ปัจจุบันคนในสังคมเริ่มตระหนักรู้มากขึ้นว่า อาการสมองเสื่อมไม่ได้เป็นอาการหลงลืมที่เกิดขึ้นตามอายุ ไม่ใช่ความเสื่อมตามวัย แต่เป็นอาการผิดปกติที่เรียกว่าเป็น “โรค” จึงพาผู้ป่วยมาพบแพทย์ได้เร็วขึ้น ผู้ป่วยส่วนใหญ่ยังเป็นกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป นอกจากปัจจัยเสี่ยงด้าน อายุ แล้ว ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นที่ทำให้สมองของเราทำงานได้แย่ลงกว่าอายุจริง เช่น ภาวะซึมเศร้า ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดผิดปกติ การสูบบุหรี่ ความเครียด
สาเหตุของโรคสมองเสื่อม
สาเหตุหลักของกล่มอาการโรคมองเสื่อม ได้แก่ ความเสื่อมของเซลล์ประสาทสมอง ซึ่งโรคที่รู้จักกันดี ได้แก่ โรคอัลไซเมอร์และภาวะสมองเสื่อมจากโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งเป็นกลุ่มโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่อาจชะลอ
การดำเนินโรคได้ ส่วนสาเหตุอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อม ที่ไม่ได้เกิดจากความเสื่อมของเซลล์ประสาทสมองโดยตรง เป็นโรคที่ได้รับการรักษาแล้วสามารถหยุดการดำเนินโรคหรือระกษาให้หายขาดได้ เช่น โรคสมองอักเสบ เนื้องอกในสมอง ภาวะน้ำในโพรงสมองผิดปกติ ภาวะสมองเสื่อมจากการดื่มสุรา การขาดฮอร์โมน เกลือแร่ หรือวิตามินบางชนิด และการรับประทานยาบางชนิดเป็นเวลานาน เป็นต้น
อาการเตือน ภาวะสมองเสื่อม
อาการเริ่มต้นของโรคสมองเสื่อมที่รู้จักกันทั่วไป ได้แก่ อาการหลงลืม โดยในระยะเริ่มแรกอาจจะยังไม่เป็นปัญหาต่อการทำงานหรือการใช้ชีวติ ซึ่งเราเรียกภาวะนี้ว่า Mild Cognitive Impairment โดยลักษณะของผู้ที่มีภาวะนี้ ได้แก่
-
มีอาการหลงลืมในสิ่งที่เพิ่งได้คุยกัน
-
การทำงานหรือการตัดสินใจช้าลง
ส่วนผู้ป่วยที่เริ่มเป็นโรคสมองเสื่อมจะมีอาการหลงลืมที่มากขึ้น เช่น
-
มีอาการถามซ้ำ หรือพูดคุยในเรื่องที่ได้พูดไปแล้วบ่อย ๆ
-
จำชื่อญาติสนิท หรือชื่อสิ่งของที่ใช้ในชีวิตประจำวันไม่ได้
-
ทำของหายบ่อย ๆ
-
เลิกสนใจในสิ่งที่เคยชอบ เป็นต้น
ถ้าผู้ป่วยมีอาการมากขึ้น จะมีการนอนหลับ การตื่นที่ผิดเวลา ไม่สามารถประกอบกิจวัตรประจำวันบางอย่างได้อย่างถูกต้อง เช่น การแต่งตัว ทำอาหาร ขับรถ อาจมีอาการลืมในสิ่งที่เพิ่งได้ทำไป เช่น
-
ลืมว่ารับประทานอาหารไปแล้ว
-
ลืมว่าเพิ่งได้ไปสถานที่ใดมา
-
หลงทางเมื่ออยู่ในสถานที่ที่ไม่คุ้นเคย
-
ผู้ป่วยบางรายอาจไม่สามารถอ่านหรือเขียนหนังสือได้อย่างถูกต้อง ใช้คำผิดในการสนทนา
-
มีการตัดสินใจที่ผิดพลาดในสิ่งที่สามารถเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยเพราะขาดความยั้งคิด
-
ผู้ป่วยอาจมีภาพหลอนหรืออาการหลงผิด เช่น คิดว่าจะมีคนเข้ามาขโมยของในบ้าน
ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการมากจะไม่สามารถประกอบกิจวัตรประจำวันด้วยตัวเองได้ ต้องมีคนคอยช่วยเหลือ เช่น อาบน้ำ แต่งตัว รับประทานอาหาร มีความผิดปกติในการเคลื่อนไหว และไม่สามารถจำสมาชิกในครอบครัวได้ เป็นต้น
ปัจจุบันสมองเสื่อมยังคงเป็นโรคที่รักษาไม่หาย ทำได้เพียงชะลอหรือคงความสามารถของสมองไว้ให้นานที่สุดเท่านั้น ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือทั้งจากผู้ป่วยและญาติ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระยะของโรค ตัวอย่างเช่น ถ้าผู้ป่วยเป็นในระยะแรก การรักษาจะมุ่งไปที่ผู้ป่วยเป็นหลัก คือ ผู้ป่วยจะต้องหมั่นฝึกฝนทักษะด้านสมองด้วยตนเองโดยมีญาติช่วยแนะนำหรือกระตุ้นให้เกิดการฝึกฝน สิ่งสำคัญคือ ผู้ดูแลควรให้ความช่วยเหลือเท่าที่จำเป็น ให้ผู้ป่วยได้ช่วยเหลือตัวเองให้มากที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้ เพื่อที่ผู้ป่วยจะได้มีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น
ขอบคุณแหล่งข้อมูล http://www.sukumvithospital.com/content.php?id=3459