศึกษาเนื้อหาไปทีละน้อย ทีละขั้นโดยไม่ข้ามขั้นตอนเป็นประจำทุกวันจะช่วยให้เข้าใจความเป็นมาของทฤษฎี กฎเกณฑ์ นิยามของคำศัพท์ทางคณิตศาสตร์ และมีกระบวนการแก้ปัญหาในโจทย์ปัญหาลักษณะต่าง ๆ ได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น
- เรียนรู้นิยามศัพท์ และสัญลักษณ์พื้นฐานทางคณิตศาสตร์ที่จำเป็นอย่างถูกต้อง
- พยายามฝึกฝนทำแบบฝึกหัดคณิตศาสตร์ด้วยตนเองให้มาก และครบถ้วน กระบวนการคิดวิเคราะห์จะทำให้พัฒนาขึ้นได้ เมื่อเราสามารถแยกแยะความแตกต่างระหว่างโจทย์ปัญหาที่พลิกแพลงได้ ก็จะทำให้เราตีโจทย์ได้ในหลาย ๆ แบบ โดยไม่จำเป็นต้องท่องจำ
- การท่องจำเป็นความจำเป็นเพียงส่วนหนึ่งในการศึกษาคณิตศาสตร์ แต่ควรทำความเข้าใจว่าจะใช้สูตรนั้น ๆ แก้ปัญหาอย่างไร พยายามทำความเข้าใจกรณีปัญหาต่าง ๆ ในหลาย ๆ แบบ และบันทึกความแตกต่างและลำดับขั้นตอนการแก้ปัญหาที่ใช้
- ฝึกแก้โจทย์ปัญหาด้วยตนเอง โดยไม่ดูแนวตอบหรือเฉลยล่วงหน้า เพราะทักษะความสามารถในการคิดแก้ปัญหา จะพัฒนาได้มากเมื่อมีความภาคภูมิใจที่สามารถแก้ปัญหาได้ด้วยตนเอง
- ควรหาผู้เป็นโค้ชเพื่อขอความช่วยเหลือในยามที่ใช้ความสามารถของตนเองอย่างเต็มที่ แต่ยังไม่สามารถเข้าใจเนื้อหาบางตอนได้อย่างชัดเจน ซึ่งจะทำให้เรารู้สึกว่าทุกปัญหามีทางออกและวิธีคิดในหลาย ๆ วิธีอีกด้วย
- ยอมรับและสร้างกำลังใจของตนเองในการใช้เวลาเพื่อฝึกฝนและศึกษาวิชาคณิตศาสตร์ให้เข้มแข็ง
ทั้งหมดนี้ ก็เป็นแนวทางหนึ่งที่นำมาฝากให้ลองนำไปปรับใช้กันดู แต่ประเด็นสำคัญที่สุดก็คือ การฝึกฝนทำแบบฝึกหัดและข้อสอบให้มากที่สุดนั่นเอง
แหล่งที่มา
ฝ่ายแนะแนวการศึกษา สำนักบริการการศึกษา มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช . แนวทางพื้นฐานในการศึกษาวิชาคณิตศาสตร์ด้วยตนเอง. สืบค้นเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2561 . จาก
http://www.stou.ac.th/Thai/Offices/Oes/Guide/article/math.html