ความคิดนอกกรอบ (Lateral Thinking or Think out of the box)
มีงานเขียนและการบรรยายต่างกรรมต่างวาระที่เอ่ยถึงวิธีการคิดนอกกรอบ ซึ่งอาจสรุปแบบกระชับได้โดยย่อได้ดังนี้
1. กล้าแตกต่าง ไม่กลัวล้มเหลว มองเห็นการเปลี่ยนแปลงและแนวโน้มในอนาคตคือโอกาส ไม่ใช่ปัญหา คิดบวกและสนุกกับการแสวงหาความเป็นไปได้จากความท้าทายใหม่ๆ
2. ฝึกคิดสร้างสรรค์ การคิดสร้างสรรค์และการคิดนอกกรอบเกือบจะเป็นสองด้านของเหรียญเดียวกัน หากไม่มีความคิดสร้างสรรค์ การคิดนอกกรอบก็เกิดขึ้นได้ยาก ความคิดสร้างสรรค์เป็นกระบวนการคิดที่ฝึกฝนได้ หาใช่พรสวรรค์ ดังภาพข้างล่าง
3. รู้กว้างและรู้ลึก ฝึกการคิดแบบรอบด้านมองหลายมุม ไม่ยึดติดการคิดเพียงด้านเดียว ฝึกฝนการตั้งคำถามและหาคำตอบ ไม่เดินย่ำซ้ำรอยความสำเร็จเดิม ด้วยความเชื่อว่าโครงการหรือการพัฒนาใดๆ ย่อมมีช่องว่างที่สามารถทำให้ดีขึ้นกว่าเดิมได้เสมอ
4. รู้เท่าทันเทคโนโลยี ให้เทคโนโลยีสนับสนุนประสิทธิภาพการทำงานและพัฒนาคุณภาพคน ฉะนั้นจึงต้องรู้จักคนและเข้าใจงานที่ทำก่อนจึงค่อยเลือกเทคโนโลยี อย่าเลือกใช้เทคโนโลยีใหม่ล่าสุดเพียงเพราะกลัวไม่ทันสมัย ซึ่งนั่นไม่ใช่การรู้เท่าทัน แต่เป็นความทันโลกแค่เปลือก ขณะที่แก่นหรือเนื้อในกลวงเปล่า การรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีนอกจากช่วยให้ไม่ตกเป็นทาสของเทคโนโลยีแล้ว ยังเป็นเชื้อไฟที่ดีของการคิดนอกกรอบ
5. เปิดกว้างและถ่อมตนอยู่เสมอ พูดคุยรับฟังและขอคำปรึกษาจากผู้อื่นบ้าง สนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้รู้อย่างสม่ำเสมอเพื่อพัฒนามุมมองและลับความคิดให้แหลมคม ต้องระวังที่จะไม่ตกหลุมพรางของความฉลาด ผูกขาดความถูกต้องเพราะเชื่อมั่นในความรู้และประสบการณ์ของตนเองมากเกินไป กลายเป็นคนที่เหมือนน้ำล้นแก้ว ดูถูกหมิ่นแคลนผู้อื่นว่ามีประสบการณ์น้อยและมือไม่ถึง จึงไม่ค่อยยอมรับความคิดที่แตกต่างหรือแปลกใหม่
ขอบคุณแหล่งข้อมูล https://www.tkpark.or.th