ก่อนหน้านี้เราคงคุ้นเคยหรือพอได้ยินเกี่ยวกับสกุลเงินดิจิทัล (cryptocurrency) ที่มีชื่อว่า บิตคอยน์ (Bitcoin) ที่เป็นนวัตกรรมโลกการเงินแบบใหม่ เปรียบเสมือนระบบธนาคารในโลกดิจิตอลที่ไม่มีสถาบันกลางควบคุมกันมาแล้ว ซึ่งบิทคอยน์ (Bitcoin) เป็นสกุลเงินดิจิตอลสกุลแรกที่กำเนิดขึ้นเมื่อปี 2009 ล่าสุด Facebook ได้ประกาศเปิดตัว LIBRA สกุลเงินใหม่ของโลก และ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) ได้กล่าวว่า LIBRA จะเปิดให้บริการได้ภายในปี 2020 นี้
ภาพที่ 1 libra
ที่มา https://pixabay.com , Gerd Altmann
ใจความสำคัญในการประกาศสกุลเงินดิจิทัลตัวใหม่นี้มีการพูดถึงปัญหาของโลกในปัจจุบัน ที่ในตอนนี้ ผู้คนทั่วโลก 1.7 พันล้านคน ยังไม่เข้าถึงธนาคารในระบบการเงินแบบดั้งเดิม ในขณะที่ผู้คนเข้าถึงสมาร์ตโฟนมีจำนวนมากกว่าเสียอีก ประเด็นที่สำคัญอีกหนึ่งอย่างคือ คนที่มีเงินน้อยกลับต้องมีต้นทุนในการเข้าถึงบริการทางการเงินที่สูง ไม่ว่าจะเป็น ค่าธรรมเนียม ค่าโอน ค่าบัตร ATM
การให้บริการ Libra
โดยการให้บริการจะเริ่มจาก การโอนเงิน Libra ในสมาร์ตโฟน ผ่าน Application WhatsApp และ Messenger และปีถัดไปก็จะมี Application แยกต่างหากชื่อ “Calibra” Application Calibra จะกลายไปเป็นกระเป๋าเงินของคนทั้งโลก ในตอนแรก Calibra จะสามารถส่งเงิน Libra ให้แก่กันโดยมีค่าธรรมเนียมที่ต่ำมากจนถึงฟรีและในที่สุด Libra จะถูกใช้ในการซื้อสินค้าบริการในชีวิตประจำวัน เช่น สามารถใช้ซื้อกาแฟที่ร้านกาแฟ จ่ายบิลค่าน้ำ ค่าไฟ หรือแม้แต่จ่ายเงินค่าโดยสารระบบขนส่งต่าง ๆ ได้โดยที่เราไม่จำเป็นต้องถือเงินสดและบัตรโดยสารอีก
ภาพที่ 2 Application Facebook
ที่มา https://pixabay.com , Thomas Ulrich
การเริ่มต้นใช้งาน Libra
ก่อนจะเริ่มใช้งาน Libra ได้นั้น เราต้องทำการยืนยันตัวตนก่อน โดยการใช้ Photo ID หรือ เอกสารประจำตัวที่มีรูปถ่าย (เช่น บัตรประจำตัวประชาชน, ใบขับขี่) ด้วยกระบวนการ e-KYC หรือการตรวจสอบตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์ หลังจากนั้นเราก็จะสามารถใช้งาน Libra ได้ผ่านกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่ชื่อ Calibra ได้ทันทีและที่สำคัญ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) กล่าวว่า จะมีหน่วยงานกำกับดูแลควบคุมการทุจริตถึงขนาดที่ว่า ถ้าเราถูกขโมยเงินใน Calibra ระบบจะมีการ refund หรือคืนเงินให้ด้วย
สิ่งที่จะทำให้โครงการนี้สำเร็จได้จะประกอบไปด้วย 3 เรื่องที่สำคัญ
1. Libra จะถูกสร้างอยู่บน Blockchain ที่มีความน่าเชื่อถือ ปลอดภัย และสามารถรองรับผู้ใช้งานเป็นจำนวนมากระดับพันล้านคนได้
2. Libra จะถูกค้ำโดยเงินสำรอง ซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่มีอยู่จริง โดยไม่ได้อิงจากเพียงสกุลเงินเดียว แต่เป็นตะกร้าของสกุลเงินประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก เช่น เงินฝากธนาคาร และ พันธบัตรรัฐบาล เพื่อทำให้เกิดมูลค่าในตัวมันเอง (Intrinsic Value)
3. Libra จะถูกกำกับดูแลโดย หน่วยงานอิสระชื่อ Libra Association ผ่าน Founding Members ในหลายกลุ่มธุรกิจ โดยตอนแรกจะเริ่มจาก 27 หน่วยงาน
มุมมองของผู้ใช้งาน
ในมุมมองของผู้ใช้อย่างเรามอง 3 มุมหลัก ๆ คือ 1.เป็นระบบที่ใช้ง่าย 2.มีค่าธรรมเนียมในการแลกเปลี่ยนที่ต่ำ 3.ใช้งานได้ทั่วโลก
ภาพที่ 3 libra
ที่มา https://pixabay.com ,Gerd Altmann
อย่างไรก็ตามมีสิ่งที่หลายหน่วยงานกังวลเกี่ยวกับสกุลใหม่จาก Facebook ตัวนี้ในหลายด้าน เช่น ทำให้รัฐไม่สามารถควบคุมการค้าและการจ่ายภาษีได้ง่ายเหมือนเก่า ซึ่งตัวอย่างง่ายๆก็ Facebook เอง เปิดใช้งานที่ไทยแต่รายได้ไหลออก ภาษีแทบไม่เสีย นั่นก็เป็นเพราะ Internet ทำให้การใช้งานบริการอย่าง Social Network นี้จากที่ไหนก็ได้ ให้เราส่ง Content กันได้อย่างอิสระนั่นเอง การเข้ามากำกับดูแลเลยยากตามมาด้วย เป็นผลให้ธุรกิจ e-commerce ในไทยที่ทำอย่างถูกต้องจะเกิดความเสียหายครั้งใหญ่ เพราะร้านค้าเลือกที่จะไปใช้ Facebook ค้าขายแทน เพราะสามารถเลี่ยงภาษีผ่านช่องทางนี้ ธนาคารและ e-Payment ต่าง ๆ จะหายไปเพราะระบบ Libra เข้ามาแทน เราอาจได้เห็นบริษัททางการเงินเข้าสู่ขาลงจำนวนมากจากการรุกรานของบริษัทเทคโนโลยี หรือแม้กระทั่งประธานาธิบดีสหรัฐ ดอนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) เองยังกล่าวว่า ถ้าไม่มีการควบคุม “เงินดิจิทัล” พวกนี้ก็จะเป็นได้แค่เครื่องอำนวยความสะดวกให้กับเหล่าสิ่งผิดกฎหมายหรือยาเสพติดเท่านั้น (Unregulated Crypto Assets can facilitate unlawful behavior, including drug trade and other illegal activity)
แหล่งที่มา
เฮียขาว วินสีลม. (2562, กรกฎาคม 14). LIBRA เงินดิจิทัล ฝันกลางวันของคนโลกสวย. สืบค้นเมื่อ 15 สิงหาคม 2562. จาก https://www.share2trade.com/?mod=talk&file=view&id=2442