ในปัจจุบันคนทั่วโลกสนใจกับความคิดสร้างสรรค์กันมาก เพราะทุกวันความรู้และทักษะต่างๆสามารถเรียนรู้ได้เท่าเทียมกัน แต่ความคิดสร้างสรรค์ของแต่ละคนไม่สามารถเท่าเทียมกันได้ หลายคนเชื่อว่าความคิดสร้างสรรค์เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้องค์กรมีศักยภาพสูง เหนือกว่าคู่แข่ง ในปัจจุบันองค์กรต่างๆ ได้ให้ความสำคัญกับความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น
ความคิดสร้างสรรค์ ( Creative Thinking ) เป็นที่มาของวิธีการใหม่ๆ นวัตกรรมหรือสินค้าใหม่ๆ ที่ผู้อื่นหรือที่อื่นไม่มี ทำให้องค์กรนั้นประสบความสำเร็จมากกว่า เช่น โรงสีข้าว จะนำแกลบซึ่งเป็นผลพลอยได้จากการสีข้าวไปขายเป็นวัตถุดิบให้กับอุตสาหกรรมอื่นๆ แต่โรงสีข้าวสวนจิตรลดา จะนำแกลบมาอัดแท่งเพื่อใช้ทดแทนฟืนและถ่าน ช่วยลดการตัดไม่ทำลายป่า และเป็นการเพิ่มมูลค่าให้แกลบ
ความคิดสร้างสรรค์เป็นความสามรถของมนุษย์ที่คิดได้กว้างไกลหลายแง่มุมหลายทิศทาง นำไปสู่การคิดประดิษฐ์สิ่งของและเกิดแนวทางการแก้ปัญหาต่างๆ ซึ่งเป็นผลจากการทำงานของสมอง ในส่วนที่เกี่ยวกับอารมณ์ความรู้สึกหรือสมองซีกขวา ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้จากการไม่ยึดติดกับกรอบความคิดเดิม กฎเกณฑ์เดิม ความคิดสร้างสรรค์คิดได้หลายแง่มุม คิดได้มากที่สุดเท่าที่จะคิดได้ ความคิดสร้างสรรค์จึงเป็นการมองปัญหาในแนวกว้าง
ผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์จะมีลักษณะสำคัญ 4 ประการ ดังนี้
1, มีความคิดริเริ่ม ( Originality ) คือ คิดในสิ่งที่แปลกใหม่ คิดในเรื่องที่ไม่เคยมีใครคิดมาก่อน ไม่ซ้ำใคร ซึ่งแตกต่างจากความคิดของคนธรรมดาทั่วไป
2. มีความยืดหยุ่นในการคิด ( Flexibility ) คือ มีความสามารถในการคิดหาคำตอบได้หลายทิศทาง หลายแง่มุม หรือมองสถานการณ์ทุกอย่างได้หลายมิติ ทำให้สามารถคิดหาวิธีการแก้ปัญหาได้มากกว่า 1 วิธี
3. มีความคิดคล่องแคล่ว ( Fluency) คือ สามารถคิดหาคำตอบได้อย่างคล่องแคล่ว รวดเร็ว และได้คำตอบมากที่สุดในเวลาที่จำกัด หรือเป็นคนที่มีปฏิภาณไหวพริบดี
4. มีความคิดละเอียดลออ ( Elaboration ) คือสามารถคิดในรายละเอียดที่เป็นปลีกย่อยได้ดี เพื่อขยายหรือตกแต่งความคิดหลัก ให้ได้ความหมายที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
วิธีฝึกตนเองให้เกิดความคิดสร้างสรรค์
เนื่องจากความคิดสร้างสรรค์เกิดจากการฝึกฝน การเรียนรู้ และพัฒนาของสมองซีกขวา ความคิดสร้างสรรค์จึงเป็นสิ่งที่สามารถฝึกฝนให้เกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัยเด็กและวัยรุ่น สามารถพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ได้เร็วกว่าผู้ใหญ่ วิธีฝึกตนเองให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ มีดังนี้
1. ฝึกใช้ความคิดตลอดเวลา อย่าหยุดคิด โดยตั้งคำถามในเรื่องที่อยากรู้และหาคำตอบประกอบเหตุผล
2. คิดให้รอบด้าน คิดหลายมิติ ไม่ยึดติดแนวคิดใดแนวคิดหนึ่งเพียงด้านเดียวหรือมิติเดียว
3. สลัดความคิดครอบงำออกไป ไม่จำกัดกรอบความคิดของตนเอง ไว้กับความเคยชินแบบเดิมๆ ที่เคยเชื่อเคยเห็นและเคยทำมาแล้ว
4. จัดระบบความคิดใหม่เพื่อเปรียบเทียบในมุมมิติต่างๆ หรือนำมาค้นหาความจริง
5. ยึดมั่นในคาถาหัวใจนักปราชญ์ ได้แก่ การฟัง การคิด การถาม และการเขียน หรือ “สุ จิ ปุ ลิ” ด้วยการฟังแล้วคิดตาม ไม่เข้าใจให้ซักถาม เมื่อรู้แล้วนำไปเขียนบันทึก
6. ฝึกเป็นคนชั่งสังเกตแล้วจดจำ เพื่อสะสมประสบการณ์และกระตุ้นให้เกิดแนวคิดใหม่ๆ
7. ฝึกระดมสมองเพื่อรวบรวมความคิดสร้างสรรค์กับเพื่อนๆ หรือบุคคลในครอบครัว หรือผู้อื่นเมื่อมีโอกาส
8. ฝึกแสดงความคิดเห็นบ่อยๆอย่ากลัวล้มเหลวหรือเสียหน้า เพราะการเสนอความคิดเห็นไม่มีถูกหรือผิด
9. ต้องทำอนาคตให้ดีกว่าปัจจุบัน การกระทำทุกอย่างเมื่อเห็นว่าดีหรือประสบความสำเร็จแล้ว ครั้งต่อไปจะต้องพัฒนาให้ดีขึ้นกว่าเดิมด้วยวิธีการใหม่
โดยการต่อยอดความคิดเดิม
ประโยชน์ของความคิดสร้างสรรค์
1. เพื่อทำให้เกิดแนวทางใหม่ๆในการดำรงชีวิต และหนทางใหม่ๆ ในการแก้ปัญหาชีวิตและการทำงาน
2. ช่วยพัฒนาสมอง ให้มีความฉลาดหลักแหลม เพราะการฝึกคิดเรื่องให้เป็นประจำจะทำให้เกิดปฏิภาณไหวพริบในการแก้ปัญหาต่างๆ เพิ่มขึ้น
3. สร้างความเชื่อมั่นให้ตนเองเมื่อพัฒนาขีดความสามารถในการคิดสร้างสรรค์ จนสามารถแก้ปัญหาต่างๆได้อย่างราบรื่น ก็จะเป็นผู้นำทางด้านความคิด นักประดิษฐ์ หรือเป็น นวัตกร ย่อมเกิดความภาคภูมิในตนเอง
4. ช่วยยกระดับคุณธรรมในเรื่องความขยันหมั่นเพียร อดทน มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ในเรื่องของความมุ่งมั่นในการทำงาน และการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์
5. พัฒนาชีวิตให้ทันสมัยและเกิดความสนุก การค้นหาวิธีการคิดและการกระทำใหม่ๆขึ้นมาทดแทนความคิดเก่า จะทำให้ชีวิตมีความทันสมัยและสนุกสนาน