สังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต (A Lifelong Learning Society)
คือ กระบวนการทางสังคมที่เกื้อหนุน ส่งเสริมให้บุคคล และสมาชิกในชุมชน สังคม ให้เกิดการเรียนรู้โดยผ่านทางสื่อ เทคโนโลยี สารสนเทศแหล่งการเรียนรู้ต่าง ๆ จนสามารถสร้างความรู้ ทักษะ ระบบการจัดการความรู้และระบบการเรียนรู้ที่ดี มีการถ่ายทอดความรู้ แลกเปลี่ยนความรู้ร่วมกันทุกภาคส่วนในสังคมทำให้เกิดพลังสร้างสรรค์ และเกิดภูมิปัญญา ตระหนักถึงความสำคัญ ความจำเป็นของการเรียนรู้ที่ทุกคนและทุกส่วนในสังคมมีความใฝ่รู้และพร้อมที่จะเรียนรู้อยู่เสมอตลอดชีวิตจนสิ้นอายุขัย เป็นการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นได้ในทุกเวลา ทุกสถานที่ ของคนทุกคนในทุกสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม เป็นการเรียนรู้เพื่อให้บุคคลในสังคมเกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมทางด้านอารมณ์ สังคม และสติปัญญาไปในทางที่ดีขึ้น
ความสำคัญของสังคมแห่งการเรียนรู้ คือ
1. บุคคลแห่งการเรียนรู้ เป็นบุคคลที่มีความตระหนักถึงความสำคัญ ความจำเป็นของการเรียนรู้ มีทักษะและกระบวนการในการคิด การวิเคราะห์ และการแก้ปัญหา มีความใฝ่รู้สามารถสร้างกระบวนการเรียนรู้ด้วย ตนเองและสามารถใช้ความรู้ได้อย่าง ถูกต้อง เหมาะสม สามารถเรียนรู้อย่างต่อเนื่องและมีคุณภาพตามความต้องการ ความสนใจและความถนัด
2. แหล่งการเรียนรู้ เพื่อให้มีแหล่งเรียนรู้อย่างเพียงพอ หลากหลาย ทั่วถึง ทุกกลุ่มเป้าหมายต้องพัฒนาระบบข้อมูล สารสนเทศ แหล่งการเรียนรู้ทุกประเภท มีการจัดระบบเครือข่ายเชื่อมโยงแหล่งการเรียนรู้ มีการพัฒนาทรัพยากรการเรียนรู้ที่มีอยู่ในสังคมให้เป็นแหล่งการเรียนรู้ที่มีศักยภาพในการบริการการเรียนรู้ มีความพร้อม อำนวยความสะดวกต่อการเรียนรู้เหมาะกับศักยภาพของสังคมนั้นๆ
3. องค์ความรู้ มีระบบการจัดหาและรวบรวมความรู้จากแหล่งต่างๆ มีการพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการจัดเก็บและค้นคว้าองค์ความรู้ได้อย่างรวดเร็ว มีการสร้างสรรค์องค์ความรู้ใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก
และบริบทของสังคมไทย โดยพัฒนาจากภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีอยู่กับฐานความรู้นวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อให้เหมาะสมกับความสามารถของบุคคล กลุ่มหรือชุมชน เพื่อตอบสนองความต้องการของแต่ละชุมชน
4. การจัดการความรู้ เริ่มจากการพัฒนารูปแบบการเรียนรู้ที่หลากหลาย พัฒนากลไก กระบวนการถ่ายทอดความรู้ ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงองค์ความรู้อย่างเสมอภาค พัฒนาระบบบริหารจัดการใช้สื่อเทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมการสร้างบรรยากาศเพื่อเอื้อต่อการเรียนรู้ ให้ประชาชนสามารถเข้าสู่องค์ความรู้ตลอดเวลา และต้องมีการพัฒนาบุคคลองค์กร ให้เป็นผู้จัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของประชาชน พัฒนาทักษะความสามารถในการถ่ายทอดความรู้ให้แก่ภูมิปัญญาท้องถิ่น และแหล่งเรียนรู้ต่างๆ ให้สามารถเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ มีการบูรณาการใช้ความรู้เป็นฐานในการแก้ปัญหาและการพัฒนาที่เหมาะสมกับสภาพของชุมชน
การพัฒนาสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตโดยทั่วไปมีกระบวนการพัฒนาอันนำไปสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต ดังนี้
1. การสร้างความตระหนักรู้และเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิดสังคมแห่งการเรียนรู้ การพัฒนาโดยใช้ความรู้เป็นฐานการพัฒนา และคุณค่าของการศึกษาตลอดชีวิต
2. การจัดตั้งคณะทำงาน เรียกว่า คณะกรรมการพัฒนาสังคมแห่งการเรียนรู้ เพื่อทำหน้าที่วางแผนการดำเนินงาน พัฒนาและออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ กำเนินโครงการการต่างๆ และการประเมินผลการดำเนินงาน รวมทั้งรับผิดชอบการประสานงานร่วมมือกับผู้ที่เกี่ยวข้อง
3. วิเคราะห์สภาพองค์กรหรือชุมชนในการพัฒนาไปสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต
4. กำหนดแผนการพัฒนาสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่ชัดเจนเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย
5. พัฒนาแผนปฏิบัติการอย่างละเอียดสำหรับการพัฒนาสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต
6. แสวงหาความร่วมมือจากกลุ่มเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง
7. ดำเนินการจัดกิจกรรมหรือโครงการเพื่อการพัฒนาสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างต่อเนื่อง
8. กำกับติดตามและประเมินผลความสำเร็จเป็นระยะๆ
9. สรุปองค์ความรู้ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผลการดำเนินงานกับสมาชิกและเครือข่ายที่หลากหลาย
10. ประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ผลการดำเนินงานการพัฒนาสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต
ขอบคุฯข้อมูล https://www.trueplookpanya.com/
และ https://www.gotoknow.org