ทำไมต้อง Cashless Society สังคมไร้เงิน(สด)
นี่คือเทรนด์ของโลกยุคนี้ และเป็นสิ่งที่รัฐบาลไทยพยายามผลักดันให้เกิดขึ้นภายใต้นโยบาย National E-Payment หลายคนอาจจะเห็นเป็นเรื่องไกลตัว ทำอะไรกัน ไม่เห็นเข้าใจ จับแบงค์ จ่ายเหรียญอุ่นใจกว่าเยอะ.. เฟื่องเพิ่งกลับจากจีนมา ซึ่งว่าที่มหาอำนาจใหม่อย่างจีน เขาได้ผลักดันเรื่องนี้สำเร็จแล้ว ร้านค้าทุกระดับตั้งแต่ห้างสรรพสินค้า ไปจนคุณป้าขายข้าวแกงข้างทาง ล้วนเข้าใจ และรองรับการจ่ายเงินด้วยมือถือทั้งสิ้น!
ในประเทศไทยเราเองช่วงนี้ก็ทยอยเห็นแอปพลิเคชั่นจากธนาคารต่างๆ ออกมารองรับการจ่ายเงินแบบนี้ในหลายช่องทาง เช่น SCB Easy โฉมใหม่ ก็มีฟังก์ชั่น “Request to Pay” หรือเรียกเก็บเงินจากเพื่อนโดยระบุจำนวนเงิน พร้อมเครดิตเทอม ให้เพื่อนกดจ่ายเงินมาเข้า e-wallet ของเราได้เลย สะดวกมาก หรือจะเป็นฟังก์ชั่นจ่ายเงินด้วย QR Code ซึ่ง SCB ก็เริ่มมาตั้งแต่โครงการ SCB พร้อมเพย์..แท็กซี่เดลิเวอรี่พร้อมรับ เมื่อปีที่แล้ว (แสกน QR Code ของพี่แท็กซี่และจ่ายด้วยแอปได้เลย) จนตอนนี้ก็ขยายเป็นรูปธรรมมากขึ้น ให้ประชาชนทั่วไปได้มีโอกาสใช้มากขึ้น ทั้งโปรเจ็กต์กับพี่วินฯมอเตอร์ไซค์ หรือโปรเจ็กต์กับร้านค้าที่จตุจักร และอนาคตน่าจะเห็น QR Code ขยายไปเรื่อยๆ
อย่าเพิ่งแปลกันตรงๆ ว่า cash คือเงิน และ -less คือไม่มีนะคะ เพราะ cashless นั้นไม่ได้หมายความว่าไม่มีเงิน แต่หมายถึงการที่ไม่ต้องใช้เงินสด! ลองนึกตัวอย่างง่ายๆ เช่น การคืนเงินเพื่อนด้วยการโอนเงินผ่านแอปโดยที่ไม่ต้องหยิบเหรียญหรือธนบัตรกันเลย นั่นแหละค่ะคือความ Cashless
ไม่ใช่แค่จีนอย่างเดียว แต่ในหลายๆ ประเทศก็เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงจากระบบเงินสดมาเป็นระบบการเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-payment) กันมากขึ้นเรื่อยๆแล้ว
“ไร้เงินสด” ดีอย่างไร?
“ไร้เงินสด” ไม่ได้เป็นไอเดียไว้แค่เท่ๆ แต่ช่วยแก้ปัญหาหลายอย่างได้จริง
ในช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมา ธนาคารต่างๆ ต้องแบกรับต้นทุนในการดูแลจัดการเอกสารธุรกรรมทางการเงินอันเกิดจากเงินสดอย่างมหาศาล เอาง่ายๆ แค่การดูแลดู ATM ก็เปลืองพลังงานและทรัพยากรโดยใช่เหตุไปหลายขั้นตอนแล้ว คิดดูค่ะ
-
เราเดินไปกดเงินจากตู้ ATM –> 2. เอาไปจ่ายเงินให้แม่ค้า –> 3. แม่ค้ารวบรวมเงิน เอาไปเข้าธนาคาร –> 4. ธนาคารขนเงินมากระจายใส่ตู้ ATM อีก #วนกลับไปข้อ1 วนแบบนี้ไปเรื่อยๆ
แต่ถ้าเปลี่ยนมาเป็นระบบเงินอิเล็กทรอนิกส์ ขั้นตอนก็จะเหลือแค่ “เรา และแม่ค้า” ลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็นไปได้เยอะเลย
ซึ่งการเปลี่ยนแปลงจากระบบเงินสดมาเป็นระบบ cashless นั้นนอกจากทางธนาคารจะประหยัดต้นทุนในการดูแลจัดการเงินสดแล้ว ผู้ใช้งานก็ได้รับความสะดวกรวดเร็วเรียกได้ว่าทำธุรกรรมได้ anywhere and anytime เมื่อทำธุรกรรมผ่านระบบออนไลน์
e-payment อันเป็นกุญแจสำคัญของการเปลี่ยนแปลงสู่ cashless society นั้นเข้ามาทำให้การใช้จ่ายและบริโภคง่ายขึ้นส่งผลให้เกิดการเพิ่มในศักยภาพของเศรษฐกิจเมื่อผู้คนสามารถจ่ายเงินและทำธุรกิจกันได้แม้ไม่ต้องเจอหน้ากันและอยู่ห่างไกลไม่ว่าจะระดับจังหวัด ภูมิภาค หรือแม้แต่ทำธุรกรรมข้ามประเทศก็สามารถทำได้ด้วย e-payment อย่างง่ายดายและรวดเร็ว
อีกมุมนึงที่เป็นข้อดีของระบบ cashless ก็คือการติดตามเส้นทางของเงินได้ง่าย การตรวจสอบสามารถทำได้เป็นระบบ ส่งผลให้การคอรัปชั่นทำได้ยากขึ้นเรื่อยๆ และทางรัฐบาลเองก็สามารถเก็บภาษีได้ถูกต้องครบถ้วนมากขึ้นด้วย ในระยะยาวนั้นประเทศที่มีอัตราการคอรัปชั่นน้อยลง และมีการตรวจสอบเส้นทางการเก็บและใช้ภาษีได้อย่างโปร่งใสแม่นยำย่อมกลายเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นอย่างสูงแน่นอนค่ะ
พูดถึงข้อดีแล้วก็ต้องพูดถึงข้อเสียของ Cashless บ้างค่ะ
ข้อแรกที่ทำให้ผู้คนเปิดรับการใช้ระบบ cashless น้อยกว่าที่ควรนั้นคือค่าธรรมเนียมนั่นเองค่ะ โดยส่วนมากแล้ว e-payment ต่างๆ ล้วนแล้วแต่มีค่าธรรมเนียม เช่น ค่าธรรมเนียมจากการใช้ระบบบัตรเครดิตเป็นต้น เมื่อมีค่าธรรมเนียมจากการใช้ระบบเพิ่มขึ้นมาแน่นอนว่าคนที่แบกรับค่าใช้จ่ายส่วนนี้ก็มักจะเป็นผู้บริโภคนั่นเอง
อีกข้อหนึ่งที่เกิดขึ้นจากการเป็น cashless นั้นก็คือการสูญเสียความเป็นส่วนตัวในการใช้เงินนั่นเองค่ะ ธุรกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนโลกอิเล็กทรอนิกส์ล้วนแล้วแต่ถูกเก็บข้อมูลและเส้นทางของมันเอาไว้เสมอ และแน่นอนว่าข้อมูลเหล่านี้หากรั่วไหลออกไปก็อาจจะมีผลกระทบได้เพราะฉะนั้นแล้วอีกข้อเสียหนึ่งก็คงหนีไม่พ้นเรื่องของความปลอดภัยและถูกโจรกรรมนั่นเอง
อย่างไรก็ตามแล้ว cashless society นั้นเป็นสิ่งที่มาแน่นอนและค่อยๆ เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้จ่ายของทุกคน พวกเราจึงจำเป็นที่จะต้องปรับตัวอย่างสม่ำเสมอและคอยติดตามอัพเดตข้อมูลข่าวสารอยู่เสมอนะคะ เพราะวันหนึ่งเราอาจจะกำเงินออกมาสักก้อนหนึ่งแล้วไม่สามารถนำไปซื้ออะไรที่ไหนได้เลย หากร้านค้าต่างๆ หันมาใช้ระบบ cashless กันอย่างเต็มตัว
-ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล https://marketeeronline.co/archives/85204