เทศกาลกินเจ (Nine Emperor Gods Festival)
ความหมายของเจ
คำว่า “เจ” ในภาษาจีนทางพุทธศาสนาฝ่ายมหายานมีความหมายว่า “อุโบสถ” เดิมหมายความว่า “การรับประทานอาหารก่อนเที่ยงวัน” ตามแบบอย่างของชาวพุทธที่รักษาอุโบสถศีล หรือรักษาศีล 8 ที่จะไม่รับประทานอาหารหลังเที่ยงวันไปแล้ว แต่สำหรับพุทธนิกายมหายานนั้น การรักษาอุโบสถศีลจะรวมถึงการไม่รับประทานเนื้อสัตว์ด้วย เราจึงนิยมเรียกการไม่ทานเนื้อสัตว์รวมไปกับการกินเจ ในปัจจุบันผู้ที่รับประทานอาหารทั้ง 3 มื้อ แต่ไม่กินเนื้อสัตว์ก็ยังคงเรียกว่า “กินเจ” ดังนั้นความหมายของคนกินเจ ไม่เพียงแต่ไม่ทานเนื้อสัตว์ แต่ยังต้องดำรงตนอยู่ในศีลธรรมอันดีงาม มีความบริสุทธิ์ สะอาด ทั้งกาย วาจา ใจ
การกินเจ ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 หมายถึง การถือศีลอย่างญวนและจีนที่ไม่กินของสดคาว แต่บริโภคอาหารประเภทผักที่ไม่มีของสดของคาวผสม ซึ่งมาจากรากศัพท์คำภาษาจีนที่ว่า “เจียฉ่าย” หมายถึง การกินอาหารผัก อาหารที่มาจากพืชผักธรรมชาติ ไม่มีเนื้อสัตว์ปะปน และไม่ปรุงด้วยผักฉุน 5 ชนิด ได้แก่ กระเทียม หัวหอม หลักเกียว กุยช่าย ใบยาสูบ และงดเว้นน้ำนมสด นมข้นด้วย เพราะถือว่าเป็นของสดของคาว
ช่วงเวลากินเจ
ประเพณีกินเจที่ชาวจีนเรียกกันว่า “เก้าอ๊วงเจ” หรือ “กิ้วอ๊วงเจ” แปลว่า “เจเดือน 9″ เริ่มต้นในวันขึ้น 1 ค่ำ ถึง 9 ค่ำ เดือน 9 ตามปฏิทินจีน รวม 9 วัน 9 คืน ตรงกับเดือน 11 หรือเดือนตุลาคมของไทย (ตามปฏิทินสากล) สำหรับในปี พ.ศ.2557 นี้ เริ่มวันที่ 24 กันยายน–2 ตุลาคม
คำว่า “เก้าอ๊วง” หรือ “กิ้วอ๊วง” แปลว่า “พระราชา 9 องค์” หรือนพราชา หมายถึงผู้เป็นใหญ่ทั้ง 9 ซึ่งเป็นที่มาของประเพณีกินผักกินเจ
ประวัติความเป็นมา
เทศกาลเจ เริ่มขึ้นเมื่อประมาณ 400 ปีมาแล้วในประเทศจีน ตามตำนานระบุว่า เกิดขึ้นในสมัยที่ชาวจีนถูกแมนจูเข้ามาปกครอง และบังคับชนชาติจีนยอมรับวัฒนธรรมของตน
สมัยนั้นเองมีคนจีนกลุ่มหนึ่งรวมตัวกันต่อต้านแมนจู โดยใช้หลักทางธรรมเข้าร่วมด้วย
ชาวจีนกลุ่มนี้นุ่งขาว ห่มขาว และไม่รับประทานเนื้อสัตว์ ตามความเชื่อว่า การประพฤติปฏิบัติตามแนวทางนี้จะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับตนเองได้
คนกลุ่มนี้เรียกตัวเองว่า “หงี่หั่วท้วง” แต่ท้ายที่สุดก็พ่ายแพ้ต่อแมนจู และพลีชีพไปจำนวนมาก
ทุกวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 9 ชาวจีนที่ยังอยู่ภายใต้การปกครองของแมนจู จึงพร้อมใจกันถือศีลกินเจ เพื่อรำลึกถึง “หงี่หั่วท้วง”
นอกจากนั้น การกินเจยังเชื่อกันว่าเพื่อเป็นการสักการะพระพุทธเจ้า 7 พระองค์ และพระมหาโพธิสัตว์อีก 2 พระองค์ รวมเป็น 9 พระองค์ หรือดาวนพเคราะห์ทั้ง 9
ในพิธีกรรมนี้งดเว้นการฆ่าสัตว์ ตัดชีวิต หันมาบำเพ็ญศีล โดยตั้งปณิธานการกินเจ งดเว้นอาหารคาว เพื่อสมาทานศีลคือ
1. เว้นจากการเอาชีวิตของสัตว์มาบำรุงชีวิตของตน
2. เว้นจากการเอาชีวิตของสัตว์มาเพิ่มเลือดของตน
3. เว้นจากการเอาชีวิตของสัตว์มาเพิ่มเนื้อของตน
เทศกาลกินเจของคนเชื้อสายจีนในไทยก็เป็นไปตามความเชื่อข้างต้น คือเพื่อสักการบูชาพระพุทธเจ้า และเจ้าแม่กวนอิมมหาโพธิสัตว์
กินเจเพื่ออะไร
จุดประสงค์หลักของการกินเจ แบ่งออกได้เป็น 3 ประเภทคือ
1. กินเพื่อสุขภาพ เพราะอาหารเจเป็นอาหารชีวจิต เมื่อกินติดต่อกัน จะทำให้ร่างกายสมดุล สามารถขับพิษของเสียต่าง ๆ ออกจากร่างกายได้ และปรับระบบต่าง ๆ ในร่างกายให้มีเสถียรภาพ
2. กินด้วยจิตเมตตา เนื่องจากทุก ๆ วัน อาหารที่เรากินประกอบด้วยเลือดเนื้อของสรรพสัตว์ ผู้ที่มีจิตใจดีงามจึงไม่สามารถกินเนื้อของสัตว์เหล่านั้นได้
3. กินเพื่อเว้นกรรม เพราะการฆ่าเอาเลือดเนื้อผู้อื่นมาเป็นของเราเป็นการสร้างกรรม แม้จะไม่ได้ลงมือฆ่าเองก็ตาม เพราะการซื้อผู้อื่นเท่ากับการจ้างฆ่า ถ้าไม่มีคนกินก็ไม่มีคนฆ่ามาขาย ผู้ที่เข้าใจเรี่องกฎแห่งกรรมจึงหยุดกิน หันมารับประทานอาหารเจแทน โดยไม่เห็นแก่ความอร่อยในช่วงเวลาสั้น ๆ เพียงแค่ให้อาหารผ่านลิ้นเท่านั้น
ที่มาของเทศกาลกินเจในประเทศจีน
ประเทศจีนเป็นประเทศที่มีอาณาบริเวณกว้างใหญ่ไพศาลมาก แค่ข้ามจากมณฑลหนึ่งไปอีกมณฑลหนึ่งก็แทบจะเหมือนคนละประเทศกันแล้ว ไม่ว่าจะภาษา วัฒนธรรม ความเชื่อต่างๆ ที่ถ้าไปถามคนจีนเองยังงง เช่น ไปถามคนจีนทางเหนือเรื่องติ่มซำ เขาก็จะไม่รู้จัก (จุดกำเนิดอยู่แถวฮ่องกง กวางตุ้ง) ไปถามเรื่องคนจีนไม่กินเนื้อเพราะนับถือเจ้าแม่กวนอิมไหม เขาก็งง เพราะที่นั่นกินกันเป็นล่ำเป็นสันมาก
ในทำนองเดียวกัน การกินเจนั้นเป็นเรื่องเฉพาะถิ่น ไม่ได้ทำกันทั่วทั้งประเทศ คนจีนที่กินเจส่วนใหญ่เป็นชาวจีนฮกเกี้ยน และแต้จิ๋ว อยู่ในมณฑลฟูเจี้ยน ซึ่งชาวจีนในละแวกนี้ก็มักอพยพย้ายถิ่นฐานมาอาศัยอยู่ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ และภาคใต้ของประเทศไทย ซึ่งเค้าจะไม่เรียกว่าเทศกาลกินเจ แต่จะเรียกว่า เทศกาลเฉลิมฉลองของพระราชาธิราชทั้ง 9 (Nine Emperor Gods Festival) หรือ 九皇大帝 ในประเทศจีนเองแม้จะพอมีอยู่บ้างแต่ก็หายากมากๆ แล้ว เป็นประเพณีแบบลัทธิเต๋ารวม 9 วัน กำหนดเอาวันตามจันทรคติ คือ เริ่มต้นตั้งแต่วันขึ้น 1 ค่ำ ถึง ขึ้น 9 ค่ำ เดือน 9 ตามปฏิทินจีนของทุกปี
เมื่อตำนานไม่ได้มีเพียงหนึ่งเดียว
ต่อมาเมื่อพระพุทธศาสนาเผยแผ่เข้าสู่เมืองจีน จึงปรากฏตำนานความเชื่อที่ผูกโยงกับพระพุทธเจ้า 7 พระองค์และพระโพธิสัตว์อีก 2 พระองค์ เรียกว่า กิ้วอ้วงฮุดโจ้ว ในภาษาจีนแต้จิ๋ว และกินเจกันเพื่อสักการบูชาทั้ง 9 พระองค์นี้
อีกเรื่องเล่าหนึ่ง การกินเจในช่วงวันขึ้น 1 ค่ำเดือน 1 ถึงขึ้น 9 ค่ำเดือน 9 (ตามปฏิทินจันทรคติ) นั้น วัตถุประสงค์เดิม ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการถือศีลตามหลักคำสอนทางศาสนา แต่เพื่อรำลึกถึงวีรบุรุษที่ลุกขึ้นมาโค่นล้มราชวงศ์ชิง และกอบกู้ราชวงศ์หมิง เมี่อประมาณสองสามร้อยปีก่อน หลังจากที่ชาวแมนจูยึดครองราชวงศ์หมิง และสถาปนาราชวงศ์ชิง ชาวฮั่นซึ่งเป็นลูกหลานราชวงศ์หมิงยังมีใจคิดก่อการกบฏเพื่อฟื้นฟูอำนาจทางการเมืองของราชวงศ์หมิงให้กลับคืนมา แต่ก็ไม่สำเร็จ เพราะถูกทางการปราบปรามด้วยมาตรการอย่างเหี้ยมโหดเด็ดขาด จึงมีผู้พลีชีพไปกับการในครั้งนั้นจำนวนไม่น้อย การกินเจจึงเป็นการรำลึกถึงวีรบุรุษเหล่านี้
-ขอบคุณข้อมูล https://travel.trueid.net/