โรคซึมเศร้า เป็นโรคเกี่ยวกับอารมณ์อย่างหนึ่ง ซึ่งหากมีปัญหาเรื่องอารมณ์แล้ว ผู้ป่วยก็จะมีปัญหาทางพฤติกรรมตามมาด้วย คนกลุ่มนี้จะมีภาวะซึมเศร้า หรือบางครั้งก็แสดงออกมาเป็นอารมณ์หงุดหงิด ซึ่งส่วนใหญ่โรคซึมเศร้าในเด็กจะแสดงออกมาในอารมณ์ที่หงุดหงิด จากข้อมูลปี 2560 องค์การอนามัยโลกระบุว่าปัจจุบัน 1 ใน 20 คนของประชากรโลกกำลังป่วยด้วยโรคดังกล่าว และป่วยซ้ำสูงร้อยละ 50-70 ที่น่าเป็นห่วงคือเป็นต้นเหตุให้วัยรุ่นฆ่าตัวตายเพิ่มสูงขึ้น
ในประเทศไทยพบวัยรุ่นอายุ 10-19 ปี มีความเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้าสูงร้อยละ 44 หรือประมาณ 3 ล้านกว่าคน จากจำนวนวัยรุ่นทั้งหมดประมาณ 8 ล้านคน อัตราป่วยร้อยละ 18 ซึ่งคาดว่าป่วยแล้วกว่า 1 ล้านคน
ส่วนโรคไบโพลาร์ ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้จะมีลักษณะอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปมาระหว่างอารมณ์ซึมเศร้า (major depressive episode) สลับกับช่วงที่อารมณ์ดีมากเกินปกติ (mania หรือ hypomania) อัตราการเกิดโรคครั้งแรกพบบ่อยที่สุดที่ช่วงอายุ 15-19 ปี และรองลงมา คือ อายุ 20-24 ปี โดยกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยจะมีอาการครั้งแรกก่อนอายุ 20 ปี Bipolar Disorder ถือเป็นโรคที่มีการดำเนินโรคในระยะยาวเรื้อรัง และเป็นโรคที่มีโอกาสกลับเป็นซ้ำได้สูง ประมาณ 70-90% โรคไบโพลาร์ (Bipolar) เป็นโรคที่จัดอยู่ในกลุ่มโรคทางด้านเรื่องอารมณ์ กลุ่มเดียวกับโรคซึมเศร้า โรคซึมเศร้านั้นคือ โรคอารมณ์ที่ชัดเจน ที่มีอารมณ์เบื่อเศร้า แต่โรคไบโพลาร์ จะมีลักษณะที่มีอารมณ์ช่วงหนึ่งจะมีลักษณะครื้นเครง รื่นเริง สนุกสนานสลับกับอารมณ์ซึมเศร้าอีกช่วงหนึ่ง
สรุปความแตกต่างก็คือ โรคไบโพลาร์มีช่วงที่อารมณ์ขึ้นและอารมณ์ตก ส่วนโรคซึมเศร้ามีแต่ช่วงที่ตกอย่างเดียว ซึ่งช่วงเวลาที่คนไข้ไบโพลาร์อารมณ์ตกก็จะตกเหมือนกับคนที่เป็นโรคซึมเศร้า แต่จะกลับมาอารมณ์ดีมากๆ อีกครั้ง ทั้งสองโรคนี้จัดเป็นการป่วยทางจิตเวชเหมือนกัน
แหล่งที่มา
Depression, the secret we share, Andrew Solomon.(2560, 20). WebMineral.Retrieved December 20 2017, fromhttps://www.nicetofit.com/
กรมสุขภาพจิต.(2548, 25 มีนาคม). โรคอารมณ์เศร้าอารมณ์แปรปรวนหรือ Bipolar disorders.สืบค้นเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2562, จาก https://www.dmh.go.th/news/view.asp?id=943