ประเมินฐานะการเงิน
สิ่งที่สะท้อนฐานะทางการเงินที่แท้จริงของบุคคลไม่ใช่ สินทรัพย์ที่มีอยู่ แต่เป็น “ความมั่งคั่งสุทธิ” ซึ่งสามารถประเมินได้โดยการจัดทำบัญชีสินทรัพย์และหนี้สินแล้วนำมาคำนวณ ดังนี้ ควรจดบันทึกรายรับรายจ่ายประจำวัน ซึ่งจะช่วยให้เราเห็นพฤติกรรมทางการเงินของตนเองอย่างชัดเจนขึ้น เพราะทั้งรายได้และค่าใช้จ่ายแต่ละรายการจะถูกแจกแจงออกมา ทำให้เราตระหนักได้ว่าค่าใช้จ่ายประเภทใดสูงเกินไป หรือไม่มีความจำเป็น หรือสามารถตัดออกได้ รวมทั้งทราบว่ารายได้ทางใดน้อยเกินไป หรือสามารถหาทางเพิ่มได้อีก ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้เราสามารถวางแผนการเงินได้อย่างเหมาะสมมากขึ้น
ตั้งเป้าหมายให้ชัดเจน
ควรมีการตั้งเป้าหมายและกำหนดเวลาที่จะพิชิตเป้าหมายให้ชัดเจน รวมถึงมีการจัดลำดับความสำคัญของเป้าหมายให้สอดคล้องกับความสามารถทางการเงินในช่วงเวลานั้น ๆ เช่น หากในขณะนี้เรามีรายได้น้อยหรือภาระทางการเงินมาก ก็อาจเลื่อนเป้าหมายที่ไม่สำคัญออกไป เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่สำคัญหรือเร่งด่วนก่อน ควรนำ “สิ่งที่จำเป็นต้องมี” มากำหนดเป็นเป้าหมายก่อน “สิ่งที่อยากได้” โดยเป้าหมายที่ดี ต้องเป็นไปตามหลัก SMART
S : Specific – เฉพาะเจาะจง
M : Measurable – สามารถวัดได้
A : Achievable – บรรลุผลได้
R : Realistic – สมเหตุสมผล สอดคล้องสถานการณ์ความเป็นจริง
T : Timely – กำหนดช่วงเวลาที่ชัดเจน
จัดทำแผนการเงิน
ควรมีการจัดทำแผนการบริหารเงินและทรัพย์สินต่าง ๆ เช่น เราจะใช้จ่ายเงินอย่างไร หารายได้เพิ่มเติมจากแหล่งไหน หรือนำไปลงทุนอย่างไรเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้
โดยต้องจัดสรรระยะเวลาของแผนให้สัมพันธ์กับรายได้และภาระทางการเงิน เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายตามที่กำหนดไว้ และไม่กดดันตัวเองจนเกินไป
ดำเนินการตามแผนอย่างเคร่งครัด
สิ่งที่สำคัญที่สุดคือความมุ่งมั่นและมีวินัย เพราะหากขาดการปฏิบัติที่จริงจังและต่อเนื่อง ก็ยากที่จะบรรลุเป้าหมายได้
ตรวจสอบและปรับแผนตามสถานการณ์
ควรหมั่นตรวจสอบอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยทุก ๆ 6 เดือนว่า ทุกอย่างเป็นไปตามแผนที่วางไว้ หรือไม่หากไม่ก็ต้องหาสาเหตุว่า เกิดจากตัวเราหรือมีเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดที่ทำให้ไม่เป็นไปตามแผน แล้วปรับแผนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป หากทำเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ ก็จะทำให้เกิดวินัยทางการเงินและมีความมั่นคงทางการเงินอย่างแน่นอน
ขอบคุณข้อมูล https://www.1213.or.th/