โรคไขมันในเลือดสูง
เป็นภาวะที่ร่างกายมีระดับไขมันในเลือดสูงกว่าปกติ อาจเป็นระดับโคเลสเตอรอลสูงหรือระดับไตรกลีเซอร์ไรด์สูงอย่างใดอย่างหนึ่งหรือสูงทั้งสองชนิดก็ได้ ภาวะไขมันในเลือดสูงสามารถทำให้หลอดเลือดแข็ง ตีบ อุดตัน ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด
สาเหตุของการเกิดภาวะไขมันในเลือดสูง
1. ภาวะอ้วนหรือน้ำหนักเกิน
2. ขาดการออกกำลังกายสม่ำเสมอ
3. การดื่มสุราหรือสูบบุหรี่เป็นประจำ
4. รับประทานอาหารที่มีไขมันโคเลสเตอรอลสูง หรือรับประทานอาหารมากเกินความจำเป็นของร่างกาย
5. โรคหรือการใช้ยาบางชนิด เช่น โรคไทรอยด์ทำงานน้อยกว่าปกติ โรคเบาหวาน โรคไต ยาขับปัสสาวะ ยาสเตียรอยด์ ยาคุมกำเนิด เป็นต้น
6. พันธุกรรม
ไขมันในเลือดที่สำคัญ
1. ไตรกลีเซอร์ไรด์ ร่างกายสามารถสร้างขึ้นเองจาก น้ำตาล แป้ง แอลกอฮอล์ และส่วนหนึ่งได้รับจากอาหารที่รับประทานมาก สามารถทำให้หลอดเลือดอุดตันได้
2. โคเลสเตอรอล ร่างกายสามารถสร้างขึ้นเองและส่วนหนึ่งได้รับจากอาหาร แหล่งโคเลสเตอรอลในอาหารพบมากใน ไข่แดง ปลาหมึก หอยนางรม เครื่องในสัตว์ นม เนย แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ
2.1 โคเลสเตอรอลชนิดร้าย (แอล ดี แอลโคเลสเตอรอล / LDL) หากมีระดับสูงเกินไปจะไปสะสมที่เยื่อบุด้านในของหลอดเลือดแดง ทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดแข็ง ตีบ หรืออุดตัน
2.2 โคเลสเตอรอลชนิดดี (เอช ดี แอลโคเลสรอล / HDL) เป็นชนิดที่มีประโยชน์ ทำหน้าที่นำโคเลสเตอรอลที่เหลือไปทำลายที่ตับ ป้องกันการเกิดภาวะเลือดแดงแข็ง
ความสัมพันธ์ของอาหารกับการเปลี่ยนแปลงของไขมันในเลือด
พฤติกรรมการบริโภคอาหารมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงไขมันในเลือด ได้แก่
1.ปริมาณโคเลสเตอรอล การรับประทานอาหารที่มีโคเลสเตอรอลสูงจะทำ ให้ระดับของ LDL โคเลสเตอรอล และโคเลสเตอรอลรวมเพิ่มขึ้น ดังนั้น ถ้าลดการรับประทานอาหาร
ที่มีโคเลสเตอรอลลง จะทำ ให้ระดับ LDL โคเลสเตอรอลและโคเลสเตอรอลรวมลดลง
ปริมาณโคเลสเตอรอลในอาหาร น้ำหนัก 100 กรัม( 1 ขีด)
ชนิดอาหาร |
โคเลสเตอรอล
(มิลลิกรัม) |
ชนิดอาหาร |
โคเลสเตอรอล (มิลลิกรัม) |
นมพร่องมันเนย |
20 |
เบคอน |
67 |
นมสด |
24 |
ไส้กรอกหมู |
83 |
ไอศกรีม |
40 |
เนื้อไก่,เป็ด |
60-90 |
โดนัท |
37 |
เนื้อหมูไม่ติดมัน |
70-90 |
ครัวซอง |
75 |
ซี่โครงหมู |
105 |
คุกกี้เนย |
117 |
หนังไก่ |
109 |
เนยแข็ง |
140 |
ตับหมู |
355-420 |
เค็กเนย |
221 |
เนื้อกุ้ง |
150-200 |
ปลากระพง |
37-41 |
หอยแครง,แมลงภู่ |
454 |
ปลาทู |
47 |
ไข่ไก่ 1 ฟอง |
504-548 |
ปลาเล็กปลาน้อย |
60 |
ไข่ขาว |
0 |
ปลาอินทรีย์ |
76 |
ไข่แดงล้วน(ไข่ไก่) |
1480-1602 |
ปลาหมึกกล้วย |
233 |
สมองหมู |
2552 |
2. ปริมาณและชนิดของกรดไขมันที่บริโภค การรับประทานไขมันอิ่มตัวและโคเลสเตอรอลมาก ทำให้ LDL สูงขึ้น นอกจากนี้ ไขมันจากมะพร้าวจะทำ ให้ตับสังเคราะห์โคเลสเตอรอล และ LDL เพิ่มขึ้น
แต่ไขมันชนิด Medium-chain triglyceride จะไม่เพิ่มโคเลสเตอรอล กรดไขมันกลุ่ม Polyunsaturated fatty acid หรือ Omega-6 จะช่วยลดระดับ LDL ได้ แหล่งของไขมันกลุ่มนี้พบได้ในน้ำมันพืช เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันรำข้าว น้ำมันเมล็ดทานตะวัน น้ำมันข้าวโพด น้ำมันมะกอก น้ำมันคาโนลา เป็นต้น และ Omega-3 เป็นกรดไขมันที่พบได้จากสาหร่าย ปลาทะเล หอย และนํ้ามันปลาจะช่วยลด LDL ได้ ถ้ามีความเข้มข้นมากพอ (อย่างน้อย๘-๑๖ กรัม หรือ ปริมาณนํ้ามันปลา ๖-๓๐ % ของพลังงานที่รับประทานทั้งวัน)
3. ชนิดของอาหาร ผู้ที่รับประทานอาหารไขมันน้อย แต่รับคาร์โบไฮเดรต และใยอาหารมากจะมีโอกาสเกิดหลอดเลือดอุดตันน้อยแต่ต้องมีนํ้าตาลไม่เกิน ๑๐-๑๕ % ของพลังงานทั้งวันและรับประทานใยอาหารอย่างน้อย ๑๗ กรัม /๒๐๐๐ แคลอรี่ การได้รับอาหารที่มีพลังงานสูงและความอ้วนทำ ให้ระดับโคเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์สูงแต่การได้รับโปรตีนที่ไม่มีไขมันไม่มีผลต่อการเพิ่มของไขมันในเลือด
การควบคุมระดับไขมันในเลือด
1. การควบคุมอาหาร การรับประทานอาหารที่ถูกหลักโภชนาการ เป็นรากฐานสำคัญของการป้องกัน และรักษาภาวะไขมันสูงในเลือด
1.1 หลีกเลี่ยงอาหารพวกเนื้อสัตว์ที่ติดมัน เครื่องในสัตว์ หนังเป็ด หนังไก่ ไข่แดง ไส้กรอก กุนเชียง แฮม เบคอน หมูยอ แคบหมู อาหารทะเลบางชนิด เช่น กุ้งชนิดต่าง ๆ หอยนางรมปลาหมึกสด ปลาหมึกแห้ง ผลิตภัณฑ์จากนม เช่น เนย ครีม เนยแข็ง ขนมหวานที่มีส่วนประกอบของน้ำตาล และกะทิหรือมะพร้าว ขนมที่มีไขมันแฝงอยู่ เช่น ขนมขบเคี้ยว ขนมกินเล่น ขนมเบเกอรี่ เช่น โดนัท เค้กหน้าครีม คุกกี้ ไอศกรีม
1.2 หลีกเลี่ยงอาหารที่ปรุงด้วยน้ำมัน อาหารทอด เช่น ไก่ชุปแป้งทอด กล้วยทอด ปาท่องโก๋ อาหารพวกแกงกะทิ หลนกะทิต่าง ๆ
1.3 หลีกเลี่ยงน้ำมันที่มีกรดไขมันอิ่มตัวสูง เช่น น้ำมันมะพร้าว และไขมันที่ได้จากสัตว์ เช่น เนย มันหมู มันวัว มันไก่ เพราะน้ำมันเหล่านี้มีกรดไขมันอิ่มตัวสูง ให้เลือกใช้น้ำมันพืชปรุงอาหารแทนน้ำมันสัตว์
1.4 พยายามปรุงอาหารโดยใช้ต้ม นึ่ง ย่าง อบ แทนการทอด หรือผัด เลือกอาหารประเภทต้ม ต้มยำ แกงส้ม ยำ (ต้องไม่มีกะทิเป็นส่วนประกอบ) ใช้ไขมันจากพืชในการประกอบอาหาร เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันดอกคำฝอย น้ำมันมะกอก น้ำมันข้าวโพด น้ำมันรำ ประกอบอาหาร น้ำมันดอกทานตะวัน ซึ่งเป็นน้ำมันที่จะช่วยลดโคเลสเตอรอลและไตรกลีเซอร์ไรด์ได้
1.5 เลือกดื่มนมพร่องมันเนยหรือนมขาดมันเนย แทนนมที่มีไขมันเต็มส่วน
1.6 เลือกรับประทานเนื้อปลา เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน โดยแยกเอาไขมันและหนังออกให้หมด ถั่วเมล็ดแห้ง ข้าวที่ไม่ขัดสีมาก ผักสดหลากหลายสีชนิดต่าง ๆ วันละ 4-5 ถ้วยตวง พืชสมุนไพร เครื่องเทศ ธัญพืชไม่ขัดสี วันละ 3 ถ้วยตวง ผลไม้ไม่หวานหลายชนิด วันละ4 ผล (ขนาดกลาง) เช่น ฝรั่ง ส้ม แอบเปิ้ล ชมพู่ กล้วย ฯลฯ
1.7 บริโภคปลาทะเล สัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง (ประมาณ 240 กรัมสุก)เพื่อเป็นการลดเนื้อสัตว์ใหญ่ ซึ่งมีกรดไขมันอิ่มตัวสูง ปลาทะเลมีน้ำมันปลา หรือกรดโอเมก้า 3 ช่วยลดการจับตัวของเกล็ดเลือด ลดความดันโลหิต และลดไตรกลีเซอร์ไรด์ได้ ข้อแนะนำในการกินปลาคือ ไม่ควรทอด เพราะจะสูญเสียน้ำมันปลาไปกับการทอด ปลาทะเลที่มีโอเมก้า3สูง เช่น ปลาทู ปลาโอ ปลากะพง ปลาทูน่า ปลาแซลมอน
2. การออกกำลังกาย การออกกำลังกายอย่างพอเหมาะและสม่ำเสมอ นอกจากจะทำให้ร่างกายแข็งแรงแล้ว ยังช่วยลดระดับ แอล ดี แอล โคเลสเตอรอล และเพิ่มระดับ เอช ดี แอล โคเลสเตอรอล
3. การใช้ยาลดระดับไขมันในเลือด ในกรณีที่การควบคุมอาหาร และการออกกำลังกาย ไม่สามารถลดระดับไขมันในเลือดถึงระดับที่ต้องการ จำเป็นต้องพิจารณาการใช้ยาลดระดับไขมันในเลือดร่วมด้วย ทั้งนี้ควรอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์เป็นผู้สั่งการ และติดตามการรักษาต่อไป