หลายคนคงเคยได้ยินเวลามีผู้เชี่ยวชาญพูดถึงเรื่องไอทีหรือนวัตกรรม ก็มักจะเอาไปโยงกับซิลิคอนวัลเลย์ของสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นแหล่งผลิตและบ่มเพาะนวัตกรรมที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ว่าแต่ซิลิคอนวัลเลย์อยู่ตรงไหนของสหรัฐอเมริกา และมีบริษัทสำคัญอะไรตั้งอยู่ในพื้นที่บ้าง
ซิลิคอนวัลเลย์เป็นชื่อเรียกของพื้นที่ทางตอนใต้ของพื้นที่อ่าวซานฟรานซิสโก (San Francisco Bay Area) หรือเบย์แอเรีย ซึ่งอยู่ทางด้านเหนือของมลรัฐแคลิฟอร์เนีย โดยเป็นการสนธิระหว่างคำว่า “ซิลิคอน” จากที่เคยเป็นแหล่งบุกเบิกพัฒนาซิลิคอนชิป (silicon chip) ที่เป็นชิ้นส่วนสำคัญเพื่อใช้เก็บข้อมูลหน่วยความจำในระบบคอมพิวเตอร์ กับคำว่า “วัลเลย์” หรือหุบเขา ที่มาจากหุบเขาซานตา คลารา (Santa Clara Valley) ในบริเวณนั้น พื้นที่ดังกล่าวยังเป็นที่ตั้งของเมืองซานโฮเซ (San Jose) ซึ่งถูกเรียกขานว่าเป็นเมืองหลวงของซิลิคอนวัลเลย์
ซิลิคอน วัลเลย์ ไม่ได้มีแค่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดเท่านั้น เพราะยังล้อมไปด้วย University of California – Berkeley, University of California – Santa Cruz (วิทยาเขตส่วนขยาย ซิลิคอนวัลเลย์) เป็นต้น ด้วยการศึกษาที่เข้มแข็งจึงเป็นปัจจัยให้ย่านนี้สร้างบริษัทเทคโนโลยีระดับโลกขึ้นมามากมาย เพราะความจริงแล้วไม่ได้มีแค่มหาวิทยาลัยเท่านั้น แต่ยังประกอบไปด้วยโรงเรียนท้องถิ่นที่เข้มแข็งและเรียนฟรี
จุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่สุดในการสร้างซิลิคอน วัลเลย์ คือ โรงเรียนเทศบาล (Public Schools) ที่คุณภาพ จนสามารถผลิตเด็กเข้าสู่ประบบอุตสาหกรรมเหล่านี้ได้ Steve Jobs และ Steve Wozniak ก็เคยเรียนโรงเรียนเทศบาลซิลิคอน วัลเลย์ ที่ชื่อว่า Homestead High School ซึ่งปัจจุบันโรงเรียนนี้ไม่ได้แช่แข็งหลักสูตรแต่ยังพัฒนาต่อไปโดยการเพิ่มสาขา Biotech และหุ่นยนต์เข้าไป เพื่อให้นักเรียนสามารถเลือกลงได้
ระบบการศึกษาเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก มหาวิทยาลัยย่านซิลิคอน วัลเลย์ มีทุนร่วมมือวิจัยกับสตาร์ทอัพรายใหม่ๆ ที่ป้อนคนเข้าสู่บริษัทต่างๆ ในย่านซิลิคอน วัลเลย์ ไม่เพียงเท่านั้นด้วยรูปแบบการปกครองที่ให้อำนาจท้องถิ่นบริหารจัดการเองไม่ต้องคอยจากส่วนกลางเท่านั้น ทำให้การปรับปรุงระบบการศึกษาและภาษีทำได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
โรงเรียนเทศบาลที่มีคุณภาพอย่าง Homestead High School ที่ศาสดาสมาร์ทโฟนก้องโลก Steve Jobs เคยเรียนถ้าพ่อแม่อยากให้เรียนก็จำเป็นต้องมาอยู่อาศัยย่านนี้เท่านั้น และยังเป็นการลดปัญหาจราจรระยะยาว เนื่องจากถ้าไม่อยู่ย่านนี้ก็เรียนไม่ได้ ต่อให้รวยก็ฝากไม่ได้ เนื่องจากโรงเรียนเรียนฟรีอยู่แล้ว จนทำให้หลายเมืองเองก็พยายามปรับปรุงโรงเรียนท้องถิ่นให้ดีเพื่อเป็นจุดขายให้คนย้ายมาทำงาน แม้จะต้องเสียภาษีบ้านและคอนโดทุกปี อัตราปีละประมาณ 1.1-1.6% (ขึ้นอยู่กับเมือง) และเงินนี้ไม่ได้เข้า “ส่วนกลาง” แต่เข้าไปที่เมืองนั้น เอาไว้ไปสร้างโรงเรียน พัฒนาต่างๆ เพื่อสร้างคนเก่งรุ่นต่อไป
การศึกษากลายเป็น ‘อาวุธที่รุนแรงที่สุดในการเปลี่ยนแปลงโลก’ ด้วยค่านิยมของเสรีภาพทางความคิดนี้ที่อยู่ในพื้นฐานของคนอเมริกัน และเหล่าต่างชาติที่เข้ามาเรียนที่นี่ ทำให้แม้แต่ Jack Ma ผู้ก่อตั้ง Alibaba ก็เคยยอมรับว่าเขาเองได้รับอิทธิพลมาจากแนวคิดที่แปลกใหม่ของ Jerry Yang ผู้ก่อตั้ง Yahoo โรงเรียนในย่ายซิลิคอน วัลเลย์ มักชอบทำให้เด็กๆ กล้าคิดต่างและตั้งคำถามกับผู้ใหญ่ กล้าในการตั้งคำถามกับทฤษฎีเก่าๆ หรือการตั้งคำถามกับผู้มีอิทธิพล เป็นกระบวนการคิดที่ถูกสอนมากว่า 50 ปี ไม่มีการแบ่งสายวิทย์หรือศิลป์ แต่ให้เด็กผสานวิชาเรียนเอง
ความสำเร็จของเทคโนโลยีที่ทำให้ประเทศกลายเป็นมหาอำนาจ จึงมีพื้นฐานที่สำคัญมาจากระบบการศึกษาและวัฒนธรรมที่หนุนให้คนรุ่นใหม่กล้าคิดเพื่อเติบโต
เสรีภาพทางความคิดและวัฒนธรรมองค์กร กลายเป็นเสน่ห์ดึงดูดให้คนอยากมาทำงานในบริษัทย่านซิลิคอน วัลเลย์ จนทุกวันนี้ ซิลิคอน วัลเลย์ ได้กลายเป็นโมเดลต้นแบบให้หลายประเทศพยายามปรับปรุงประเทศตนเองให้เป็นเมืองแห่งเทคโนโลยีเหมือนอย่างที่แห่งนี้บ้าง
นักวิชาการที่มีบทบาทสำคัญ คือ นายเฟรดิก เทอร์แมน (Mr. Frederick Terman) อดีตคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดในช่วงทศวรรษ 1940 – 1950 ที่สนับสนุนให้นักศึกษาและผู้สำเร็จการศึกษาจากคณะเริ่มต้นตั้งบริษัทในซิลิคอนวัลเลย์ ที่สำคัญ เช่น บริษัท Hewlett-Packard, Variant Associates และบริษัทชั้นนำอื่นด้านไอที และยังมีบทบาทผลักดันให้จัดตั้งเขตนิคมอุตสาหกรรมสแตนฟอร์ด (Stanford Industrial Park) เมื่อปี 2494 เพื่อรองรับทหารสหรัฐฯ จำนวนมากที่กลับมาศึกษาต่อหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ยุติลง เพื่อจะได้มีโอกาสทำงานเพื่อพัฒนาพื้นที่ให้เติบโตต่อไป ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนเป็นนิคมวิจัยสแตนฟอร์ด ภายหลัง นายเทอร์แมนได้รับการยกย่องให้เป็นบิดาของซิลิคอนวัลเลย์
ในส่วนของเอเชีย มีหลายประเทศที่มีพื้นที่ที่ได้รับสมญานามว่า ‘Silicon Valley of Asia’ ที่สำคัญ ได้แก่ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น ไต้หวัน เมือง Daejon ของเกาหลีใต้ เขตนิคมอุตสาหกรรมเซินเจิ้นในจีน เป็นต้น
ในส่วนของไทย รัฐบาลปัจจุบันได้ให้ความสำคัญกับนโยบาย Thailand 4.0 เพื่อยกระดับสถานะประเทศเป็นประเทศรายได้สูง สร้างความสามารถในการแข่งขัน การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน มีภูมิคุ้มกันจากปัจจัยภายนอก และกระจายความเจริญทางเศรษฐกิจไปให้ครอบคลุมและทั่วถึงทุกภาคของประเทศไทย และได้มีแนวคิดสำคัญหนึ่ง คือ ระเบียงเศรษฐกิจเอเชียตะวันออก (Eastern Economic Corridor – EEC) ซึ่งครอบคลุมพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง มีโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมรองรับ อาทิ สนามบินอู่ตะเภา จังหวัดระยอง และทางรถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพฯ – ระยองเพื่อเชื่อมกับสนามบินอู่ตะเภา และโครงการซิลิคอนวัลเลย์ไทยแลนด์ หรือดิจิทัลพาร์ค ไทยแลนด์ บนพื้นที่ของการสื่อสารแห่งประเทศไทย จำนวน 621 ไร่ที่จังหวัดชลบุรี โดยจัดสรรเป็นการดำเนินการของภาครัฐร้อยละ 30 และภาคเอกชนร้อยละ 70 มีการเชิญบริษัทเอกชนชั้นนำในด้านดิจิทัลของสหรัฐอเมริกาเข้าร่วม อาทิ บริษัท Facebook, Google, Amazon รวมถึงสถาบันวิจัยที่มีชื่อเสียง เช่น มหาวิทยาลัยโตเกียว Massachusetts Institute of Technology, China Academy of Sciences โดยมุ่งหวังที่จะสร้างเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ที่วางผังเมืองอย่างเป็นระบบ มีสภาพแวดล้อมที่ดี เอื้อต่อการคิดค้นสร้างสรรค์วิทยาการนวัตกรรมใหม่ ๆ ส่งเสริมคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ มีกฎหมายที่ชัดเจนและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และตอบโจทย์ความรับผิดชอบต่อสังคม