ความเป็นมาของกาญจนบุรี เท่าที่มีการค้นพบหลักฐานนั้น ย้อนไปได้ถึงสมัยก่อนประวัติศาสตร์ เมื่อมีการค้นพบเครื่องมือหินในบริเวณบ้านเก่า อำเภอเมืองฯ ล่วงมาถึงสมัยทวารวดี ซึ่งมีหลักฐานคือซากโบราณสถานที่ตำบลปรังเผล อำเภอสังขละบุรี เป็นเจดีย์ลักษณะเดียวกับจุลประโทนเจดีย์ที่จังหวัดนครปฐม
บ้านคูบัว จังหวัดราชบุรี และเมืองอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี รวมทั้งค้นพบโบราณวัตถุ เช่น พระพิมพ์สมัยทวารวดีจำนวนมาก สืบเนื่องต่อมาถึงสมัยพุทธศตวรรษที่ 16-18 หลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ค้นพบคือปราสาทเมืองสิงห์ ซึ่งมีรูปแบบศิลปะแบบขอม สมัยบายน
กาญจนบุรียังปรากฏในพงศาวดารเหนือว่า กาญจนบุรีเป็นเมืองขึ้นของสุพรรณบุรีในสมัยสุโขทัย ครั้นมาถึงสมัยอยุธยา กาญจนบุรีก็มีฐานะเป็นเมืองหน้าด่านสำคัญจนกระทั่งถึงสมัยกรุงธนบุรีและรัตนโกสินทร์ เดิมตัวเมืองกาญจนบุรีเดิมนั้นตั้งอยู่ที่ตำบลลาดหญ้า (บริเวณเขาชนไก่ในปัจจุบัน) ภายหลังจนถึง พ.ศ. 2374 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ได้โปรดให้ก่อสร้างกำแพงเมืองและป้อมปราการขึ้นเป็นการถาวร
ณ เมืองกาญจนบุรีใหม่โดยตั้งอยู่ ณ ตำบลปากแพรก อันเป็นสถานที่บรรจบของแม่น้ำแควใหญ่และแม่น้ำแควน้อย โดยตัวเมืองอยู่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำแม่กลองกับแม่น้ำแควใหญ่ ซึ่งมีความเหมาะสมทางยุทธศาสตร์และด้านการค้า โดยเริ่มก่อสร้างเมืองเมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2374 และสำเร็จในวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2375 และได้แยกออกจากสุพรรณบุรีนับแต่นั้นเป็นต้นมา ทั้งนี้โดยมีพระราชประสงค์ส่วนใหญ่เพื่อติดต่อค้าขายกับเมืองราชบุรี ดังพระราชนิพนธ์เสด็จพระพาสไทรโยค กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า “แต่มีเมืองปากแพรกเป็นที่ค้าขาย ด้วยเขาชนไก่เมืองเดิมอยู่เหนือมากมีแก่งถึงสองแก่ง ลูกค้าไปมาลำบาก จึงลงมาตั้งเมืองเสียที่ปากแพรกนี้เป็นทางไปมาแก่เมืองราชบุรีง่าย เมืองที่สร้างขึ้นใหม่ กว้าง 5 เส้น ยาว 18 วา มีป้อม 4 มุมเมือง ป้อมย่านกลางด้านยาวตรงหน้าเมืองทิศตะวันตกเฉียงใต้มีป้อมใหญ่อยู่ตรงเนิน ด้านหลังมีป้อมเล็กตรงกับป้อมใหญ่ 1 ป้อม” การสร้างเมืองกาญจนบุรีใหม่นี้ ดังปรากฏในศิลาจารึกดังนี้ ให้พระยาราชวรินทร์ เจ้ากรมพระตำรวจเป็นพระยาประสิทธิสงครามรามภักดีศรีพิเศษประเทศนิคมภิรมย์ราไชยสวรรค์พระยากาญจนบุรี ครั้งกลับเข้าไปเฝ้าโปรดเกล้าฯว่าเมืองกาญจนบุรีเป็นเมืองอังกฤษ พม่า รามัญ ไปมาให้สร้างเมืองก่อกำแพงขึ้นไว้จะได้เป็นชานพระนครเขื่อนเพชรเขื่อนขัณฑ์มั่นคงไว้แห่งหนึ่ง ในปัจจุบันกำแพงถูกทำลายลงโดยธรรมชาติและหน่วยราชการเพื่อประโยชน์อย่างอื่น เหลือเพียงประตูเมืองและกำแพงเมืองบางส่วนต่อมา ในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อมีการจัดรูปแบบการปกครองเป็นมณฑลเทศาภิบาล กาญจนบุรีถูกโอนมาขึ้นกับมณฑลราชบุรี และยกฐานะเป็นจังหวัดกาญจนบุรีในปี พ.ศ. 2467
เหตุการณ์ที่ทำให้กาญจนบุรีมีชื่อเสียงไปทั่วโลก คือช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อญี่ปุ่นตัดสินใจสร้างทางรถไฟสายยุทธศาสตร์ จากชุมทางหนองปลาดุกในประเทศไทย ไปยังเมืองทันบีอูซายัตในพม่า โดยเกณฑ์เชลยศึกและแรงงานจำนวนมากมาเร่งสร้างทางรถไฟอย่างหามรุ่งหามค่ำ จนทำให้มีผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก ทั้งจากความเป็นอยู่ที่ยากแค้นและโรคภัยไข้เจ็บที่รุมเร้า ซึ่งภาพและเรื่องราวของความโหดร้ายในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ปรากฏอยู่ในพิพิธภัณฑ์หลายแห่งในกาญจนบุรี
เมื่อกล่าวถึงจังหวัดกาญจนบุรี ใครๆ ย่อมรู้จักว่าเป็นดินแดนที่เต็มไปด้วยเรื่องราวก่อนประวัติศาสตร์ที่สำคัญของไทย ลุ่มน้ำไทรโยค (แควน้อย) และลุ่มน้ำศรีสวัสดิ์ (แควใหญ่ เป็นดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยน้ำใสสะอาด สัตว์ป่าที่จะใช้เป็นอาหาร ในน้ำเต็มไปด้วย หอย ปู ปลา มีที่ราบบริเวณเชิงเขา ถ้ำ ตามริมแม่น้ำมีพื้นที่ทำการเพาะปลูกเหลือเฟือ ได้มีการขุดค้นพบเครื่องมือมนุษย์สมัยหินเก่าเครื่องมือหิน โครงกระดูกมนุษย์สมัยหินกลาง
สมัยหินใหม่ที่บ้านเก่าจนถึงยุคโลหะตอนปลายที่บ้านดอนตาเพชร การพบตะเกียงโรมัน(อเล็กซานเดรีย) ที่ตำบลพงตึการพบปราสาทเมืองสิงห์ เป็นต้น สิ่งต่างๆ เหล่านี้ เป็นหลักฐานที่แสดงว่าจังหวัดกาญจนบุรีเป็นแหล่งกำเนิดอารยธรรมของมนุษย์ใน ดินแดนที่เป็นประเทศไทยปัจจุบัน ต่อมาในสมัยประวัติศาสตร์ครั้งกรุงศรี-อยุธยาเป็นราชธานี กาญจนบุรีมีฐานะเป็นเมืองด่านที่มีความสำคัญต่อการอยู่รอดของไทยอย่างมากเหตุการณ์ที่ปรากฏ เช่น การเดินทัพผ่านด่านเจดีย์สามองค์ การรบที่ทุ่งลาดหญ้า ท่าดินแดง และสามสบ จวบจนการย้ายเมืองกาญจนบุรีมาตั้งที่ปากแพรกหรือลิ้นช้าง เหตุการณ์ครั้งสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ญี่ปุ่นได้ใช้เส้นทางยุทธศาสตร์สายนี้เกณฑ์เชลยศึกทำทางรถไฟไปพม่าซึ่งเรียกกันว่าทางรถไฟสายมรณะ ทำให้เชลยศึกต้องล้มตายเป็นจำนวนมากและฝังอยู่ที่สุสานทหารสหประชาชาติมาจนถึงสงครามอินโดจีน กาญจนบุรีเป็นดินแดนที่เป็นที่ฝึกซ้อมรบเพื่อเตรียมการรบในเวียดนาม ลาวและกัมพูชา ตลอดจนเรื่องราวของชนกลุ่มน้อยที่น่าสนใจ และปัญหาการสร้างเขื่อนตอนบนของแม่น้ำแควน้อยและแควใหญ่ที่กำลังเป็นที่สนใจอยู่ไม่น้อย ในขณะที่ความเชื่อว่าคนไทยเดิมอยู่ไหน กำลังเปลี่ยนแปลง จังหวัดกาญจนบุรีก็ได้รับการสนใจอย่างมาก เพราะจังหวัดกาญจนบุรีเป็นดินแดนที่พบร่องรอยของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์มากที่สุด ตั้งแต่ยุคหินเก่า หินกลาง หินใหม่ และยุคโลหะ ได้พบเครื่องมือเครื่องใช้ ภาชนะดินเผา โครงกระดูก เครื่องประดับ ตลอดจนซากพืชซากสัตว์ที่ละทิ้งไว้ตามพื้นดิน ในถ้ำเพิงผา แสดงว่าได้มีมนุษย์อาศัยอยู่เป็นเวลานานไม่แพ้แหล่งก่อนประวัติศาสตร์แหล่งอื่นๆ ของโลก ร่องรอยของมนุษย์ในสมัยหินเก่า จากการสำรวจในประเทศไทยพบเครื่องมือหินกรวดโดยศาตราจารย์ฟริตซ์ สารแซง (Fritz Saracen) ได้เข้ามาสำรวจในปี พ.ศ. 2475 ที่จังหวัดเชียงราย จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดราชบุรี และจังหวัดลพบุรี จากการศึกษาพบเครื่องมือที่แท้เพียง 2 – 3 ก้อนเท่านั้น เรียกเครื่องมือหินเก่าที่พบในประเทศไทยว่า “Siaminian Culture” แต่ยังไม่เป็นที่ยอมรับ หลักฐานของยุคหินเก่าได้ปรากฏชัดเจนเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดขึ้น ญี่ปุ่นได้เกณฑ์เชลยศึกมาสร้างทางรถไฟจากหนองปลาดุกผ่านจังหวัดกาญจนบุรี ถึงเมืองมะละแหม่ง ประเทศพม่า ในจำนวนเชลยศึกนี้มี ดร.แวน ฮีเกอเรน (Dr.Van Heekeren) ชาวฮอลันดาเขาได้พบเครื่องมือหินบริเวณใกล้สถานีบ้านเก่าหลายชิ้น หลังสงครามโลกได้นำไปให้ศาสตราจารย์โมเวียสแห่งสถาบันพีบอดี้มิว -เซียม (Peabody Museum) มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด ปรากฏว่าเป็นเครื่องมือสมัยหินเก่าตอนต้น 3 ก้อน เครื่องมือหินกะเทาะหน้าเดียว 6 ก้อน และขวานหินขัดสมัยหินใหม่ 2 ก้อน ให้ชื่อว่า “วัฒนธรรมแฟงน้อย หรือเฟงน้อยเอียน” (Fingnoian Culture) บางท่านเรียกว่า “วัฒนธรรมบ้านเก่า” (Ban-Khaoian Culture) ในปี พ.ศ. 2499 ศาสตราจารย์โมเวียส ได้ส่งลูกศิษย์มาทำการสำรวจโดยร่วมมือกับกรมศิลปากรทำการสำรวจบริเวณหมู่บ้านเก่า จนถึงวังโพ ได้พบเครื่องมือหินกรวด 104 ก้อนต่อมาในปี พ.ศ. 2503 คณะสำรวจไทยเดนมาร์ก ได้ทำการสำรวจพบเครื่องมือหินเก่าที่บริเวณทุ่งผักหวาน จันเด ตำบลท่าขนุน อำเภอทองผาภูมิ และที่บ้านท่ามะนาว ตำบลลาดหญ้า อำเภอเมือง จากเครื่องมือนี้พอสรุปได้ว่า คนสมัยหินเก่าที่จังหวัดกาญจนบุรี น่าจะเป็นพวกมนุษย์วานรหรือพวกออสตราลอยด์ แต่ก็มีปัญหาว่าพวกนี้อพยพมาจากที่ใดเครื่องมือหินที่พบในจังหวัดกาญจนบุรีนี้ เป็นหินกะเทาะหน้าเดียวประเภทเครื่องขุดและสับตัด (Chopper-chopping tools) ยังไม่ปรากฏว่าได้พบโครงกระดูกของมนุษย์สมัยนี้เลย ผู้ที่สนใจและทำการสำรวจเรื่องราวของยุคหินเก่าในปัจจุบัน ก็มีคณะของศาสตราจารย์นายแพทย์สุด แสงวิเชียร พิพิธภัณฑ์ก่อนประวัติศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ในปี พ.ศ. 2524 ท่านได้พบเครื่องมือหินกรวดสมัย หินเก่าตามริมแม่น้ำตามถ้ำของแม่น้ำแควน้อยใกล้ไทรโยคเป็นจำนวนมากจากร่องรอยของมนุษย์สมัยหินเก่าที่จังหวัดกาญจนบุรีนี้ ยังไม่มีการสำรวจอย่างจริงจัง ซึ่งต้องพบหลักฐานมากกว่านี้ แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ต้นแม่น้ำทั้งสองของจังหวัดกาญจนบุรี คือ แม่น้ำแควน้อยและแม่น้ำแควใหญ่ ได้ถูกน้ำท่วมเพราะการสร้างเขื่อนศรีนครินทร์และเขื่อนเขาแหลมในปัจจุบัน
จากหลักฐานที่พบว่า เครื่องมือที่พบหลายแห่งในจังหวัดกาญจนบุรี เป็นแบบวัฒนธรรม โฮบิเนียน (Haobinhian Culture) จากการสำรวจของคณะไทย-เดนมาร์กเมื่อปี พ.ศ. 2504 ที่ถ้ำเพิงผาหน้าถ้ำพระขอม ตำบลไทรโยค อำเภอไทรโยค พบเครื่องมือหินกรวดจำนวนมาก และได้พบโครงกระดูกของผู้ใหญ่ 1 โครง ในระดับลึกจากเพิงผา 110–130 เซนติเมตร โดยกระดูกนั้นอยู่ในลักษณะนอนหงายชันเข่าอยู่บนก้อนหินใหญ่แห่งหนึ่งในแนวเกือบขนานกับผนังเพิงผา นอนหันหน้าไปด้านขวามือ ศีรษะหันไปทางทิศเหนือฝ่ามือขวาอยู่ใต้คาง แขนท่อนซ้ายวางพาดอก ที่บริเวณส่วนบนของร่าง และบริเวณทรวงอกมีหินควอทซ์ไซท์ก้อนใหญ่วางทับอยู่ตอนเหนือศีรษะ และร่างมีดินสีแดงโรยอยู่ แสดงว่ามีพิธีกรรมเกี่ยวกับการฝังศพ พบกระดูกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมวางอยู่บนทรวงอก เปลือกหอยกาบวางอยู่บนร่างหรือใกล้กับร่าง ที่บนแขนขวามีเปลือกหอยทะเลอยู่ 2 ชิ้น เป็นเรื่องน่าแปลกว่าเปลือกหอยทะเลคู่นี้มาได้อย่างไร จัดว่าโครงกระดูกคนสมัยหินกลาง โครงนี้เป็นโครงกระดูกที่เก่าแก่ที่สุดที่พบในประเทศไทย ปัจจุบันโครงกระดูกนี้ถูกส่งกลับมาจากพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติโคเปนเฮเกน มาเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์ก่อนประวัติศาสตร์โรงพยาบาลศิริราช