พลังงานหมุนเวียน คือพลังงานจากแหล่งที่สามารถนำมาใช้โดยไม่มีวันหมด เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ พลังงานลม และพลังงานที่เกิดจากขยะมูลฝอย ทั้งจากภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม พลังงานเหล่านี้แตกต่างจากพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งคือ ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ ตรงที่เชื้อเพลิงฟอสซิลใช้แล้วหมดไป และเป็นตัวทำลายสิ่งแวดล้อมจากก๊าซมีเทนและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่ปล่อยออกมาระหว่างเผาไหม้
สหภาพยุโรป ซึ่งเป็นผู้นำด้านการรักษาสิ่งแวดล้อม ให้ความสำคัญกับพลังงานหมุนเวียน เพราะไม่เพียงต้องการช่วยรักษ์โลกเท่านั้น แต่พลังงานหมุนเวียนจะทำให้สหภาพยุโรป พึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากภูมิภาคอื่นน้อยลง อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจและเพิ่มอัตราการจ้างงาน ในภาคธุรกิจที่บุกเบิกด้านพลังงานหมุนเวียน จากการสนับสนุนของภาครัฐ ผ่านทางเงินช่วยเหลือและนโยบายต่างๆ ทำให้ในปัจจุบัน พลังงานหมุนเวียนมีราคาที่แข่งขันได้ในตลาด และผู้บริโภคสามารถเข้าถึงได้ (จากปี ค.ศ.2008 ถึงปี ค.ศ.2012 พลังงานแสงอาทิตย์มีราคาถูกลงถึงร้อยละ 80) และจะกลายเป็นพลังงานหลักในอนาคต โดย International Energy Agency (IEA) คาดว่า พลังงานหมุนเวียนจะกลายเป็นแหล่งพลังงานหลักในการผลิตไฟฟ้าภายในปี ค.ศ. 2078
ไม่เพียงเท่านั้น สหภาพยุโรปในฐานะผู้นำด้านพลังงานหมุนเวียน ได้พัฒนาจนทำให้พลังงานหมุนเวียนมีสัดส่วนถึงร้อยละ 15 ของพลังงานทั้งหมด และคิดเป็นร้อยละ 27 ของปริมาณไฟฟ้าที่ใช้ในสหภาพยุโรป โดยสหภาพยุโรปมีแผนการพัฒนาให้ยังคงความเป็นผู้นำด้านพลังงานหมุนเวียนต่อไป ภายใต้นโยบาย ดังนี้
1.กระจายอำนาจด้านพลังงานสู่ภาคประชาชน ถือเป็นนโยบายหลักในการพัฒนาให้พลังงานหมุนเวียนประสบความสำเร็จ โดยส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในตลาดพลังงาน ประชาชนสามารถผลิตและบริโภคพลังงานได้เอง โดยเจ้าหน้าที่ระดับท้องถิ่นจะมีส่วนสนับสนุนในการผลิตพลังงานหมุนเวียน ในการขยายการติดตั้งอุปกรณ์และการบริหารจัดการ และผู้บริโภคสามารถรู้ถึงแหล่งที่มาของพลังงานที่ใช้ว่า มาจากแหล่งใด และสามารถเลือกใช้ชนิดของพลังงานได้ตามที่ต้องการ ในปัจจุบัน มี smart grid กว่า 60 ล้านเครื่อง ติดตามบ้านเรือนในยุโรป เพื่อช่วยให้ผู้บริโภคสามารถเลือกใช้พลังงานได้อย่างชาญฉลาด และในอนาคตอันใกล้ เทคโนโลยีนี้จะถูกนำมาติดตั้งตามอาคารบ้านเรือนในยุโรปทุกแห่ง นโยบายการกระจายอำนาจนี้ จะส่งเสริมให้ผู้คนกระตือรือร้นที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้พลังงาน เพราะประชาชนจะเห็นผลได้ชัดเจนจากค่าใช้จ่ายที่ลดลง และจะประสบความสำเร็จได้จากความร่วมมือระดับท้องถิ่น ซึ่งเกิดขึ้นแล้วในบางประเทศของสหภาพยุโรป เช่น ประชาชนในเยอรมนีมีส่วนร่วมในการผลิตพลังงานหมุนเวียนถึงร้อยละ 50
2.สร้างตลาดร่วมด้านพลังงานเพื่อเพิ่มเสถียรภาพ เช่นเดียวกับสินค้าและบริการอื่นๆ ที่สหภาพยุโรปต้องการสร้างตลาดร่วม ตลาดร่วมพลังงานเป็นการสร้างสาธารณูปโภค ที่มีการเชื่อมโยงกันระหว่างประเทศที่สามารถส่งออกพลังงานให้ประเทศสมาชิกอื่นๆ ในสหภาพยุโรปได้ ซึ่งจะทำให้สามารถลดการพึ่งพาแหล่งพลังงานจากต่างประเทศ และมีความคล่องตัวทางเศรษฐกิจและการเมืองมากขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2548 ปัจจุบัน สหภาพยุโรปลดการพึ่งพาการนำเข้าเชื้อเพลิงฟอสซิลจากการใช้พลังงานหมุนเวียนที่ผลิตได้ในประเทศสมาชิกได้ถึง 98 MTOE (หน่วยปริมาณเทียบเท่าน้ำมัน 1 ล้านตัน) หรือเทียบเท่าอัตราการใช้พลังงานของประเทศโปแลนด์ทั้งประเทศ ด้วยเหตุนี้ สหภาพยุโรปจึงกำหนดให้ประเทศสมาชิกตั้งเป้าหมายในการเชื่อมต่อระบบเครือข่ายไฟฟ้าระหว่างกัน (electricity interconnection) ไว้ที่ร้อยละ 10 ของการผลิตพลังงานไฟฟ้าทั้งหมดภายในปี 2563
3.เป็นผู้นำเทคโนโลยีด้านพลังงานหมุนเวียน ปัจจุบัน สหภาพยุโรปถือครองสิทธิบัตรด้านพลังงานหมุนเวียนอยู่ถึงร้อยละ 40 ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบที่สหภาพยุโรปจะใช้ในการพัฒนาเทคโนโลยี ให้สามารถแข่งขันได้ในระดับโลก โดยสหภาพยุโรปลงทุนเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านพลังงานประมาณ 3.8 พันล้านยูโรต่อปี โดยเป็นการประสานงานระหว่างภาครัฐ สถาบันวิจัย และภาคอุตสาหกรรม
4.ส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนภายในสหภาพยุโรป การใช้พลังงานเพื่อทำความร้อนและความเย็นคิดเป็นร้อยละ 46 ของพลังงานที่ใช้ในการบริโภคทั้งหมด ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพัฒนาให้พลังงานหมุนเวียนมีบทบาทมากขึ้นในส่วนของการทำความร้อนและความเย็น โดยสหภาพยุโรปตั้งเป้าหมายที่จะต้องมีการใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างน้อยร้อยละ 27 ของพลังงานทั้งหมดภายในปี ค.ศ.2063 โดยเน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการใช้ต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ
5.ส่งเสริมด้านแรงงานเพื่อตอบโจทย์เทคโนโลยีด้านพลังงานหมุนเวียน การพัฒนาพลังงานหมุนเวียนให้มีประสิทธิภาพ จะทำให้สหภาพยุโรปไม่เพียงแต่ได้ประโยชน์จากพลังงานที่ถูกลงและบริสุทธิ์มากขึ้น แต่ยังได้ประโยชน์ในแง่ของการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น และความสามารถในการส่งออกพลังงานอีกด้วย โดยปัจจุบันมีการจ้างงานในอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียนถึง 1.15 ล้านคน ในอนาคตอันใกล้จะมีอาชีพใหม่ๆ ในด้านพลังงานปรากฏให้เห็นมากขึ้น สหภาพยุโรปจะต้องเตรียมประชาชนของตนในการรองรับลักษณะงาน และความเชี่ยวชาญที่แตกต่างออกไป
ที่มาของบทความ: http://www.bangkokbiznews.com
และ http://www.tgo.or.th