ยาหม่อง เป็นยาทาภายนอกสำหรับบรรเทาอาการปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อและข้อต่อ อาการปวด บวม อักเสบจากแมลงกัดต่อย หรือใช้ดมเพื่อช่วยบรรเทาอาการวิงเวียนศรีษะ หน้ามืด เป็นลม ส่วนประกอบหลักของยาหม่องคือสารระเหยและสารสกัดจากสมุนไพรหลายชนิด เช่น เมนทอล การบูร บางสูตรอาจมีสารเมทิลซาลิไซเลต (Methyl Salicylate)
เกี่ยวกับยาหม่อง
กลุ่มยา | ยาระงับอาการปวด |
ประเภทยา | ยาหาซื้อได้เอง |
สรรพคุณ | บรรเทาอาการปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อและข้อต่อ ปวดบวมจากแมลงกัดต่อย และวิงเวียนศรีษะ |
กลุ่มผู้ป่วย | เด็กและผู้ใหญ่ |
รูปแบบของยา | ขี้ผึ้ง และชนิดน้ำ |
ยาหม่องสำหรับทา ทาและนวดตามบริเวณที่มีอาการปวด เมื่อย หรือมีแมลงสัตว์กัดต่อย ในปริมาณที่เหมาะสม ไม่มากหรือน้อยจนเกินไป
ยาหม่องสำหรับสูดดม สูดดมเมื่อมีอาการวิงเวียนศีรษะ หน้ามืด คล้ายจะเป็นลม
การใช้ยาหม่อง
- ปฏิบัติตามข้อแนะนำการใช้ยาของแต่ละผลิตภัณฑ์หรือตามคำแนะนำของเภสัชกรอย่างเคร่งครัด ไม่ควรใช้ยาหม่องในปริมาณมากเกิน น้อยเกิน หรือใช้ติดต่อกันนานกว่าที่กำหนด
- หากใช้เป็นครั้งแรก ควรป้ายยาหม่องปริมาณเล็กน้อยลงบนข้อพับแขนหรือข้อมือแล้วทิ้งไว้สักครู่ หากพบว่ามีอาการแพ้ เช่น ผิวหนังแดง มีผื่น ควรล้างผิวบริเวณที่ป้ายยาด้วยสบู่และน้ำสะอาดทันที
- ล้างมือก่อนและหลังจากใช้ยาหม่องทุกครั้ง
- หากยาหม่องเข้าตา จมูก หรือปาก ให้ล้างด้วยน้ำสะอาดทันที
- รีบไปพบแพทย์หากอาการปวดไม่ดีขึ้นภายใน 7 วัน กลับมาปวดซ้ำภายใน 2-3 วันหลังจากหายดีแล้ว หรือมีผื่นแดง ปวดศรีษะ มีไข้ หลังจากใช้ยา
- เก็บยาหม่องไว้ที่อุณหภูมิห้อง ป้องกันไม่ให้ถูกแสงแดด และปิดฝาให้สนิททุกครั้งหลังใช้
คำเตือนการใช้ยาหม่อง
- ผู้ที่มีผิวบอบบางหรือผิวแพ้ง่ายควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้
- สตรีมีครรภ์หรือกำลังให้นมบุตรควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้
- ห้ามใช้กับทารกหรือเด็กเล็ก หากไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์
- ห้ามกลืนหรือรับประทานยาหม่องโดยเด็ดขาด
- ห้ามใช้ยาหม่องทาบริเวณผิวที่แห้ง แตก แพ้ง่าย ผิวไหม้จากแสงแดด หรือมีแผล
- ห้ามใช้ผ้าพันแผลพันบริเวณผิวหนังที่ป้ายยา
- ห้ามให้ผิวบริเวณที่ป้ายยาสัมผัสความร้อน ควรหลีกเลี่ยงการแช่น้ำร้อน ซาวน่า หรือใช้แผ่นประคบร้อน
ขอบคุณแหล่งข้อมูล https://www.pobpad.com