ควันบุหรี่มีอะไร
ควันบุหรี่มือสอง คือควันบุหรี่ที่ผู้สูบพ่นออกมาทางลมหายใจผสมกับควันจากปลายมวนบุหรี่ที่กำลังเผาไหม้โดยไม่ผ่านตัวกรองสารพิษใดๆ ควันชนิดนี้ประกอบด้วยสารเคมีมากกว่า 7,000 ชนิด เป็นสารพิษนับร้อยชนิดและในจำนวนนี้ราว 70 ชนิดเป็นสารก่อมะเร็งที่สามารถปะปนอยู่ในอากาศได้นานถึง 5 ชั่วโมงโดยไม่มีกลิ่นให้รับรู้ได้เลย
สารพิษในควันบุหรี่เกิดจากการเผาไหม้ของสารเคมีที่มีอยู่ในใบยาสูบตามธรรมชาติ จากสารเคมีที่ใช้ปรุงแต่งกลิ่นและรสในกระบวนการผลิตบุหรี่ และจากกระดาษที่ใช้มวนบุหรี่ ซึ่งตัวอย่างของสารพิษเหล่านี้ ได้แก่
- เบนซีน เป็นสารก่อมะเร็งที่พบในยาฆ่าแมลงซึ่งอาจติดมากับใบยาสูบ
- ฟอร์มาลดีไฮด์หรือฟอร์มาลีน เป็นสารก่อมะเร็งที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อดวงตา เยื่อบุจมูก และเยื่อบุทางเดินหายใจ
- พอโลเนียม-210เป็นสารกัมมันตรังสี เป็นสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งปอด
- แคดเมียม เป็นสารโลหะที่เป็นอันตรายต่อไต ตับ และสมอง รวมถึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอดและอัณฑะ
- สารตะกั่ว เป็นสารโลหะที่ทำลายสมอง ไต ระบบประสาทและเม็ดเลือดแดงอย่างรุนแรง สามารถถูกดูดซึมผ่านผิวหนังได้โดยเฉพาะในเด็ก
- แอมโมเนีย ใช้ปรุงแต่งรสชาติและช่วยให้นิโคตินดูดซึมเข้าสู่สมองและประสาทส่วนกลางเร็วขึ้น มีฤทธิ์ระคายเคืองเนื้อเยื่อ ทำให้แสบตา แสบจมูก หลอดลมอักเสบ
- โครเมียม เป็นสารโลหะที่อาจตกค้างในใบยาสูบหลังจากการพ่นยาฆ่าแมลง
- คาร์บอนมอนอกไซด์ เป็นแก๊สที่เกิดจากการเผาไหม้บุหรี่ ออกฤทธิ์ขัดขวางการลำเลียงออกซิเจนของเม็ดเลือดแดง ทำให้ผู้สูดควันบุหรี่ได้รับออกซิเจนน้อยลง เลือดข้นและหนืดขึ้นจนหัวใจต้องทำงานหนักเพื่อให้เลือดนำออกซิเจนไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกายซึ่งนำไปสู่สาเหตุของการเกิดโรคหัวใจ
- สารหนู มีผลต่อระบบทางเดินอาหาร และเชื่อมโยงกับการเกิดภาวะหัวใจขาดเลือด
โรคร้ายที่มาพร้อมควันบุหรี่
ในแต่ละปี มีผู้คนทั่วโลกเสียชีวิตจากควันบุหรี่มือสองมากถึง 1 ล้านคนโดยประมาณ โดยโรคที่มีความรุนแรงถึงชีวิตนี้ ได้แก่
- โรคมะเร็ง ควันบุหรี่สามารถทำให้เกิดโรคมะเร็งหลายระบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมะเร็งปอด นอกจากนี้เบนซีนในควันบุหรี่มือสองยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวอีกด้วย
- โรคหัวใจ ควันบุหรี่มือสองทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของระบบหลอดเลือดและระบบการไหลเวียนของเลือด ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจและภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน
- โรคปอด สารเคมีและแก๊สในควันบุหรี่มือสองก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อเยื่อบุหลอดลมและถุงลมจนนำไปสู่การอักเสบเรื้อรังและทำให้ปอดเสื่อมสมรรถภาพ เป็นสาเหตุสำคัญของกลุ่มโรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง เช่น โรคถุงลมโป่งพอง โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง โรคหืด และโรคหลอดลมโป่งพอง
- น้ำหนักแรกเกิดน้อย การสัมผัสกับควันบุหรี่ระหว่างตั้งครรภ์เพิ่มความเสี่ยงต่อการที่ทารกในครรภ์จะคลอดออกมาด้วยน้ำหนักแรกเกิดต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน
- โรคการเสียชีวิตเฉียบพลันในเด็กทารก (Sudden infant death syndrome หรือ SIDS) คือภาวะที่ทารกเสียชีวิตเฉียบพลันโดยไม่พบสาเหตุที่แน่ชัด ซึ่งเด็กอายุต่ำกว่า 1 ขวบที่ต้องอยู่ใกล้ๆ กับผู้ที่สูบบุหรี่มีความเสี่ยงต่อโรคมากกว่าเด็กที่ไม่ได้สัมผัสควันบุหรี่
- โรคหืดและโรคระบบทางเดินหายใจอื่นๆ เป็นกลุ่มโรคที่พบบ่อยในเด็กที่ต้องสูดดมควันบุหรี่อยู่เสมอ
- การติดเชื้อ เด็กทารกที่เกิดจากพ่อแม่ที่สูบบุหรี่มักเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดลมอักเสบและปอดอักเสบมากกว่าเด็กทั่วไปโดยเฉพาะในช่วงขวบปีแรก
ขอบคุณข้อมูล https://www.bumrungrad.com/