โรคไข้เลือดอออก
โรคไข้เลือดออกเกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี พบระบาดเป็นครั้งแรกในประเทศฟิลิปปินส์ ในปี พศ. 2497 จากนั้นพบมีการระบาดครั้งแรกในประเทศไทย ในปี พศ. 2501 โดยมีรายงานผู้ป่วย 2,158 ราย เสียชีวิตร้อยละ 13.90 และจะระบาดทุกปีในช่วงฤดูฝน คือ ช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกันยายน ในแต่ละปีจะมีผู้ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกเป็นจำนวนมากและมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ แต่อัตราการเสียชีวิตน้อยลงอย่างชัดเจนในปัจจุบัน
สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ได้รับรายงานผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกจากสำนักงานสาธารณสุข
จังหวัด และสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2548 รวมทั้งสิ้น 7,215 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 11.64 ต่อประชากรแสนคน เสียชีวิต 12 ราย คิดเป็นอัตราเสียชีวิตร้อยละ 0.17
ยุงลาย พาหะร้ายในบ้าน
ยุงลายที่เป็นพาหะนำโรคไข้เลือดออก มี 2 ชนิด คือ
- ยุงลายบ้าน ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในบริเวณบ้าน เพาะพันธุ์ตามภาชนะน้ำใส นิ่ง ยุงลายชนิดนี้จึงเป็นพาหะหลักในการนำโรคในเมืองใหญ่ และเป็นปัญหาสำคัญของการระบาด
- ยุงลายสวน ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในป่า สวน เพาะพันธุ์ตามต้นไม้ ใบไม้ ตอไม้ที่มีน้ำฝนตกค้างขังอยู่
ไข้เลือดออกสายพันธุ์ใหม่ มีจริงหรือไม่
โรคไข้เลือดออกมี 4 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์ ที่ 1, 2, 3 และ 4 ซึ่งอาจพบได้ทั้ง 4 สายพันธุ์ และส่วนใหญ่ทุกปีจะพบสายพันธุ์ที่ 1 และ 3 มากกว่า แต่ปีนี้พบสายพันธุ์ที่ 4 มาเป็นอันดับ 1 ซึ่งส่วนใหญ่เด็กที่ติดเชื้อไวรัสเดงกีจะไม่มีอาการ หรืออาการไม่รุนแรงโดยเฉพาะถ้าเป็นการติดเชื้อครั้งแรก แต่หากเป็นการติดเชื้อครั้งที่ 2 อาจเป็นไข้เลือดออกที่รุนแรงได้จากทุกสายพันธุ์ แต่ยังไม่มีรายงานสายพันธุ์ใหม่ในประเทศไทย
ไข้เลือดออกติดต่อได้อย่างไร
เป็นโรคติดต่อที่มียุงลายเป็นพาหะนำโรค ยุงลายจะได้รับเชื้อไวรัสเดงกีจากคนที่ป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกและแพร่ไปสู่คนอื่น ๆ ผู้ที่ได้รับเชื้อส่วนใหญ่เป็นเด็กที่มีอายุ ต่ำกว่า 15 ปี ยุงลายจะออกหากินในตอนกลางวัน มักหลบซ่อนตัวในที่มืด อาศัยและวางไข่ทั่วไปในที่ๆมีน้ำขังในชุมชน แหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลายจะอยู่ตามโอ่งน้ำ ภาชนะกักเก็บน้ำในห้องน้ำ จานรองกระถางต้นไม้ ยาง รถยนต์เก่า กระป๋อง กะลา เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีรายงานทารกแรกเกิดติดเชื้อไวรัสเดงกีจากมารดาตั้งแต่อยู่ในครรภ์
โตแล้ว/เคยเป็นแล้ว จะเป็นไข้เลือดออกอีกได้หรือไม่
แม้ว่าผู้ป่วยไข้เลือดออกจะเป็นผู้ป่วยเด็กอายุน้อยกว่า 15 ปีเป็นส่วนใหญ่ (ประมาณร้อยละ 70)โดยกลุ่มอายุที่พบมากที่สุด ได้แก่เด็กอายุ 5-14 ปี อย่างไรก็ตามมีรายงานผู้ป่วยไข้เลือดออกตั้งแต่อายุ 1 วันจนกระทั่งอายุมากกว่า 65 ปี หลังหายจากไข้เลือกออกแล้วจะมีภูมิคุ้มกันไม่ให้เป็นไข้เลือดออกทั้ง4 สายพันธุ์ประมาณ 1 ปี หลังจากนั้นภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์ที่เป็นจะมีอยู่ตลอดไป ส่วนภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์อื่นจะหมดไปหลังจาก 1ปี หากมีการติดเชื้อครั้งที่ 2 จากสายพันธุ์ที่ต่างไปจากครั้งแรก อาจเป็นไข้เลือดออกที่รุนแรงได้
ข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลกเรื่องวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก
องค์การอนามัยโลกให้ข้อแนะนำที่สำคัญว่า หากประเทศใดต้องการนำวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก มาใช้ในระดับประเทศ ควรพิจารณาใช้วัคซีนในพื้นที่ที่มีการเกิดโรคสูง ทั้งนี้ประเทศจะได้รับประโยชน์ จากวัคซีนสูงสุด หากความชุกต่อการติดเชื้อไวรัสเดงกี่และอยู่ในระดับมากกว่าร้อยละ 70 แต่หากความชุก อยู่ในระดับต่ำกว่าร้อยละ 50 แล้ว ไม่ควรนำวัคซีนมาใช้ทั่วไป นอกจากนี้ องค์การอนามัยโลก ยังได้เน้นย้ำว่า การใช้วัคซีนป้องกันไข้เลือดออกนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของมาตรการป้องกันโรค ไข้เลือดออกแบบองค์รวม กล่าวคือ ประเทศยังคงต้องเร่งรัดมาตรการควบคุมกำจัดลูกน้ำยุงลายและยุงตัวแก่ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อให้สามารถป้องกันประชาชนจากการป่วยและเสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออกได้อย่างแท้จริง
ให้สังเกตอาการที่สำคัญคือ
- ไข้สูงลอยพบว่าอาการไข้จะสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและไม่ค่อยลดลง
- ปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร
- หน้าแดง อาจพบจุดเลือดที่ผิวหนังเจ็บชายโครงด้านขวา
- มักไม่มีอาการไอ ไม่มีน้ำมูกซึ่งเป็นข้อแตกต่างจากการเป็นหวัดที่จะมีน้ำมูกร่วมด้วย เว้นแต่จะเป็นไข้ทั้งสองชนิดในเวลาเดียวกัน
ข้อแนะนำของกรมควบคุมโรคเกี่ยวกับวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก
กรมควบคุมโรค ภายใต้ข้อแนะนำจากคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค เล็งเห็นว่าวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกเป็นความหวังที่สำคัญในการป้องกันโรคไข้เลือดออกของประเทศไทย แต่เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนการพิจารณานำวัคซีนดังกล่าวมาใช้ในเชิงสาธารณะ หรือในแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพิจารณาอย่างรอบด้าน โดยใช้ข้อมูลความชุกต่อการติดเชื้อไวรัสเดงกี่ในประชากรไทยกลุ่มอายุต่างๆ อยู่ก่อนแล้ว มาประกอบการพิจารณาเพื่อหากลุ่มอายุที่เหมาะสมแก่การให้บริการวัคซีน โดยในขณะนี้กรมควบคุมโรคอยู่ระหว่างการศึกษาข้อมูลดังกล่าว นอกจากนี้ ต้องพิจารณาถึงความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ในภาพรวมของประเทศ และผลกระทบเชิงงบประมาณที่จะเกิดขึ้นเมื่อนำวัคซีนมาใช้ด้วย อย่างไรก็ดี หากประชาชนสนใจที่จะได้รับวัคซีนดังกล่าวอาจขอคำปรึกษาจากแพทย์ และพิจารณาถึงประโยชน์ที่จะได้รับว่าคุ้มค่าหรือไม่ ก่อนตัดสินใจรับวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก
ขอบคุณข้อมูล https://www.pidst.or.th/
https://www.samitivejhospitals.com/
และ https://www.si.mahidol.ac.th/