อีสุกอีใส (Chickenpox/Varicella) เป็นโรคติดต่อทางผิวหนังที่ทำให้ร่างกายเกิดผื่นคัน มีตุ่มนูนขนาดเล็ก หรือตุ่มน้ำใส ๆ ทั่วร่างกาย ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นได้บ่อยในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี อย่างไรก็ตามสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย และยังแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว
สำหรับในประเทศไทย ตามรายงานของสํานักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เฝ้าระวังสถานการณ์ของโรคอีสุกอีใส พบว่า ในปี พ.ศ. 2557-2559 มีอัตราการป่วย 129.57 ต่อแสนประชากร 79.82 ต่อแสนประชากร และ 66.57 ต่อแสนประชากร
อาการของโรคอีสุกอีใส
ผู้ป่วยจะมีไข้ต่ำ รู้สึกครั่นเนื้อครั่นตัว เหนื่อยง่าย เฉื่อยชา ปวดศีรษะ เจ็บคอ อยากอาหารลดลงหรือไม่อยากอาหารในช่วง 1-2 วันแรกของการติดเชื้อ จากนั้นจะเกิดผื่นเป็นจุดแดง ๆ ตามร่างกาย ทั้งใบหน้า หน้าอก หลัง ปาก เปลือกตา อวัยวะเพศ ผื่นแดงเหล่านี้จะเริ่มกลายเป็นตุ่มพองขนาดเล็ก มีน้ำใส ๆ ภายในตุ่มในอีก 2-4 วัน ก่อนจะเกิดการตกสะเก็ดในสัปดาห์ต่อมา ซึ่งผู้ป่วยมักจะมีอาการคันบริเวณที่เกิดผื่นหรือตุ่มพองอยู่บ่อยครั้ง อาการที่พบเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นอาการที่ไม่ร้ายแรงในเด็กเล็ก แต่ในวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่อาจเกิดการพัฒนาโรคที่มีความรุนแรงมากขึ้น สำหรับผู้ที่เคยฉีควัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใสก็สามารถติดเชื้อได้เช่นกัน แต่มักพบได้น้อยมากและมีอาการเพียงเล็กน้อย
อย่างไรก็ตาม หากพบอาการผิดปกติที่รุนแรงขึ้น โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 1 ปี มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ สตรีตั้งครรภ์ ควรรีบไปพบแพทย์ เช่น มีไข้ขึ้นสูงหรือเป็นติดต่อนานกว่า 4 วัน ไออย่างรุนแรง ปวดท้องรุนแรง มีผื่นแดงเป็นจ้ำ ๆ และเลือดออก
สาเหตุของอีสุกอีใส
โรคอีสุกอีใสเกิดจากเชื้อ วาริเซลลา ซอสเตอร์ ไวรัส หรือเรียกย่อ ๆ ว่า เชื้อวีซีวี (Varicella Zoster Virus: VZV) ที่แพร่กระจายได้ง่ายผ่านทางการสัมผัสกับแผลของผู้ป่วยที่เป็นโรคโดยตรง ทางน้ำลาย ไอ จาม หรือการหายใจเอาเชื้อที่ปะปนในอากาศเข้าไป นอกจากนี้ การติดเชื้อในบางกรณีอาจเกิดจากการสัมผัสกับแผลของผู้ป่วยโรคงูสวัดโดยตรงได้เช่นกัน เนื่องจากเชื้อไวรัสชนิดนี้เป็นชนิดเดียวกับที่ก่อให้เกิดโรคงูสวัดขึ้น แต่พบได้น้อยมาก
ระยะเวลาการฟักตัวของโรคจะอยู่ในช่วง 10-21 วัน หรือประมาณ 2 สัปดาห์ ผู้ป่วยสามารถแพร่กระจายโรคไปสู่ผู้อื่นได้อย่างรวดเร็วตั้งแต่มีการติดเชื้อ เนื่องจากผู้คนส่วนใหญ่มักจะไม่ทราบว่าใครเป็นโรคอีสุกอีใสจนกระทั่งสังเกตได้จากผื่นหรือตุ่มพองตามร่างกาย
ป้องกันตนเองอย่างไร
วิธีการป้องกันอีสุกอีใสที่ดีที่สุดคือการฉีดวัคซีนป้องกันอีสุกอีใส จากข้อมูลของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคกล่าวว่า การฉีดวัคซีนอีสุกอีใสจะช่วยป้องกันการเกิดโรคอีสุกอีใสและบรรเทาอาการของโรคอีสุกอีใสได้อย่างมีประสิทธิผล
วัคซีนอีสุกอีใสเหมาะกับใครบ้าง
-
เด็กเล็ก
ช่วงวัยที่ควรได้รับวัคซีนมากที่สุดคือในวัยเด็ก โดยวัคซีนอีสุกอีใสสามารถฉีดร่วมกันกับวัคซีนชนิดอื่น ๆ อย่างเช่นวัคซีนป้องกันโรคหัด โรคคางทูมหรือโรคหัดเยอรมัน อย่างไรก็ตามการฉีดวัคซีนรวมอาจมีผลข้างเคียงอย่างเช่น อาการไข้และชัก ในเด็กที่มีอายุระหว่าง 12 ถึง 23 เดือน
-
เด็กโตที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนอีสุกอีใส
เด็กโตที่มีอายุระหว่าง 7 ถึง 12 ปี ที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน ควรฉีดวัคซีนอีสุกอีใสจำนวนสองเข็ม โดยแต่ละเข็มควรห่างกันเป็นระยะเวลา 3 เดือน สำหรับเด็กโตที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนที่มีอายุ 13 ปีขึ้นไป ควรได้รับการฉีดวัคซีนสองเข็ม โดยแต่ละเข็มควรห่างกันเป็นระยะเวลา 4 สัปดาห์
-
ผู้ใหญ่ที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนอีสุกอีใส
กลุ่มนี้จะมีความเสี่ยงที่สูงขึ้นในการได้รับเชื้ออีสุกอีใส อย่างเช่นบุคลากรทางการแพทย์ หรือกลุ่มที่ทำงานในโรงเรียน สถานรับเลี้ยงเด็ก ทหาร หรือคนที่เดินทางไปต่างประเทศเป็นประจำ นอกจากนี้ผู้ใหญ่ที่อยู่กับเด็กเล็กและสตรีที่สามารถตั้งครรภ์ได้ ก็ควรจะได้รับการฉีดวัคซีนอีสุกอีใสด้วยเช่นกัน
-
ผู้ใหญ่ที่ไม่เคยมีประวัติป่วยเป็นโรคอีสุกอีใส
ผู้ใหญ่ที่ไม่เคยมีประวัติป่วยหรือมีอาการโรคอีสุกอีใส กลุ่มนี้ควรได้รับการฉีดวัคซีนทั้งหมดสองเข็ม และแต่ละเข็มควรเว้นระยะห่าง 4-8 สัปดาห์ ปรึกษาแพทย์หากผู้ป่วยไม่แน่ใจว่าเคยมีประวัติติดเชื้ออีสุกอีใสหรือเคยได้รับการฉีดวัคซีนหรือไม่ แพทย์จะทำการส่งตรวจเลือดเพื่อดูระบบภุมิคุ้มกันของผู้ป่วย
วัคซีนอีสุกอีใสไม่เหมาะกับใครบ้าง
- สตรีที่ตั้งครรภ์
- ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ อย่างเช่นผู้ป่วยเอชไอวี
- ผู้ที่ต้องทำการรักษาด้วยยากดภูมิคุ่มกัน
- ผู้ที่แพ้เจลาตินหรือยาปฏิชีวนะในกลุ่มอะมิโนไกลโคไซด์
ในกลุ่มข้างต้นควรปรึกษาแพทย์ เพื่อหาว่าผู้ป่วยเคยได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใสหรือไม่ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยที่กำลังวางแผนตั้งครรภ์ ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใสก่อนวางแผนมีบุตรหรือตั้งครรภ์เสม
วัคซีนอีสุกอีใสเป็นวิธีที่ปลอดภัยและมีประสิทธิผลในการป้องกันอีสุกอีใส โดยการฉีดวัคซีนมีผลข้างเคียงเพียงเล็กน้อยและไม่รุนแรง ดังนี้
- ผิวแดง
- รู้สึกปวด
- ตุ่มเล็กๆเกิดขึ้นบริเวณที่ฉีดวัคซีน แต่พบได้ไม่บ่อยนัก
ขอบคุณข้อมูล
https://www.medparkhospital.com/