อาการของโรคภูมิแพ้
สภาพร่างกายที่แตกต่างกัน ทำให้แต่ละคนมีโอกาสเกิดอาการแพ้ต่อสิ่งต่าง ๆ แตกต่างกันไปด้วย โดยอาการที่เกิดจากภูมิแพ้อาหาร แบ่งเป็น 2 ระดับ คือ
-
IgE Mediated Reaction เกิดอาการแพ้เฉียบพลันทันทีที่ได้รับสารก่อภูมิแพ้เข้าสู่ร่างกาย
-
Non IgE Mediated Reaction ค่อย ๆ เกิดอาการภายหลังได้รับสารก่อภูมิแพ้ประมาณ 4 ชั่วโมง หรือนานกว่านั้น
ภูมิแพ้อาหาร อาการสำคัญของผู้ที่แพ้อาหาร มักจะเกิดขึ้นกับระบบหายใจและระบบทางเดินอาหาร เช่น ไอ จาม น้ำตาไหล คัดจมูก มีอาการบวมแดงหรือคันบริเวณปาก ลิ้น ลำคอ หน้าซีด ใจสั่น ชีพจรเต้นเร็ว รู้สึกอ่อนล้า หมดแรง หายใจลำบาก ความดันลดต่ำลงอย่างรวดเร็ว คลื่นไส้อาเจียน วิงเวียนศีรษะ เป็นลมพิษ มีผื่นแดงคันขึ้นทั่วตัว ปวดท้อง ท้องเสีย ขับถ่ายเป็นมูกหรือมีเลือดปน
แม้จะมีอาการแสดงบางอย่างที่ใกล้เคียงกับโรคอาหารเป็นพิษ (Food Poisoning) แต่การแพ้อาหารจะเกิดขึ้นกับผู้ที่ร่างกายแพ้สารก่อภูมิแพ้ในอาหารชนิดนั้นเท่านั้น คนทั่วไปจะไม่ปรากฏอาการดังกล่าว ในขณะที่โรคอาหารเป็นพิษเกิดจากอาหารที่เจือปนเชื้อโรคหรือสารพิษ และทำปฏิกิริยาต่อร่างกายคนทั่วไปด้วย ทั้งนี้ การวินิจฉัยจะเป็นไปตามขั้นตอน เช่น การตรวจสอบประวัติการแพ้ของผู้ป่วย และตรวจสอบว่าผู้ที่รับประทานอาหารชนิดเดียวกันเกิดอาการเดียวกันหรือไม่
ภูมิแพ้อากาศหรือภูมิแพ้จมูก จะมีอาการที่เกิดกับจมูก บริเวณโพรงจมูก และอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจเป็นหลัก หลังผู้ป่วยหายใจเอาสารก่อภูมิแพ้เข้าสู่ร่างกาย ระบบภูมิคุ้มกันจะขับสารเพื่อทำปฏิกิริยากับสารก่อภูมิแพ้ ซึ่งทำให้เกิดอาการแพ้ คือ จามบ่อย คันและมีการอักเสบบวมทั่วใบหน้า รอบดวงตา จมูก ปาก และลำคอ คัดจมูก น้ำมูกไหล มีเสมหะ หายใจไม่ออก หอบหืด ไอ เจ็บคอ หูอื้อ ตาแดง ประสาทรับกลิ่นทำงานได้แย่ลง และอาจมีไข้ร่วมด้วย
ภูมิแพ้ผิวหนัง จะเกิดอาการแพ้ที่ผิวหนังบริเวณที่ได้รับสารก่อภูมิแพ้ โดยจะเกิดการคัน มีผื่นแดง มีรอยนูนแดง หรือตุ่มบวมอักเสบ เป็นแผลหรือผิวลอกออกได้ง่ายเมื่อเกา อาจลุกลามอักเสบเป็นวงกว้างจนกลายเป็นลมพิษหรือสะเก็ดเงินได้
ภูมิแพ้ตา มีอาการแพ้ที่แสดงออกทางดวงตา เช่น คันหรือระคายเคืองบริเวณดวงตา แสบตา ตาแดง ตาบวม เปลือกตาอักเสบบวม มีน้ำตาไหล รู้สึกเหมือนมีก้อนหรือสะเก็ดเม็ดทรายติดอยู่ในดวงตา ตามีความอ่อนแอ ไวต่อแสง แสงจ้าหรือแม้แต่แสงสว่างปกติก็อาจสร้างความลำบากในการมองเห็น สร้างความรำคาญใจและรบกวนทัศนวิสัยในการมองเห็น
แม้ลักษณะอาการที่เกิดขึ้นจะคล้ายกับอาการของผู้ป่วยโรคตาแดง แต่โรคภูมิแพ้ตาไม่ใช่โรคติดต่อ ไม่ได้เกิดจากเชื้อโรคอย่างไวรัสหรือแบคทีเรีย แต่เกิดจากสารก่อภูมิแพ้ที่จะทำปฏิกิริยาต่อผู้ที่แพ้เท่านั้น
สาเหตุของโรคภูมิแพ้
โรคภูมิแพ้ เกิดจากการที่ร่างกายผลิตภูมิคุ้มกันเพื่อขจัดสิ่งแปลกปลอมที่รับเข้ามา ด้วยการขับสารตัวกลางออกมาต้านสิ่งแปลกปลอมเหล่านั้น และสารตัวกลางนั้นก็ก่อให้เกิดการอักเสบและอาการแพ้แก่ร่างกายด้วย การเกิดโรคภูมิแพ้เป็นเหตุมาจากภูมิคุ้มกันของร่างกายที่ทำงานมากเกินไป ทำให้เกิดอาการแพ้ต่อบางสิ่งที่อาจไม่เป็นอันตรายต่อคนทั่วไป แต่เป็นอันตรายต่อตัวบุคคลที่แพ้เท่านั้น
สารที่ร่างกายรับเข้ามาและกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ในลักษณะต่าง ๆ เรียกว่า “สารก่อภูมิแพ้” โดยร่างกายจะมีปฏิกิริยาต่อสารก่อภูมิแพ้ด้วยการแสดงอาการแพ้ในรูปแบบที่แตกต่างกัน โดยสารภูมิต้านทานซึ่งเป็นโปรตีนที่อยู่ในเลือด มีหน้าที่คอยป้องกัน รวมทั้งขจัดเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกาย ทำปฏิกิริยาตอบสนองต่อสารก่อภูมิแพ้บางชนิดที่ผู้ป่วยแพ้
ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้อาหารส่วนใหญ่ มักแพ้อาหารจำพวกไข่ นม ถั่ว ปลาและอาหารทะเล การแพ้อาหารจะเกิดขึ้นกับผู้ที่มีร่างกายแพ้ต่อสารก่อภูมิแพ้ในอาหารชนิดนั้นเท่านั้น ผู้ที่ไม่ได้ป่วยจะไม่ปรากฏอาการแพ้
สารก่อภูมิแพ้ที่พบได้บ่อยจากภูมิแพ้จมูกหรือภูมิแพ้อากาศ มักมาจากไรฝุ่น เชื้อรา หญ้า ละอองเกสร ขนสัตว์ ที่ฟุ้งกระจายอยู่ในอากาศและเข้าสู่ร่างกายผ่านการหายใจ
สารก่อภูมิแพ้ที่เข้าสู่ร่างกายผ่านทางผิวหนังมีหลายชนิด เช่น สารเคมีจากผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด ถุงมือยาง ยาย้อมสีผม โลหะ เงิน หรือแม้แต่ผงฝุ่นหรือเชื้อโรคที่ลอยปะปนอยู่ในอากาศ
ส่วนภูมิแพ้ตา มักเกิดจากสารก่อภูมิแพ้ประเภทไรฝุ่น ควัน สารเคมี ละอองเกสร ขนหรือสะเก็ดผิวหนังของสัตว์ที่ปนเปื้อนอยู่ในอากาศและกระแสลม เข้าสู่ร่างกายผ่านทางเยื่อบุดวงตา ทำให้เกิดอาการระคายเคืองและมีอาการแพ้ที่แสดงออกทางดวงตาในหลายรูปแบบ
การวินิจฉัยโรคภูมิแพ้
เพื่อตรวจหาโรคภูมิแพ้และหาแนวทางการรักษาได้อย่างถูกต้องเหมาะสม แพทย์จะวินิจฉัยตามกระบวนการเหล่านี้
ซักประวัติ – ในการตรวจเบื้องต้น แพทย์จะซักประวัติและอาการแพ้ของผู้ป่วย แพทย์ต้องทราบสภาพแวดล้อมบริเวณถิ่นที่อยู่อาศัย สภาพแวดล้อมรอบ ๆ ที่ทำงาน เพื่อประเมินความเสี่ยงในการเกิดภูมิแพ้ รวมทั้งซักประวัติการแพ้ในอดีตของผู้ป่วย หรือมีญาติใกล้ชิดที่ป่วยด้วยโรคภูมิแพ้
ตรวจร่างกาย – แพทย์จะตรวจร่างกายภายนอกว่ามีอาการแสดงใดบ้างที่บ่งชี้ถึงโรคภูมิแพ้ ได้แก่ ตรวจตา จมูก ลำคอ ช่วงอก และผิวหนังทั่วไป ในบางรายอาจต้องตรวจการทำงานของปอดด้วยเครื่องเป่าลม หรืออาจต้องเอกซเรย์เพื่อดูการทำงานของปอดร่วมด้วย
ชุดทดสอบภูมิแพ้ – แพทย์จะใช้ชุดทดสอบภูมิแพ้เพื่อทดสอบอาการแพ้ของผู้ป่วย ชุดทดสอบที่นำมาใช้ในการวินิจฉัยโรคภูมิแพ้ คือ การสะกิดแล้วหยดสารก่อภูมิแพ้ (Skin Prick Test) การฉีดสารก่อภูมิแพ้ (Skin Injection Test) และ การติดแผ่นทดสอบสารก่อภูมิแพ้ (Patch Test)
-
Skin Prick Test เป็นชุดทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง แพทย์จะใช้ปลายเข็มสะกิดบริเวณผิวหนัง เช่น ที่ปลายแขน แล้วหยดหรือทาสารก่อภูมิแพ้ลงไปเล็กน้อย หากผู้ป่วยแพ้ต่อสารใด บริเวณที่ถูกสารนั้นจะมีตุ่มนูนแดงปรากฏขึ้นมาภายในเวลาประมาณ 15 นาที
-
Skin Injection Test แพทย์จะฉีดสารก่อภูมิแพ้ในระดับที่ไม่เป็นอันตรายเข้าสู่ผิวหนัง แล้วรอดูผลว่ามีอาการแพ้ต่อสารใดหรือไม่ประมาณ 15 นาที
-
Patch Test เป็นชุดทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังเช่นกัน โดยแพทย์จะติดแผ่นทดสอบซึ่งมีสารก่อภูมิแพ้หลายชนิดหลาย ๆ แผ่นลงบนผิวหนังบริเวณผิวหนัง ผู้ป่วยต้องระมัดระวังในการทำกิจกรรม ไม่ให้มีเหงื่อไหลหรือไม่ให้มีของเหลวโดนแผ่นทดสอบเป็นเวลา 2 วัน แล้วจึงกลับมาพบแพทย์เพื่อดูผลการทดสอบ
การรักษาโรคภูมิแพ้
ผู้ป่วยที่สงสัยว่ามีอาการแพ้ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้อง ส่วนผู้ที่มีประวัติโรคภูมิแพ้ ควรใช้ยาภายใต้คำสั่งหรือการแนะนำของแพทย์อยู่เสมอ และรีบไปพบแพทย์ทันทีหากมีอาการแพ้ที่รุนแรง
ด้านการรักษาด้วยยา ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้อาหารจะได้รับยาต้านฮิสตามีน (Antihistamine) ป้องกันไม่ให้สารฮิสตามีนทำงาน ซึ่งฮิสตามีนเป็นสารที่หลั่งเมื่อมีสารก่อภูมิแพ้เข้าสู่ร่างกาย โดยสารนี้จะไปกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้และอักเสบที่อวัยวะต่าง ๆ อย่างการเกิดผื่นคัน ผื่นแดงตามผิวหนัง ยาอะดรีนาลีน (Adrenaline) ใช้รักษาผู้ป่วยที่มีอาการแพ้อย่างรุนแรงเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ จะช่วยลดอาการบวมของกล่องเสียงและหลอดลมที่เป็นเหตุทำให้หายใจติดขัด ส่วนใหญ่ใช้ในรูปแบบการฉีดตัวยาเข้าสู่ร่างกายโดยตรง ยาแก้คัดจมูก (Decongestants) ใช้ลดการบวมของเยื่อบุโพรงจมูก ช่วยลดอาการคัดจมูกและการหายใจติดขัด มีทั้งรูปแบบหยอดจมูกและยาเม็ดรับประทาน ยาพ่นสเตียรอยด์ลดอาการอักเสบ อาการบวมและการเกิดน้ำมูกอุดตันในโพรงจมูก และยาทาสเตียรอยด์รูปแบบครีมที่ใช้ทาผิวหนังบริเวณที่มีอาการแพ้และมีผดผื่นคัน ตัวยาจะช่วยลดการอักเสบของผิวหนังและช่วยไม่ให้ผดผื่นคันขยายไปเป็นวงกว้าง
นอกจากนี้ ยังมีวิธีภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) เป็นการรักษาผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ด้วยการฉีดสารก่อภูมิแพ้เข้าไปปริมาณเล็กน้อย ทำให้ร่างกายค่อย ๆ คุ้นเคยกับสารและทำให้การแพ้สารนั้นทุเลาลงจนหายขาด เป็นวิธีการฉีดสารก่อภูมิแพ้อย่างต่อเนื่องตามขั้นตอน ผู้ป่วยต้องเข้ารับการฉีดสารเป็นระยะอย่างต่อเนื่องหลายปีตามความรุนแรงของอาการแพ้และตามสภาพร่างกายของผู้ป่วย
ภาวะแทรกซ้อนของโรคภูมิแพ้
ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้อาจต้องเผชิญกับอาการแทรกซ้อนต่าง ๆ หรือมีความเสี่ยงในการป่วยด้วยโรคอื่นเพิ่มมากขึ้น เช่น
โรคภูมิแพ้ขั้นรุนแรง (Anaphylaxis) ผู้ป่วยจะมีอาการแพ้ที่รุนแรงขึ้น เช่น มีผื่นขึ้นเต็มตัวและมีอาการคันตลอดเวลา เป็นลมพิษ หน้าซีดหรือหน้าแดง คอบวม แน่นหน้าอก หายใจติดขัด อาเจียน ท้องร่วง หากมีอาการเหล่านี้ควรรีบไปพบแพทย์ทันที ส่วนใหญ่พบในผู้ป่วยที่แพ้อาหาร แพ้แมลง และแพ้ยา
โรคหอบหืด ผู้ป่วยที่เป็นภูมิแพ้จะมีโอกาสเป็นโรคหอบหืดมากกว่าคนทั่วไป โดยมีอาการหายใจลำบาก หอบเหนื่อย หายใจเสียงดัง ไอ แน่นหน้าอกหรือเจ็บที่หน้าอก มีปัญหาในการนอนเนื่องจากการหายใจที่ผิดปกติ ทำให้นอนยากหรือนอนแล้วรู้สึกตัวขึ้นกลางดึก หอบหืดเกิดจากมีสารก่อภูมิแพ้เข้าไปในปอด ทำให้เกิดการอักเสบของระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ หลอดลมอักเสบ พบมากในผู้ป่วยภูมิแพ้อากาศซึ่งเป็นการป่วยเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจโดยตรง
อีกหนึ่งอาการที่พบมากในผู้ป่วยภูมิแพ้อากาศ คือ ไซนัสอักเสบ โดยมีอาการคือ ปวดศีรษะ โดยเฉพาะบริเวณหน้าผาก รอบตา หัวคิ้ว ข้างจมูก คัดจมูก มีน้ำมูกและเสมหะสีเขียวข้น ไอ มีไข้ หายใจลำบาก
นอกจากนี้ ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้อาจมีอาการป่วยและโรคแทรกซ้อนอย่างอื่นอีก เช่น ผิวหนังอักเสบ กลาก การติดเชื้อในหูชั้นกลาง การติดเชื้อในปอด เป็นต้น
-ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล https://www.pobpad.com