ประวัติยาหม่อง
ถ้าหากพูดถึงสิ่งที่คนไทยนิยมใช้และพกติดตัวกันในฐานะของยาสามัญประจำบ้านและประจำตัว ก็คงจะหนีไม่พ้นยาหม่อง ที่เพียงได้ยินชื่อก็สามารถบ่งบอกถึงสรรพคุณที่มากมายหลากหลาย
แต่หากเราลองมานั่งทบทวนกันดูดีๆ จะเห็นว่ายาหม่องของสามัญประจำบ้านของเราเนี่ย มีมานานแสนนาน และไม่มีใครทราบประวัติที่แน่ชัดของยาหม่องอีกด้วย ว่ามาจากไหน และทำไมถึงเรียกว่า “ยาหม่อง” กันล่ะ?
วันนี้เราจึงนำเรื่องราวและทฤษฎีความเป็นไปได้ของต้นกำเนิดยาหม่องมาให้ดูกัน.
ชื่อของ Hawpar Group ในประเทศไทย อาจไม่เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางนักแต่หากเอ่ยถึงยาหม่องตราเสือ และน้ำมันกวางลุ้ง สินค้าทั้ง 2 กลับเป็นที่รู้จักกันมากกว่า
ทั้งยาหม่องตราเสือ และน้ำมันกวางลุ้ง เป็นสินค้าซึ่งคิดค้น และผลิตโดย Hawpar โดยเฉพาะยาหม่องตราเสือนั้นเป็นสินค้าชิ้นแรกที่ Hawpar คิดค้นขึ้นมาได้ตั้งแต่เมื่อเกือบ 100 ปีก่อนและมีผลให้ Hawpar สามารถขยายอาณาจักรออกไปได้กว้างขวาง และยิ่งใหญ่ในปัจจุบันรวมถึงทำให้คนไทย เรียกขานยาที่สามารถรักษาได้สารพัดอาการ ซึ่งทำมาจากน้ำมันเข้มข้น เมื่อนำมาถูนวดแล้วมีความร้อน ว่า “ยาหม่อง”
Hawpar Group ถือกำเนิดขึ้นจาก Aw Boon Haw (Tiger) และ Aw Boon Par (Leopard) 2 พี่น้องลูกชายของ Aw Chu Kin แพทย์แผนโบราณ (ซินแส) ชาวเมืองเอหมึง มลฑลฮกเกี้ยนที่อพยพไปหากินโดยเปิดร้านรับรักษาคนไข้อยู่ในกรุงย่างกุ้ง ประเทศพม่า ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 1800
ทั้งคู่เกิดในพม่า โดย Aw Boon Haw เกิดในปี 1882 และ Aw Boon Par เกิดในปี 1888
ในวัยเด็กทั้งคู่ถูกส่งเข้าศึกษาในโรงเรียนของคนอังกฤษที่อยู่ในพม่า
เมื่อปี 1908 Aw Chu Kin บิดาของทั้งคู่เสียชีวิต 2 พี่น้อง Boon Haw และ Boon Par จึงได้เริ่มต้นธุรกิจของตัวเองโดยการผสมผสานวิทยาการสมัยใหม่จากทางตะวันตก กับวิชาความรู้ทางแพทย์แผนโบราณที่ได้รับสืบทอดต่อจากบิดาโดยการผลิตยาหม่องตราเสือซึ่งมีความหมายตามชื่อของทั้งคู่ออกมาจำหน่าย
กิจการของทั้งคู่ประสบความสำเร็จ ยาหม่องตราเสือได้รับความนิยมไม่เฉพาะแต่ในพม่าแต่ยังถูกส่งออกมาขายในประเทศใกล้เคียง ทั้งมาเลเซีย สิงคโปร์ และประเทศไทยในปี 1920 ทั้งคู่ซึ่งเพิ่งมีอายุได้ไม่ถึง 40 ปี ได้รับการยอมรับว่าเป็นคนจีนที่ร่ำรวยที่สุดคู่หนึ่งในกรุงย่างกุ้ง
ในปี 1926 ทั้งคู่ได้ขยายมาเปิดโรงงานในสิงคโปร์ ซึ่งเป็นการขยายกิจการออกนอกประเทศพม่าเป็นครั้งแรกจนกระทั่งเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 โรงงานของทั้ง 2 พี่น้อง ทั้งที่อยู่ในพม่าและสิงคโปร์ต้องปิดลงชั่วคราว และอพยพไปลี้ภัยอยู่ในฮ่องกง
Boon Par ได้เสียชีวิตลงก่อนสงครามโลกสิ้นสุดเพียง 1 ปี เมื่อสงครามสงบ Boon Haw ผู้พี่ได้กลับมาเปิดโรงงานที่สิงคโปร์ใหม่ และเริ่มต้นขยายธุรกิจออกไปได้อย่างกว้างขวาง ซึ่งนอกเหนือจากธุรกิจเพื่อสุขภาพแล้ว ยังมีธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และกิจการธนาคารที่ชื่อว่า Chung Khiaw Bank
ปี 1954 Boon Haw เสียชีวิตลงด้วยอาการหัวใจวาย ทิ้งกิจการซึ่งได้ขยายกลายเป็นกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ ไว้ให้กับคนรุ่นลูกเป็นผู้ดูแลแต่ในเจเนอเรชั่นที่ 2 ไม่สามารถรักษาความเป็นเจ้าของไว้ได้ หลังจาก Hawpar Group ได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นสิงคโปร์ในปี 1969 กิจการของ Hawpar Group ก็มีการเปลี่ยนมือเจ้าของอยู่หลายครั้ง
ครั้งหนึ่งบริษัทแจ๊กเจีย อุตสาหกรรมของไทย ได้เคยเข้าไปเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 16% และเคยนำยาหม่องตราเสือเข้ามาผลิตในประเทศไทย แต่ภายหลังหุ้นดังกล่าวก็ถูกเปลี่ยนมือโดย United Overseas Bank (UOB) ได้เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 30% ในปี 1981 และยังคงความเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อยู่จนถึงปัจจุบัน โดยมีสัดส่วนการถือหุ้นเพิ่มขึ้นมาเป็น 43%