ความจำของมนุษย์เกิดขึ้นในหลายๆ ส่วนของสมองภายในคราวเดียว แต่ความจำบางประเภทกลับคงอยู่คู่กับเราตราบนานเท่านาน
มนุษย์เก็บความทรงจำประเภทต่างๆ สำหรับช่วงเวลาซึ่งแตกต่างกันไป ความทรงจำระยะสั้นคงอยู่ได้เพียงไม่กี่วินาทีจนถึงชั่วโมง ขณะที่ความทรงจำระยะยาวอยู่กับเราไปนานหลายปี นอกจากนี้ เรายังมี ความจำเพื่อใช้งาน (Working memory) อีกเช่นกัน ซึ่งมันช่วยให้เราเก็บข้อมูลเอาไว้ภายในใจด้วยเวลาจำกัดโดยการเน้นย้ำ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อไรก็ตามที่เรากำลังจดจำหมายเลขโทรศัพท์ของใครสักคน เราจึงพยายามพูดกับตัวเองซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยกระบวนการเหล่านี้ถือเป็นช่วงที่ ความจำเพื่อใช้งาน กำลังประมวลอยู่
นอกจากนี้ การจัดหมวดหมู่ของความทรงจำสามารถจำแนกได้โดยแบ่งออกตามประเด็นของหน่วยความจำ ประเภทแรกคือ ความจำเชิงประกาศ (Declarative memory) หรือเรียกกันอีกชื่อว่า ความจำชัดแจ้ง (Explicit memory) อันประกอบไปด้วยความทรงจำหลากหลายประเภทที่จดจําในจิตสํานึก ซึ่งบางส่วนเป็น “ความรู้ทั่วไป” เช่น เมืองหลวงของประเทศอังกฤษคือ กรุงลอนดอน จำนวนไพ่ในสำรับมาตรฐานคือ 52 ใบ และเหตุการณ์ในอดีตที่คุณเคยพบเจอมาก่อน เช่น งานเลี้ยงฉลองวันเกิดในวัยเด็ก เป็นต้น
ประเภทต่อมาคือ ความจำเชิงไม่ประกาศ (Nondeclarative memory) หรือ ความจำโดยปริยาย (Implicit memory) ซึ่งความทรงจำเช่นนี้มักสร้างขึ้นมาช่วงที่เราไม่รู้ตัว รวมไปถึง ความจำเชิงกระบวนวิธี (Procedural memory) อันเป็นกระบวนการของร่างกายที่ใช้เพื่อจดจำทักษะจากสิ่งซึ่งเคยเรียนรู้มา กระบวนการเช่นนี้ถูกนำมาใช้ในยามที่เราเล่นเครื่องดนตรีหรือการปั่นจักรยาน นอกจากนี้ ความจำเชิงไม่ประกาศ ยังสามารถกำหนดรูปแบบการตอบสนองของร่างกายซึ่งเราไม่สามารถควบคุมได้ เช่น อาการน้ำลายไหลเมื่อเห็นอาหารโปรด หรืออาการเกร็งเมื่อตกอยู่ในสภาวะคับขัน
ภาวะสูญเสียความทรงจำ
หากต้องการทำความเข้าใจเรื่องที่ว่า เราสามารถจดจำสิ่งต่างๆ ได้อย่างไร? ถือเป็นตัวช่วยสำคัญควบคู่ไปกับการศึกษาในหัวข้อ เพราะเหตุใดเราถึงลืมเลือน? กระนั้นเองเป็นสาเหตุให้นักประสาทวิทยาศาสตร์เริ่มค้นคว้าหาคำตอบเกี่ยวกับโรคความจำเสื่อม ซึ่งมักเป็นผลมาจากสมองได้รับบาดเจ็บ เช่น อาการบาดเจ็บที่ศีรษะ โรคหลอดเลือดสมอง เนื้องอกในสมอง หรือโรคพิษสุราเรื้อรัง
โรคความจำเสื่อมแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก
ประเภทที่ 1 คือ ภาวะสูญเสียความทรงจำย้อนหลัง (Retrograde amnesia) มักเกิดขึ้นเมื่อสมองเกิดการกระทบกระเทือน ส่งผลให้คุณหลงลืมเรื่องราวต่างๆ ก่อนหน้านี้แทบทั้งสิ้น
ประเภทที่ 2 คือ ภาวะสูญเสียความทรงจำแบบไปข้างหน้า (Anterograde amnesia) เกิดขึ้นช่วงที่สมองได้รับบาดเจ็บ อันนำไปสู่ความไร้ประสิทธิภาพในการจดจำเรื่องราวใหม่ๆ
กรณีศึกษาตัวอย่างอันโด่งดังเกี่ยวกับภาวะสูญเสียความทรงจำแบบไปข้างหน้า คือ ในปี 1953 Henry Molaison เป็นผู้เข้ารับการผ่าตัดสมองกลีบขมับด้านในออกทั้งสองข้างเพื่อบำบัดโรคลมชัก (Epilepsy) ด้วยเหตุนี้ทำให้ Molaison ไม่สามารถสร้างความทรงจำใหม่ได้ บรรดาเพื่อนร่วมงานที่ทำงานร่วมกับเขามานานหลายสิบปีจึงต้องแนะนำตัวทุกครั้งเมื่อเจอชายผู้นี้
คงไม่มีส่วนใดในสมองที่สามารถเก็บความทรงจำได้ทั้งหมด เพราะแต่ละพื้นที่ต่างมีส่วนช่วยสร้างและเก็บความทรงจำแตกต่างกันไป ยกตัวอย่างเช่น การตอบสนองทางอารมณ์อย่างความกลัว ซึ่งถูกกักเก็บอยู่ในบริเวณของสมองที่เรียกว่า อะมิกดาลา (Amygdala) ส่วน ฮิปโปแคมปัส (Hippocampus) มีบทบาทสำคัญในการสร้าง รักษา และระลึกถึงความจำเชิงประกาศ และกรณีของ Molaison ส่วนของสมองที่ได้รับการผ่าตัดคือ สมองใหญ่กลีบขมับ (Temporal lobe) อันมีหน้าที่สร้างและหวนนึกถึงความทรงจำเก่าๆ เป็นต้น
ขอบขอบคุณแหล่งข้อมูล
ความทรงจำคืออะไร? ไขความลับการทำงานของสมอง ถอดรหัสความทรงจำของมนุษย์