หลายคนชอบรับประทานอาหารรสเค็ม รสเค็มสักหน่อยก็อร่อยขึ้นแล้ว เพราะรสเค็มเป็นเสมือนสารตั้งต้นของ “รสนัว” แต่ยังมีประโยชน์กับร่างกายมากกว่าความอร่อยอีกด้วย เช่น หากกินเค็มพอดีจะช่วยปรับความดันโลหิตไม่ให้ต่ำหรือสูงเกินไป ช่วยให้อยากอาหาร และช่วยปรับระดับเกลือแร่ในร่างกายให้สมดุล
โทษและโรคร้ายจากรสเค็ม “รสเค็ม”
รสเค็มส่งผลร้ายโดยตรงกับ “ไต” เพราะไตมีหน้าที่ช่วยปรับโซเดียมในร่างกายให้สมดุล ถ้าได้รับมากเกินไป ไตจำเป็นต้องขับออกทางปัสสาวะ เรียกว่าไตต้องทำงานหนักเกินหน้าที่จนผิดปกติ จนวันหนึ่งจะไม่สามารถขับเกลือออกจากเลือดได้ กลายเป็นความดันโลหิตสูง ทีนี้หัวใจก็จะเต้นเร็วขึ้น ทำงานหนักขึ้นจนเสี่ยง “หัวใจวาย”
ลดเค็ม…เป็นพฤติกรรมสำคัญที่ควรปฏิบัติอย่างจริงจัง สามารถทำได้ง่ายแต่ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคร้ายต่างๆ ได้หลายโรคด้วยกัน เนื่องจากปกติอาหารทั่วไปมักมีรสเค็มตั้งต้นอยู่แล้ว แต่พฤติกรรมคนไทยชอบเพิ่มรสเค็มเข้าไปอีก เช่น การเติมพริกน้ำปลา การจิ้มซอสหรือน้ำจิ้มที่มีส่วนประกอบของเกลือ เป็นต้น ทำให้ร่างกายได้รับรสเค็มเป็นส่วนเกินและทำให้เกิดโรคต่างๆ ตามมา จากผลสำรวจพบว่าคนไทยมีการทานรสเค็มเกินความต้องการสูงถึง 2 เท่า
กินเค็มมากเกินไปอาจเสี่ยงโรค
- โรคไต การได้รับโซเดียมปริมาณมากอย่างต่อเนื่องอาจส่งผลให้ไตทำงานหนักขึ้นจากการกำจัดโซเดียมส่วนเกินออกจากร่างกาย ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้เกิดโรคไต
- โรคกระดูกพรุน โซเดียมที่มากขึ้น ส่งผลให้ร่างกายนั้นขับแคลเซียมที่จำเป็นต่อการสร้างและคงความแข็งแรงของกระดูกออกไปทางปัสสาวะมากยิ่งขึ้น จึงอาจทำให้กระดูกบาง เสี่ยงต่อภาวะเปราะหักง่ายขึ้น รวมถึงอาจเป็นสาเหตุของโรคกระดูกพรุน
- โรคหลอดเลือดหัวใจ ด้วยคุณสมบัติที่ช่วยเพิ่มความดันโลหิตของโซเดียมอาจส่งผลให้หลอดเลือดและหัวใจนั้นทำงานหนักมากยิ่งขึ้น จึงอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคหลอดเลือดและโรคหัวใจ ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว หรือภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดได้
- โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร มีงานวิจัยที่พบว่าเกลือนั้นอาจช่วยให้แบคทีเรียในท้องเติบโตอย่างรวดเร็ว รวมทั้งสร้างความเสียหายให้กับเยื่อบุกระเพาะอาหาร ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งชนิดนี้ อย่างไรก็ตาม ทฤษฎีเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งจากหลายการศึกษาเท่านั้น และในปัจจุบันยังไม่พบสาเหตุที่แท้จริงว่าเกลือนั้นเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งกระเพาะอาหารได้อย่างไร
-ขอบคุณแหล่งข้อมูล https://www.pobpad.com และ https://health.kapook.com