น้ำมันดีเซล B20 คือ เชื้อเพลิงทางเลือกที่สร้างขึ้นโดยการผสมน้ำมันดีเซลปกติ กับ ไบโอดีเซล ที่ผลิตจากผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร เช่น ถั่วเหลืองคาโนลา, คาเมลีนาดรีม (เป็นพืชโบราณชนิดหนึ่ง), เมล็ดมัสตาร์ด, น้ำมันปรุงอาหารและผลิตภัณฑ์อินทรีย์อื่น ๆ
ภาพหัวจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิง
ที่มา https://pixabay.com/, ResoneTIC
ซึ่งน้ำมันไบโอดีเซลที่นำมาผสมเป็น B20 เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงที่นำ B100 (น้ำมันประเภทเมทิลเอสเตอร์ของกรดไขมัน) มาผสมในอัตราส่วน 20% โดยตัวอักษร B แสดงถึงเปอร์เซ็นต์ของไบโอดีเซล นั่นหมายถึง B20 คือเชื้อเพลิงที่ผสมระหว่างไบโอดีเซล 20% กับน้ำมันดีเซลปกติ 80% นั่นเอง
ทำไมไม่ใช้ ไบโอดีเซล 100%
ถึงแม้ว่าไบโอดีเซลจะสามารถใช้งานได้กับทุกเครื่องยนต์ รวมถึงน้ำมันไบโอดีเซล 100% ก็สามารถใช้งานได้ แต่ส่วนผสม B20 (20%) นั้นถือเป็นส่วนผสมที่ปลอดภัยสำหรับการใช้งานปกติในเครื่องยนต์ดีเซลในท้องตลาดขณะนี้
ใช้ได้กับเครื่องยนต์ดีเซลได้ทุกรุ่นหรือไม่?
ในทางทฤษฎี สามารถใช้งานไบโอดีเซลได้กับทุกเครื่องยนต์ดีเซล แต่ในความเป็นจริงต้องรอการยืนยันจากทางผู้ผลิตรถยนต์ยี่ห้อนั้น ๆ อีกทีหนึ่ง ว่าจะสามารถใช้งานได้หรือไม่ โดยในประเทศไทยเอง สามารถเข้าไปตรวจสอบรถยนต์ที่สามารถใช้งานน้ำมันดีเซล B20 ได้ที่เว็บไซต์ของกระทรวงพลังงาน และถ้าผู้ผลิตประกาศว่าสามารถใช้งานได้ ก็จะไม่ต้องทำการดัดแปลงเครื่องยนต์เพิ่มเติมใด ๆ ทั้งสิ้น สามารถใช้งานได้ทันที เพราะน้ำมันไบโอดีเซลก็ได้มีการทดสอบทั้งในและต่างประเทศเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ยกตัวอย่างเช่น ในประเทศสหรัฐอเมริกา ทั้งหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ หน่วยงานการขนส่ง หรือภายในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ก็มีงานวิจัยสนับสนุนว่า สามารถใช้งานไบโอดีเซลได้อย่างไม่มีปัญหา และข้อสรุปนี้ก็ตรงกันกับผลการทดสอบของประเทศแคนาดาและกลุ่มประเทศในยุโรป
B20 ช่วยโลกอย่างไร?
ต้องบอกว่าการรณรงค์ให้มีการใช้งานน้ำมันไบโอดีเซล B20 ในหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก เกิดจากความต้องการลดการปล่อยมลภาวะทางอากาศ ของยานพาหนะที่นิยมใช้งานอย่างรถยนต์ ซึ่งคุณสมบติเฉพาะตัวของน้ำมัน B20 ที่แตกต่างจากน้ำมันดีเซลธรรมดา คือการเผาไหม้ที่ดีกว่า เผาไหม้หมดจดมากกว่า ซึ่งจะส่งผลให้รถยนต์หรือเครื่องจักรที่ใช้น้ำมันไบโอดีเซล B20 จะปลดปล่อยมลภาวะทางอากาศน้อยลงกว่าการใช้น้ำมันดีเซลปกติอย่างเห็นได้ชัด
ตารางแสดงอัตราการลดการปล่อยมลภาวะของ B20
มลภาวะจากน้ำมันดีเซลปกติ | อัตราการลดการปล่อยมลภาวะของ B20 |
คาร์บอนมอนอกไซด์ | 12.6% |
ไฮโดรคาร์บอน | 11.0% |
ฝุ่น | 18.0% |
สารพิษในอากาศ | 12% ถึง 20% |
สารที่ก่อกลายพันธุ์ | 20% |
ถ้าใช้งาน B20 กับรถยนต์รุ่นเก่า ๆ จะได้ไหม?
จริง ๆ แล้วก็ไม่แนะนำให้ใช้งานน้ำมัน B20 กับรถยนต์ที่ไม่ได้ถูกประกาศอย่างเป็นทางการว่าสามารถใช้งานได้ แต่ถ้าหากอยากลองทดสอบด้วยตนเองก็มีข้อมูลเสนอแนะให้ตรวจสอบก่อนดังนี้
- เครื่องยนต์ของคุณควรผลิตหลังจากปี ค.ศ. 1994 เพราะหากคุณใช้งาน B20 กับเครื่องยนต์ดีเซลที่ผลิตก่อนปี 1993 อาจส่งผลเสียต่อปะเก็นยางต่าง ๆ หรือ กาวที่อยู่ภายในเครื่องยนต์ได้เพราะในช่วงก่อนหน้านั้นการผลิตชิ้นส่วนต่าง ๆ ในเครื่องยนต์ยังไม่ได้คำนึงถึงการใช้งานน้ำมันไบโอดีเซล
- คุณอาจต้องตรวจสอบสภาพของปั๊มเชื้อเพลิงบ่อยขึ้น ต้องยอมรับว่าการใช้งานน้ำมัน B20 ความบริสุทธ์ และความสะอาดของเชื้อเพลิงเป็นสิ่งที่ถูกถามถึงเป็นอย่างมาก ซึ่งการใช้งาน B20 กับเครื่องยนต์รุ่นเก่า ๆ ที่ไม่ได้ผลิตมาเพื่อเผื่อให้สามารถรองรับการใช้งานได้นั้น อาจทำให้ตัวกรองทำงานหนักขึ้นเพราะสิ่งเจือปนจากผลิตภัณฑ์อินทรีย์
แหล่งที่มา
EARL FISHER BIOFUELS. Biodiesel FAQs. Retrieved June 5, 2019, from http://www.earlfisherbiofuels.com/biodieselfaqs.html
บางจากกรีนเอส. บางจากไฮดีเซล B20 สืบค้นเมื่อ 5 มิถุนายน 2562, จาก http://greens-revolution.bangchakmarketplace.com/th/Products/detail/B20TH