ความหลากหลายทางชีวภาพในประเทศไทย
ประเทศไทยเป็นหนึ่งใน 20 ประเทศที่มีทรัพยากรชีวภาพหลากหลายมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์รวมทั้งความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) หรือ ทรัพยากรชีวภาพ (Bioresource) เป็นฐานสำคัญของการเกษตร ยารักษาโรค และต่อเศรษฐกิจทั้งระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ สาเหตุสำคัญที่ทำให้ในพื้นที่ป่าตามธรรมชาติในประเทศไทยมีความหลากหลายของพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์เป็นอย่างมาก เนื่องจากเหตุผลหลายประการได้แก่
1. ประเทศไทยตั้งอยู่ในโซนร้อนเหนือเส้นศูนย์สูตรเล็กน้อยและอยู่ติดทะเล จึงมีสภาพภูมิอากาศที่เหมาะสมต่อการอยู่รอด การเจริญเติบโตและการแพร่พันธุ์ของสิ่งมีชีวิตหลายชนิดตลอดปี อย่างไรก็ตามสภาพภูมิอากาศจะแตกต่างกันบ้างในภาคต่างๆ ซึ่งขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่ตั้งของภาคและระดับความสูงต่ำของพื้นที่ แต่โดยภาพรวมแล้วประเทศไทยจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงและรวดเร็วมากเหมือนในเขตอบอุ่นและเขตหนาว จึงไม่เป็นปัจจัยจำกัดในการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิต
2. มีความแตกต่างกันของสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศในแต่ละภูมิภาคของประเทศไทย เช่นภาคเหนือเหนือเป็นภูเขาสูง อุณหภูมิต่ำในฤดูหนาว ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นที่ราบขนาดใหญ่มีสภาพภูมิอากาศค่อนข้างแห้งแล้ง ภาคกลางเป็นที่ราบลุ่ม ภาคใต้เป็นเขาสูงสลับพื้นที่ราบ บริเวณมีมรสุมพัดผ่านตลอดทั้งปี บางพื้นที่ในภาคตะวันออกภาคกลางและและภาคใต้ที่อยู่บริเวณปากแม่น้ำเป็นต้น จากสภาพที่มีความหลากหลายของภูมิประเทศและภูมิอากาศในพื้นที่ที่อยู่ในระดับความสูงจากระดับน้ำ ทะเลที่ต่างกัน มีปริมาณน้ำฝน อุณหภูมิและปัจจัยอื่นๆ เช่นสภาพพื้นดินที่แตกต่างกัน ได้เอื้ออำนวยให้เกิดความหลากหลายของประเภทของป่าตามธรรมชาติเป็น1). ป่าไม่ผลัดใบเช่น ป่าดิบเขา ป่าดิบแล้ง ป่าชายเลน 2). ป่าผลัดใบเช่น ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ และ 3). ป่าที่มีลักษณะพิเศษเช่นป่าชายหาด ป่าเขาหินปูน เป็นต้น ซึ่งป่าแต่ละประเภทจะมีลักษณะที่เฉพาะตัวและมีสิ่งมีชีวิตที่ปรับตัวอาศัยอยู่ในแต่ละพื้นที่แตกต่างกัน
3. ประเทศไทยอยู่ในบริเวณศูนย์กลางที่มีการกระจายพันธุ์ของพืชและสัตว์ กล่าวคือเป็นเขตซ้อนทับกันของกลุ่มพรรณพฤกษชาติ (Floristic Region) ถึง 3 กลุ่มคือ กลุ่มอินโด – เบอร์มีส (Indo-Burmese elements) กลุ่มอินโด-ไชนิส (Indo-Chinese elements) และกลุ่มมาเลเซีย (Malaysian elements) ในส่วนของสัตว์ป่า ประเทศไทยถือเป็นจุดซ้อนทับของเขตสัตวภูมิศาสตร์ (Zoological Region) 3 เขตเช่นกันคือ เขตชิโน-หิมาลัย (Shino-Himalayan) เขตอินโด-ไชนีส (Indo-Chinese) และเขตชุนดา (Sundaic)
ขอบคุณแหล่งข้อมูล https://sites.google.com/site/khwamhlakhlaythangchiwphaphm6/home/khwam-hlak-hlay-thang-chiwphaph-ni-prathesthiy