วิตามินในการช่วยภูมิคุ้มกันสู้โรค
วิตามินเอ
วิตามินเอ (vitamin A) เป็นวิตามินที่ละลายในไขมัน มีบทบาทสำคัญต่อการมองเห็นในฐานะที่เป็นหนึ่งในส่วนประกอบของโรดอพซิน (rhodopsin) ซึ่งเป็นโปรตีนที่ดูดซับแสงในตัวรับของจอประสาทตา สนับสนุนการเจริญเติบโตของเซลล์ และช่วยบำรุงรักษาเซลล์ชนิดเยื่อบุเซลล์ของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น ผิวหนัง ทางเดินหายใจ ทางเดินอาหาร เป็นต้น
ในปี ค.ศ. 1920 วิตามินเอได้รับการขนานนามว่าเป็น วิตามินต่อต้านการติดเชื้อ “the anti-infective vitamin” โดยวิตามินเอความเกี่ยวข้องกับการพัฒนาและการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ในบทบาทของ
การควบคุมการตอบสนองของเซลล์บี (B-cell) ซึ่งเป็นเซลล์ที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาวัคซีนและการสร้างภูมิคุ้มกันที่มีประสิทธิภาพ
วิตามินเอพบได้ในตับ น้ำมันตับปลา ไข่แดง นมและผลิตภัณฑ์จากนม นอกจากนี้ ยังพบได้ในผักใบเขียวและผักสีเหลืองและสีส้มที่มีเบต้าแคโรทีน ซึ่งร่างกายสามารถเปลี่ยนเป็นวิตามินเอ เช่น บร็อคโคลี่ ฟักทอง และแครอท
วิตามินบี
วิตามินบีโดยเฉพาะอย่างยิ่ง B6, B9 และ B12 เป็นหน่วยสนับสนุนการตอบสนองแรกของร่างกายเมื่อได้รับเชื้อก่อโรค โดยวิตามินบีจะช่วยสนับสนุนการผลิตและกิจกรรมของเซลล์นักฆ่า (natural killer cell) ของร่างกาย โดยเซลล์นักฆ่าจะทำงานโดยการที่ทำให้เซลล์ที่ติดเชื้อเปลี่ยนแปลงรูปร่างและเกิดการแตกหักของสายดีเอ็นเอ” ซึ่งเป็นกระบวนการที่เรียกว่า apoptosis
แหล่งสารอาหารของวิตามิบี 6 พบได้ในธัญพืชพืชตระกูลถั่ว ผักใบเขียว ผลไม้ ถั่ว ปลา ไก่และเนื้อสัตว์ สำหรับวิตามินบี 9 (หรือโฟเลต) จะพบมากในผักใบเขียว พืชตระกูลถั่ว ถั่วและเมล็ดพืช และวิตามินบี 12 (cyanocobalamin) จะพบได้ในผลิตภัณฑ์จากสัตว์ เช่น ไข่ เนื้อสัตว์ นมและในนมถั่วเหลืองเสริม
วิตามินซีและอี
เมื่อร่างกายของคุณต่อสู้กับการติดเชื้อ จะเกิดภาวะเครียดที่เกิดจากออกซิเดชัน (Oxidation stress) นำไปสู่การผลิตสารอนุมูลอิสระ (free radicals) ที่สามารถทำลายเนื้อเยื่อและก่อให้เกิดการอักเสบที่รุนแรงได้ ซึ่งวิตามินซีและวิตามินอีช่วยปกป้องเซลล์จากภาวะดังกล่าว
วิตามินซียังช่วยสนับสนุนการผลิตเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกัน ได้แก่ เซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดนิวโทรฟิล (neutrophils) เซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซต์ (lymphocytes) และ เซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดฟาโกไซต์ (phagocytes) โดยแหล่งของวิตามินซีที่ดี ได้แก่ ส้ม มะนาว เบอร์รี่ กีวี บรอกโคลี มะเขือเทศและพริก ในขณะที่สามารถพบวิตามินอีได้ในถั่ว ผักใบเขียว และน้ำมันพืช
วิตามินดี
นอกเหนือจากบทบาทของการเสริมสร้างแคลเซียมและสภาวะสมดุลของกระดูก วิตามินดียังมีส่วนช่วยสนับสนุนการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน โดยมีการค้นพบ ตัวรับวิตามินดี (Vitamin D Receptor)บนเซลล์ T (T cell) เซลล์บี (B cell) และ Antigen presenting cell ซึ่งเป็นเซลล์ภูมิคุ้มกันที่หน้าที่ทำลายเชื้อก่อโรคแม้ว่ารังสีอัลตราไวโอเลต (UV) จากดวงอาทิตย์จะช่วยผลิตวิตามินดีในผิวหนังซึ่งเป็นแหล่งวิตามินดีธรรมชาติที่ดีที่สุด แต่แหล่งอาหารจำพวกไข่ ปลา และนมบางชนิด อาจช่วยเสริมด้วยวิตามินดีได้ด้วย
เหล็ก, สังกะสี, ซีลีเนียม
ร่างกายต้องการเหล็กสังกะสีและซีลีเนียม สำหรับการสนับสนุนการเจริญเติบโตของเซลล์ภูมิคุ้มกันในรูปแบบที่แตกต่างกัน โดยธาตุเหล็กช่วยฆ่าเชื้อโรคโดยการเพิ่มจำนวนของสารอนุมูลอิสระที่สามารถทำลายเชื้อได้ นอกจากนี้ยังควบคุมปฏิกิริยาของเอนไซม์ที่จำเป็นสำหรับเซลล์ภูมิคุ้มกันในการรับรู้และกำหนดเป้าหมายเชื้อโรค ในขณะที่สังกะสีช่วยรักษาความสมบูรณ์ของผิวหนังและเยื่อเมือก โดยสังกะสีและซีลีเนียมยังทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระช่วยดูดซับความเสียหายที่เกิดจากภาวะความเครียดออกซิเดชัน โดยแหล่งอาหารที่พบธาตุเหล็กได้แก่ เนื้อไก่ ปลา พืชตระกูลถั่ว และธัญพืช พบสังกะสีได้ในหอยนางรมและอาหารทะเลอื่น ๆ ถั่วแห้ง (โดยเฉพาะถั่วบราซิล) ในขณะที่ซีเรียล เนื้อสัตว์ และเห็ดเป็นแหล่งอาหารที่ดีของซีลีเนียม
วิตามินซี
ช่วยการทำงานของเม็ดเลือดขาวและช่วยกระบวนการทำลายเชื้อโรค โดยความต้องการต่อวันตามข้อกำหนดปริมาณสารอาหารอ้างอิงที่ควรได้รับประจำวันสำหรับคนไทย พ.ศ. 2563 ในเด็กอายุ 1-8 ปี ควรได้รับ 25-40 มิลลิกรัมต่อวัน ในเด็กและวัยรุ่นช่วงอายุ 9-18 ปี ควรได้รับ 60-100 มิลลิกรัมต่อวัน และวัยผู้ใหญ่ อายุตั้งแต่ 19 ปีขึ้นไป
วิตามินเอ
ช่วยส่งเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน โดยแหล่งอาหารที่ดีที่ร่างกายสามารถดูดซึมและใช้ประโยชน์ได้สูง ได้แก่ เครื่องในสัตว์ ไข่แดง นม ผลิตภัณฑ์จากนม และแหล่งอาหารรองลงมาจะได้จากพืช ได้แก่ ผักใบเขียวเข้ม ผักและผลไม้สีเหลืองและส้ม เช่น ตำลึง ผักบุ้ง แครอท ฟักทอง มันเทศสีเหลือง มะละกอสุก
สังกะสี
มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตและแบ่งเซลล์ที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกัน รวมทั้งควบคุมการทำงานของเอนไซม์ที่เป็นกลไกหลักในการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ซึ่งแหล่งอาหารที่ดีเมื่อพิจารณาจากปริมาณและการดูดซึมเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ ได้แก่ เนื้อสัตว์และเครื่องใน หอยนางรม สัตว์ปีกและปลา และที่รองลงมา ได้แก่ ไข่ นม
โปรตีน
ช่วยสร้างเซลล์ภูมิคุ้มกันและสารภูมิคุ้มกันต่าง ๆ ซึ่งโปรตีนที่มีคุณภาพดีมีกรดอะมิโนจำเป็นที่ครบถ้วน สามารถได้รับจากเนื้อสัตว์ ไข่ นม (พร่องหรือขาดมันเนย) ชีส (เลือกชนิดที่ไขมันต่ำ) เต้าหู้ ถั่วเหลือง สำหรับโปรตีนจากพืช เช่น ถั่วต่าง ๆ เมล็ดพืชต่าง ๆ สามารถเลือกรับประทานควบคู่กับแหล่งอาหารจากพืชอื่น ๆ เพื่อเติมเต็มในส่วนของกรดอะมิโนจำเป็นที่โปรตีนจากพืชชนิดนั้น ๆ ไม่ครบถ้วน เช่น ถั่วเมล็ดแห้ง (ถั่วเขียว ถั่วแดง ถั่วดำ) คู่กับถั่วเปลือกแข็งหรือเมล็ดพืช
จุลินทรีย์สุขภาพ (โพรไบโอติกส์) และอาหารสำหรับจุลินทรีย์สุขภาพ (พรีไบโอติกส์)
ช่วยส่งเสริมระบบภูมิคุ้มกันภายในร่างกาย โดยแหล่งอาหารที่ดีที่มีจุลินทรีย์สุขภาพ ได้แก่ โยเกิร์ตและนมเปรี้ยวที่ระบุไว้ว่ามีการเติมโพรไบโอติกส์ แต่ควรเลือกที่น้ำตาลต่ำ สำหรับอาหารสำหรับจุลินทรีย์สุขภาพ ส่วนใหญ่แล้วอยู่ในแหล่งอาหารที่มีใยอาหารสูง เช่น ธัญพืช ข้าวโอ๊ต ถั่วเมล็ดแห้ง กล้วย หัวหอมใหญ่ กระเทียม หน่อไม้ฝรั่ง
-ขอบคุณแหล่งข้อมูล https://www.scimath.org/ และ https://www.rama.mahidol.ac.th/
เอกสารอ้างอิง
1. สำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข. (2563). ปริมาณสารอาหารอ้างอิงที่ควรได้รับสำหรับคนไทย พ.ศ. 2563. กรุงเทพมหานคร: ห้างหุ้นส่วนจำกัด เอ.วี. โปรเกรสซีฟ.
2. Childs, C. E., Calder, P. C., & Miles, E. A. (2019). Diet and Immune Function. Nutrients, 11(8), 1933. https://doi.org/10.3390/nu11081933
3. Khaled MB & Benajiba N. (2020). The role of nutrition in strengthening immune system against newly emerging viral diseases: case of SARS-CoV-2. The North African Journal of Food and Nutrition Research, 4(7), 240-44.
ผู้เรียบเรียง : ดร.วนพร ทองโฉม นักวิชาการโภชนศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล