น้ำตาทำหน้าที่หล่อลื่นไม่ให้เยื่อบุตาแห้ง ลดการเสียดสีขณะกระพริบตา ชะล้างฝุ่นละอองและสิ่งแปลกปลอมต่างๆ ที่อาจก่อให้เกิดความระคายเคืองให้กับดวงตา
“ระบบทางระบายของน้ำตา”ในสภาวะปกติน้ำตาที่ผลิตออกมาหล่อลื่นดวงตาจะไหลระบายออกไปทางท่อน้ำตาเล็กๆ ที่มีอยู่บริเวณหัวตา ตรงรอบเปลือกตาบนและขอบเปลือกตาล่างด้านใน โดย 2 รูนี้จะรวมกันเป็นท่อเดียวเพื่อเชื่อมต่อกับถุงน้ำตาผ่านลงมาภายในกระดูกโหนกแก้มจนมาเปิดภายในจมูกและไหลผ่านลงคอตามลำดับ
หากระบบการสร้างและระบบทางระบายของน้ำตาทำงานผิดปกติก็จะส่งผลให้เกิดความไม่สบายตาต่างๆขึ้นได้ เช่น เคืองตา แสบตา น้ำตาไหลคลอ และที่สำคัญที่สุดคงจะหนีไม่พ้นในเรื่องของ“อาการตาแห้ง”
อาการทางตาที่เกิดจากความผิดปกติของระบบต่อมน้ำตาที่พบได้บ่อยมี 2 ลักษณะ คือ
- มีน้ำตาน้อยเกินไป ได้แก่ ภาวะอาการตาแห้ง พบได้ร้อยละ 70-80 เปอร์เซ็นต์ ของผู้ป่วยที่มีความผิดปกติด้านระบบต่อมน้ำตา
- มีน้ำตามากเกินไป มีสาเหตุมาจากภาวะท่อน้ำตาอุดตัน (nasolacrimal duct obstruction)
อาการตาแห้งนั้นได้จากหลายสาเหตุ ส่วนใหญ่มักจะไม่พบสาเหตุที่ชัดเจน ส่วนใหญ่พบจากสาเหตุร่วมกันดังนี้
- ความเสื่อมของต่อมน้ำตาตามวัย ซึ่งจะทำให้การสร้างน้ำตาค่อยๆ ลดลงเอง
- ความไม่สมดุลของฮอร์โมนในร่างกาย โดยเฉพาะในเพศหญิงในวัยหลังหมดประจำเดือน
- การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาแก้แพ้ ยาลดสิว เป็นต้น
- การผ่าตัดดวงตาหรือการทำเลสิก
- การใส่คอนแทคเลนส์
- สภาพแวดล้อมที่มีแต่มลพิษ ทำให้เกิดการอักเสบดวงตาและเกิดอาการตาแห้งตามมา
- พฤติกรรมการใช้ชีวิตผู้คนในปัจจุบัน เช่น การจ้องคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟนเป็นเวลานานๆ
- ผู้ป่วยที่เป็นโรค Sjogren’s syndromeเป็นโรคทางระบบภูมิคุ้มกันแบบเรื้อรังที่ทำให้เกิดการทำลายต่อมที่ทำหน้าที่สร้างความชุ่มชื้นให้กับดวงตาและปาก
วิธีการดูแลรักษาอาการตาแห้งมีหลายวิธีที่สามารถปฏิบัติด้วยตัวเองได้ง่ายๆ รวมถึงการพบจักษุแพทย์เป็นประจำ
1. ลดการระเหยของน้ำตาให้น้อยลง ซึ่งเป็นวิธีที่ง่ายและได้ผลดี คือหลีกเลี่ยงการปะทะโดยตรงกับแสงแดดและลม สวมแว่นกันแดดเมื่ออยู่กลางแจ้ง ไม่นั่งในที่ที่มีลมพัดหรือลมแอร์เป่าใส่ดวงตา
2. กระพริบตาถี่ ๆ
ในภาวะปกติคนเราจะกระพริบตานาทีละ 20-22 ครั้ง ทุกครั้งที่กระพริบตา เปลือกตาจะรีดผิว
น้ำตาให้มาฉาบผิวกระจกตา แต่ถ้าในขณะที่จ้องหรือเพ่ง ตาจะลืมค้างไว้นานกว่าปกติ ทำให้กระพริบตา
เพียง 8-10 ครั้ง น้ำตาก็จะระเหยออกไปมาก ทำให้ตาแห้งเพิ่มขึ้น จึงควรพักสายตาโดยการหลับตา กระพริบตา ทุกๆ 10 – 15 นาที หรือลุกขึ้นเปลี่ยนอิริยาบถ ประมาณ 2-3 นาที ในทุกครึ่งชั่วโมง
3. ใช้กรอบแว่นตาชนิดพิเศษ
สำหรับผู้ที่ตาแห้งมาก อาจใช้กรอบแว่นชนิดพิเศษที่มีแผ่นคลุมปิดกันลมด้านข้างของแว่นตา แว่นชนิดนี้จะช่วยครอบทั้งดวงตาและป้องกันลม หรือจะใช้แผ่นซิลิโคนชนิดพิเศษที่มีลักษณะบางใส
และนุ่ม นำมาตัดให้เข้ารูปและติดเข้ากับด้านข้างของกรอบแว่นตาคู่เดิม ซึ่งเรียกว่า Moist Chamber
4. ใส่คอนแทคเลนส์ให้น้อยลง หากพบว่าตาแห้งมากควรงดใส่คอนแทคเลนส์
5. นอนพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้ร่างการสามารถผลิตน้ำตาได้เต็มที่
6. ใช้น้ำตาเทียม
– น้ำตาเทียมคือยาหยอดตาที่ใช้เพื่อหล่อลื่นและให้ความชุ่มชื้นกับผู้ที่ตาแห้ง
น้ำตาเทียม มี 2 ชนิด คือ
– น้ำตาเทียมชนิดน้ำ เหมาะที่จะใช้ในเวลากลางวัน เพราะไม่เหนียวเหนอะหนะและไม่ทำให้ตามัว แต่ต้องหยอดตาบ่อย
– น้ำตาเทียมชนิดเจลและขี้ผึ้ง มีลักษณะเหนียวหนืด หล่อลื่นและคงความชุ่มชื้นได้นานกว่าชนิดน้ำ แต่จะทำให้ตามัวชั่วขณะหลังป้ายยา จึงควรใช้ป้ายตาแต่น้อยและควรใช้ก่อนเข้านอน
การรักษาด้วยวิธีใช้น้ำตาเทียม เวลาในการหยอดตาจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการตาแห้ง หากวันใดไม่ถูกแสงแดดหรือลม และรู้สึกสบายตาก็ไม่จำเป็นต้องหยอด แต่ถ้ารู้สึกเคืองตามาก ก็สามารถหยอดบ่อยๆได้ตามต้องการ
ข้อควรระวังในการใช้น้ำตาเทียม
ผู้ป่วยที่ตาแห้งน้อย หยอดตาไม่เกินวันละ 4-5 ครั้ง สามารถใช้ยาหยอดตาชนิดขวดที่มีสารกันบูดได้ แต่กรณีผู้ป่วยที่ตาแห้งมาก และหยอดตามากกว่าวันละ 6 ครั้ง จักษุแพทย์จะสั่งน้ำตาเทียมชนิดพิเศษที่ไม่มีสารกันบูด (Preservative-Free Tear) ให้ใช้แทน ซึ่งมีข้อจำกัดก็คือ ยาจะบรรจุในหลอดเล็กเมื่อเปิดใช้แล้วต้องใช้ให้หมดภายใน 12 – 16 ชั่วโมง หากใช้นานกว่านี้อาจเกิดการปนเปื้อนของเชื้อโรคได้
7. อุดรูระบายน้ำตา
สำหรับผู้ที่มีอาการตาแห้งอย่างรุนแรง จักษุแพทย์จะใช้วิธีอุดรูระบายน้ำตาเพื่อขังน้ำตาที่มีอยู่ให้หล่อเลี้ยงตาอยู่ได้นานๆ ไม่ปล่อยให้ไหลทิ้งไป เหมือนกับการสร้างเขื่อนกั้นน้ำเพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้
การอุดรูระบายน้ำตา มี 2 แบบ คือ แบบชั่วคราว และ แบบถาวร สำหรับการอุดแบบชั่วคราว จักษุแพทย์จะสอดคอลลาเจนขนาดเล็กเข้าไปในรูท่อน้ำตา ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกสบายตาขึ้น โดยคอลลาเจนจะสลายไปเอง ภายใน 3 สัปดาห์ สำหรับผู้ป่วยที่มีน้ำตาแห้งมาก จักษุแพทย์จะอุดรูระบายน้ำตาแบบถาวรให้ ทั้งนี้ จะใช้แบบใดนั้น ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย
ขอบคุณข้อมูล https://www.rutnin.com/
และขอบคุณข้อมูลจาก : บริษัทนำศิลป์ไทย
และ https://www.rutnin.com