นาฬิกา (Clock) เป็นเครื่องมือสำหรับใช้บอกเวลา โดยมากจะมีรอบเวลา 12 ชั่วโมง หรือ 24 ชั่วโมง ถือเป็นสิ่งจำเป็นอย่างหนึ่งของมนุษย์ แต่ทว่าในอดีตคนโบราณหรือแม้แต่ปัจจุบัน ก็ยังใช้การสังเกตเวลาจากพระอาทิตย์ เพื่อทำให้ทราบว่าเป็นช่วงเวลาไหนในวันนั้นๆ ในหนึ่งวันเราทุกคนมีเวลาเท่ากันที่จะทำในสิ่งต่างๆตามชีวิตของแต่ละคนที่กำหนดไว้ หรืออาจมีสิ่งที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้นได้เช่นกัน เช่น การพบสิ่งใหม่ๆ ที่เราไม่เคยทราบมาก่อน การเกิดอุบัติเหตุ รวมทั้งการเจ็บป่วย หรือการเสียชีวิต
นาฬิกาชีวิตทำงานอย่างไร ?
ระบบนาฬิกาชีวิตภายในร่างกายจะถูกควบคุมด้วยกลุ่มเซลล์ที่มีชื่อว่า นิวเคลียสซูพราไคแอสมาติก (Suprachiasmatic Nucleus: SCN) ที่อยู่ในสมองส่วนไฮโปทาลามัส (Hypothalamus) ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมการทำงานของยีนเวลา (Clock Genes) สัญญาณที่ถูกส่งออกมาจากกลุ่มเซลล์นี้มีชื่อว่าสัญญาณเอสซีเอ็น อันเกิดจากตอบสนองต่อสัญญาณของแสงหรือความมืด ที่ส่งต่อมาจากระบบประสาทของดวงตา สัญญาณแสงถูกส่งเข้ามา กลุ่มเซลล์นี้ก็แปรสัญญาณที่ได้รับเป็นสัญญาณดังกล่าว และส่งไปยังส่วนต่าง ๆ ของสมองที่ควบคุมการทำงานของระบบต่าง ๆ อาทิ ระบบฮอร์โมน ระบบควบคุมอุณหภูมิในร่างกาย และระบบการทำงานของร่างกายอื่น ๆ
การแพทย์ตะวันออก ถือว่า ช่วงเวลา หรือ กลางวันและกลางคืน มีความสัมพันธ์กับสุขภาพของมนุษย์อย่างแยกไม่ออก โดยมองลึกลงไปอีกว่า ช่วงเวลา 24 ชั่วโมงในหนึ่งวันนั้น ภายในร่างกายของมนุษย์ยังมีการไหลเวียนของพลังชีวิตที่ผ่านอวัยวะภายในของร่างกาย โดยการไหลเวียนของพลังชีวิต (ลมปราณ) ที่ผ่านแต่ละอวัยวะนั้นจะใช้เวลาสองชั่วโมง ทั้งหมดมี 12 อวัยวะ รวม 24 ชั่วโมง คือ หนึ่งวัน เรียกว่า นาฬิกาชีวิต
นาฬิกาชีวิต (Body Clock) หรือ นาฬิกาชีวภาพ (Biological clock) คือ กลไกในการควบคุมระบบต่างๆ ในร่างกายมนุษย์ให้ทำงานตรงตามเวลา
ปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับนาฬิกาชีวิตมีอะไรบ้าง ?
ปัญหาสุขภาพบางอย่างอาจส่งผลต่อนาฬิกาชีวิต และทำให้ระบบการทำงานต่าง ๆ ในร่างกายแปรปรวน จนเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้ โดยที่มักส่งผลโดยตรงต่อนาฬิกาชีวิตและการหลั่งฮอร์โมนเมลาโทนินได้แก่
- อาการเจ็ทแลค (Jet Lag) การเดินทางด้วยเครื่องบินระยะไกลที่ต้องผ่านเส้นแบ่งเวลา อาจส่งผลให้นาฬิกาชีวิตไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ เพราะนาฬิกาชีวิตจะไม่สามารถปรับตัวได้ในทันที และทำให้ร่างกายเกิดอาการอ่อนเพลีย
- อาการนอนไม่หลับจากการเปลี่ยนเวลานอน ผู้ที่ต้องทำงานในเวลากลางคืน และเข้านอนในเวลากลางวัน มักจะประสบปัญหาในการนอนหลับ โดยเฉพาะในช่วงแรก อาจมีภาวะนอนไม่หลับ และง่วงในเวลาทำงาน เนื่องจากนาฬิกาชีวิตไม่สามารถปรับเปลี่ยนเวลาในการหลั่งสารเมลาโทนินได้ อาจต้องใช้เวลาระยะหนึ่งจึงจะสามารถปรับตัวได้
- อาการเจ็บป่วยหรือปัญหาสุขภาพ บางอย่างมีต่อนาฬิกาชีวิต เช่น อุบัติเหตุ อาการบาดเจ็บที่ศีรษะ ภาวะโคม่าหรือภาวะซึมเศร้าที่รุนแรง เนื่องจากการใช้ยาจะส่งผลให้ระบบประสาทส่วนกลางเกิดความผิดปกติ เมื่อร่างกายไม่สามารถนอนได้ตามเวลา นาฬิกาชีวิตก็จะไม่สามารถสั่งงานระบบการทำงานต่าง ๆ ได้เป็นปกติ
- โรคลมหลับ (Narcolepsy) เป็นความผิดปกติในการนอนหลับที่ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถควบคุมเวลานอนหลับได้ เนื่องจากผู้ป่วยมีอาการง่วงนอนตลอดเวลาและหลับอย่างกะทันหัน หรือหลับได้ในทุกสถานการณ์ ซึ่งเหตุผลนี้เองที่ทำให้ผู้ป่วยโรคนี้มีปัญหาในการนอนหลับ และนาฬิกาชีวิตแปรปรวน
บทความโดย
นายบดินทร์ ชาตะเวที นักวิทยาศาสตร์สุขภาพ คณะการแพทย์แผนไทย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
และขอบคุณแหล่งข้อมูล http://www.ttmed.psu.ac.th และ https://www.pobpad.com/