๒๐๐ ปี พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2347 ในรัชกาลที่ 1 ตรงกับวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 11 ปีชวด จุลศักราช 1166 เป็นพระราชโอรสของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยรัชกาลที่ 2
ระหว่างที่ทรงผนวชอยู่ในสมณเพศเป็นเวลา 27 ปี ขณะที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ขึ้นครองราชย์ เจ้าฟ้ามงกุฎทรงมีกรณียกิจหลายด้านซึ่งเป็นประโยชน์ต่อมาในอนาคต ทรงศึกษาภาษามคธ (บาลี) จนสามารถแปลพระปริยัติธรรมได้อย่างแม่นยำ
ทรงใช้เวลาศึกษาภาษาละตินและภาษาอังกฤษ รวมทั้งศาสตร์แขนงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ การเมือง วรรณคดี ปรัชญา ไปจนถึง เรขาคณิต ตรีโกณมิติ วิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะดาราศาสตร์ที่ทรงสนพระทัยเป็นพิเศษ
ในช่วงที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นครองราชย์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2394 นั้นเป็นยุครุ่งเรืองของลัทธิจักรวรรดินิยม ทั้งอังกฤษและฝรั่งเศสแผ่อิทธิพลครอบคลุมประเทศต่างๆ ในแถบนี้ แต่สายพระเนตรที่กว้างไกลและพระปรีชาสามารถด้านภาษาและการเมืองระหว่างประเทศ ทำให้สยามเป็นเพียงประเทศเดียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่รอดพ้นจากการการเข้ายึดครอง
ดาวหาง
ตลอดพระชนม์ชีพของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีดาวหางหลายดวงมาปรากฏเหนือท้องฟ้า ที่สว่างมากมีอยู่ 3 ดวง ดวงแรกชื่อดาวหางฟลูเกอร์กูส มาให้เห็นขณะมีพระชนมายุ 8 พรรษา ดาวหางดวงที่ 2 ชื่อ ดาวหางโดนาติ ค้นพบโดยนักดาราศาสตร์ชาวอิตาเลียนในปี พ.ศ. 2401 มีขนาดใหญ่สวยงาม ขณะนั้นคนไทยและชาวตะวันออกยังมีความเชื่อเรื่องโชคลางและภัยพิบัติจากสิ่งแปลกประหลาดในท้องฟ้า โดยเฉพาะดาวหางที่เป็นเหมือนสัญญาณบอกเหตุร้าย
ทรงมีพระราชนิพนธ์ประกาศเตือนไม่ให้เกิดการแตกตื่น ชื่อว่า “ประกาศดาวหางขึ้นอย่าให้วิตก” ตอนหนึ่งว่า “ดาวดวงนี้ชาวยุโรปได้เห็นมาแล้วหลายเดือน ดาวอย่างนี้มีคติแลทางที่ดำเนินยาวไปในท้องฟ้าไม่เหมือนดาวพระเคราะห์อื่น ดาวพระเคราะห์ทั้งปวงเป็นของสัญจรไปนานหลายปีแล้วก็กลับมาได้เห็นในประเทศข้างนี้อีก เพราะเหตุนี้อย่าให้ราษฎรทั้งปวงตื่นกันแลคิดวิตกเล่าลือไปต่างๆ ด้วยว่ามิใช่จะได้เห็นในพระนครนี้แลเมืองที่ใกล้เคียงเท่านั้นหามิได้ ย่อมได้เห็นทุกบ้านทุกเมือง ทั่วพิภพอย่างได้เห็นนี้แล”
เวลามาตรฐาน
พระราชกรณียกิจด้านดาราศาสตร์ที่สำคัญอย่างหนึ่งของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ การสถาปนาเวลามาตรฐานของประเทศ ซึ่งขณะนั้นยังไม่มีการกำหนดให้เส้นลองจิจูดที่ผ่านหอดูดาวกรีนิชในอังกฤษเป็นเส้นเมริเดียนหลักของโลก แต่กลับมีหลักฐานว่าพระจอมเกล้าฯ ได้ทรงใช้การสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์สำหรับกำหนดเวลามาตรฐานของประเทศไทย โปรดฯ ให้สร้างพระที่นั่งภูวดลทัศไนย ซึ่งเป็นพระที่นั่งทรงยุโรปสูง 5 ชั้น บนยอดเป็นหอนาฬิกามีนาฬิกาขนาดใหญ่ทั้งสี่ด้าน แต่งตั้งพนักงานที่คอยวัดตำแหน่งดวงอาทิตย์ในเวลากลางวัน และดวงจันทร์ในเวลากลางคืน เพื่อปรับนาฬิกาให้เที่ยงตรงอยู่เสมอ
สุริยุปราคาเต็มดวง
เหตุการณ์ที่เป็นที่กล่าวขวัญและเป็นที่มาของวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ คือ ปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2411 หลักฐานจากประกาศหลายฉบับแสดงว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงศึกษาการคำนวณเพื่อพยากรณ์ปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นสุริยุปราคา จันทรุปราคา ดาวพุธผ่านหน้าดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์บังดาวเคราะห์ เป็นต้น ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลามาก ไม่ได้คำนวณได้รวดเร็วอย่างในปัจจุบัน
ขอบคุณแหล่งข้อมูลอ้างอิง:
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย, สำนักงานโครงการอุทยานวิทยาศาสตร์พระจอมเกล้า ณ หว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
สิงห์โต ปุกหุต, พระบิดาวิทยาศาสตร์ไทย
http://www.kingmongkut.com
Author: Tuemaster Admin
ทีมงานจากเว็บไซต์ติวกวดวิชาออนไลน์ที่ดีที่สุด !! สำหรับ การเรียนออนไลน์ ม.ปลาย (ม.4, ม.5, ม.6)