การตรวจวินิจฉัยซึ่งมีที่มาจากชื่อของรังสีที่ใช้ในการตรวจ นั่นก็คือรังสี X โดยรังสีดังกล่าวมีลักษณะเป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ทั้งนี้การเอกซเรย์จะช่วยให้เห็นภาพของอวัยวะภายในในรูปแบบของภาพขาวดำที่มีปริมาณความเข้มที่ต่างกัน การเอกซเรย์ส่วนใหญ่มักจะใช้ในการตรวจดูความผิดปกติของกระดูกส่วนต่าง ๆ ช่องท้อง และทรวงอก เป็นต้น
การเอกซเรย์เป็นหนึ่งในขั้นตอนการวินิจฉัยทางการแพทย์ โดยหลังจากการซักประวัติแล้ว แพทย์อาจสั่งให้ทำการเอกซเรย์อีกครั้งเพื่อนำผลมาวินิจฉัยร่วม ซึ่งการเอกซเรย์จะมีขึ้นในกรณีดังต่อไปนี้
- กระดูกแตกหักหรือติดเชื้อ โดยส่วนใหญ่แล้วการแตกหักหรือการติดเชื้อที่กระดูกจะสามารถเห็นได้ชัดเจนผ่านภาพถ่ายเอกซเรย์
- ข้อต่ออักเสบ การเอกซเรย์จะช่วยให้เห็นร่องรอยของอาการข้อต่ออักเสบ และใช้เปรียบเทียบในกรณีอาการข้อต่ออักเสบรุนแรงขึ้น
- ใช้ในการทำทันตกรรม ในบางครั้งทันตแพทย์ก็จำเป็นต้องเอกซเรย์ฟันเพื่อใช้ในการวางแผนการรักษาทางทันตกรรม เข่น ผ่าฟันคุด จัดฟัน หรือการถอนฟัน เป็นต้น
- โรคกระดูกพรุน การเอกซเรย์จะทำให้สามารถเห็นความหนาแน่นของกระดูกในเบื้องต้น สำหรับวินิจฉัยโรคกระดูกพรุน
- โรคมะเร็งกระดูก สำหรับผู้ป่วยโรคนี้ การเอกซเรย์จะช่วยให้แพทย์มองเห็นเนื้องอกที่กระดูกได้ชัดมากขึ้น
- ปอดติดเชื้อ หรือปัญหาสุขภาพที่ปอด ร่องรอยของโรคปอดบวม วัณโรค น้ำท่วมปอด หรือมะเร็งปอด จะสามารถเห็นได้จากการเอกซเรย์ปอด
- มะเร็งเต้านม ในการเอกซเรย์เพื่อตรวจหามะเร็งเต้านม เรียกว่าการตรวจแมมโมแกรม ซึ่งการเอกซเรย์นี้จะช่วยให้มองเห็นความผิดปกติของเนื้อเนื้อที่เต้านมได้
- หัวใจโต หนึ่งในสัญญาณของภาวะหัวใจวาย ที่สามารถแสดงให้เห็นได้ผ่านการเอกซเรย์ช่องอก
- การอุดตันของหลอดเลือด ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการเอกซเรย์จะฉีดสารที่ผสมไอโอดีนเข้าไปเพื่อให้เกิดการเรืองแสงในระบบหลอดเลือด และเมื่อเอกซเรย์ก็จะทำให้เห็นระบบหลอดเลือดว่ามีการอุดตันที่ใดหรือไม่
- ปัญหาระบบขับถ่าย ผู้เชี่ยวชาญจะให้สารแบเรียมแก่ผู้ป่วยผ่านทางการดื่มหรือการสวน เพื่อทำให้เกิดการเรืองแสงและทำให้สามารถเห็นปัญหาในระบบขับถ่ายได้ชัดเจนยิ่งขึ้น เช่น ลำไส้อุดตัน เป็นต้น
- ตรวจดูสิ่งแปลกปลอม ในกรณีที่เด็กกลืนสิ่งแปลกปลอมจำพวกโลหะ การเอกซเรย์จะช่วยระบุตำแหน่งของสิ่ง ๆ นั้น เพื่อวางแผนการรักษาต่อไป
ทั้งนี้ในการเอกซเรย์ ผู้ป่วยจะต้องสวมชุดกันรังสีเพื่อป้องกันร่างกายส่วนอื่น ๆ โดยปริมาณของรังสีที่ได้รับในการเอกซเรย์จะอยู่ในปริมาณที่น้อยมาก ตัวอย่างเช่น การเอกซเรย์ทรวงอกจะทำให้ร่างกายได้รับปริมาณรังสีเทียบเท่ากับปริมาณที่ร่างกายได้รับจากธรรมชาติทั่วไปติดต่อประมาณ 10 วัน
./