วิกฤตสิ่งแวดล้อม คือเหตุการณ์ร้ายแรงที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมรอบตัวเราโดยมีสาเหตุมาจากปัจจัยหลัก ดังต่อไปนี้
1. ประชากรที่เพิ่มขึ้น ใช้ทรัพยากรมากขึ้น
สาเหตุของปัญหาสิ่งแวดล้อมเกิดจากที่มนุษย์มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้มีความต้องการใช้ทรัพยากรเพื่อจัดการกับปัจจัยพื้นฐานในการใช้ชีวิตที่เพิ่มขึ้น
และเมื่อทรัพยากรที่มีอยู่ไม่เพียงต่อความต้องการ จึงเกิดการบุกรุกทำลายสิ่งแวดล้อมขึ้น เช่น การตัดไม้ทำลายป่าเพื่อสร้างที่อยู่อาศัย การทำไร่เลื่อนลอยเพื่อสร้างที่ทำกิน การขุดเจาะถ่านหินและน้ำมันเพื่อทำเป็นพลังงานฟอสซิล เป็นต้น จนก่อให้เกิดวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมตามมา
2. การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ขยายพื้นที่การทำลาย
เมื่อมนุษย์ต้องการยกระดับเศรษฐกิจของประเทศให้สูงขึ้น การนำทรัพยากรมาใช้เพิ่มขึ้นเพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจึงเป็นเรื่องหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ทว่าด้วยเงินทุนและบุคลากร รวมถึงรูปแบบทรัพยากรที่จำกัด ส่งผลให้บางครั้งเราไม่สามารถสร้างสิ่งทดแทนของเดิมที่ใช้แล้วหมดไปได้ ทำให้เกิดปัญหาการใช้ทรัพยากรที่ไม่ยั่งยืนตามมา
ยกตัวอย่างเช่น การใช้พลังงานฟอสซิลที่ต้องขุดเจาะน้ำมัน ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติขึ้นมาใช้เพื่อผลิตเป็นพลังงาน ทำให้ในอนาคตโลกเรามีโอกาสเกิดการขาดแคลนพลังงานจากเชื้อเพลิงเหล่านี้ได้ตลอดเวลา เป็นต้น
3. ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ก้าวสู่วิกฤตสิ่งแวดล้อม
การปฏิวัติอุตสาหกรรมทั้งการใช้พลังงานไอน้ำและพลังงานน้ำมัน ส่งผลให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมในระยะยาวในหลายพื้นที่ แม้ว่าจะมีการแก้ไขในเรื่องนี้ในปัจจุบันแล้วก็ตาม แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าความก้าวหน้าของมนุษยชาติมีสิ่งที่ต้องแลกมาไม่น้อยเลย
และนั่นรวมไปถึงการผลิตสารเคมีต่างๆ เพื่อใช้ในด้านการเกษตรและอุตสาหกรรม เช่น ยาฆ่าแมลง ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าวัชพืช เป็นต้น ซึ่งสารเหล่านี้เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพของสิ่งมีชีวิตอีกด้วย
วิธีแก้วิกฤตสิ่งแวดล้อมด้วยใดได้บ้าง
ในวิกฤตยังมีโอกาส เมื่อปัจจุบันปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมนั้นได้รับความสนใจเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะประเด็นด้านพลังงาน ต้นกำเนิดของปัญหาก๊าซเรือนกระจกจากการใช้พลังงานฟอสซิล ซึ่งในหลายประเทศก็ออกมาเคลื่อนไหวและรณรงค์กันอย่างจริงจัง ผ่านการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เช่น การออกกฎหมายห้ามใช้รถยนต์ควันดำ หรือการห้ามนำเข้ารถยนต์มือสองเพื่อลดปัญหามลพิษในหลายประเทศ
นอกจากนี้ยังเกิดการสนับสนุนให้นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาแก้ไขปัญหาด้านมลพิษและการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลของรถยนต์แบบเดิมๆ ผ่านการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV Car) ซึ่งเรื่องนี้ได้กลายเป็นเป้าหมายหลักสำหรับหลายๆ ประเทศบนโลก
ยกตัวอย่างในประเทศฝรั่งเศสที่ตั้งเป้าหมายไว้เลยว่า จะลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิงจากน้ำมันให้ได้ภายในปี พ.ศ. 2583 นั่นก็คือ 22 ปีข้างหน้า เพราะเป็นส่วนหนึ่งของแผนการเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายข้อตกลงลดโลกร้อนในกรุงปารีส (Paris Agreement) ซึ่งเป็นแนวทางการแก้วิกฤตสิ่งแวดล้อมที่นานาชาติได้ทำข้อตกลงร่วมกัน เพื่อลดปัญหาก๊าซเรือนกระจก (Mitigation) เป็นหลัก ด้วยการรักษาการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกในระดับที่ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส
นอกจากการบังคับใช้กฎหมาย การใช้เทคโนโลยี และการตั้งเป้าหมายร่วมกันแล้ว ประเทศต่างๆบนโลกยังส่งเสริมให้เกิดธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อช่วยลดวิกฤตการณ์ร้ายแรงที่จะเกิดขึ้น และแก้ปัญหาการขาดแคลนพลังงานไปด้วยในตัว