ปัจจุบันนี้ผู้ผลิตรถยนต์จากญี่ปุ่นซึ่งเป็นแชมป์เบอร์หนึ่งและมีส่วนแบ่งการตลาดสูงสุดในตลาดรถยนต์ประเทศไทยและประเทศที่มีพลังทางเศรษฐกิจในย่านแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขณะนี้พวกเขาก็พยายามใช้วิธีการต่างๆ นานา เพื่อหวังว่าจะยังได้ครองแชมป์ในตลาดรถยนต์ EV อีกด้วย โดยเริ่มต้นวางแผนทำข้อเสนอให้ไทยเกี่ยวกับการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าชนิดหนึ่งที่เรียกว่า Plug-in Hybrid (PHEV) ที่มีระบบเครื่องยนต์ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงผสมกับระบบแบตเตอรี่ไฟฟ้า รวมไปถึงการผลิตรถยนต์ EV ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าแบบเต็มตัวอีกด้วย
สำหรับประเทศไทยของเราเองไทยตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเหมือนที่เคยเป็นศูนย์กลางของการผลิตรถกระบะ ก็พยายามดึงดูดให้ Toyota และ Honda มาเลือกผลิตรถยนต์ EV ในบ้านเราเช่นกัน โดยภาครัฐของไทยหยิบยื่นสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้กับผู้ผลิตรถยนต์ Plug-in Hybrid และรถยนต์ EV
ปัจจุบันปี 2019 ในไทย Toyota จำหน่ายรถยนต์ Hybrid ที่มีแบตเตอรี่ชนิดไม่ต้องเสียบปลั๊กเพื่อชาร์จ หมดกังวลเรื่องการหาสถานีชาร์จไฟ เพราะปัจจุบันในไทยยังไม่ค่อยมีสถานีชาร์จไฟ ซึ่งในอนาคตรถยนต์รูปแบบ Plug-in Hybrid อาจจะเริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้นเมื่อมีสถานีชาร์จไฟกระจายอยู่ทุกที่
ในอนาคตเราอาจจะได้เห็นภาพการเปลี่ยนแปลงและถูก disrupt ของธุรกิจพลังงาน ปั๊มน้ำมันอาจลดความสำคัญลงและเปลี่ยน business model ไปเป็นขายอย่างอื่น หรือในวงการอสังหาเช่นอาคารสำนักงาน ธุรกิจห้างที่มีลานจอดรถอาจติดตั้งสถานีชาร์จไฟภายในห้างเพื่อตอบสนอง demand ให้ผู้ใช้รถ EV ขับเข้ามาจอดที่ห้างชาร์จไฟแล้วเดินเล่นในห้างรอชาร์จแบตเตอรี่ ส่วนคอนโดมิเนียมก็อาจจะต้องติดตั้ง EV Charger ในโครงการให้เป็นของพื้นฐานประจำทุกที่ ส่วนคอนโดมิเนียมเก่าๆ ก็อาจจะต้องจ้างบริษัทติดตั้ง EV Charger เพิ่มเติมเพื่อบริหารให้ลูกบ้าน
ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นถือว่ายังเป็นตลาดใหม่ แม้ในไทยที่มีตลาดรถยนต์ที่โตมากๆ ก็ยังมีสัดส่วนรถยนต์ไฟฟ้าเพียงแค่ 2% เท่านั้น แต่ว่าเริ่มเห็นสัญญาณว่ามี demand รถยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จากการวิจัยโดย Frost & Sullivan โดย Nissan เมื่อปี 2018 พบว่ามีลูกค้ากว่า 37% บอกว่าถ้าเขาจะซื้อรถใหม่เขาจะไปดูรถยนต์ไฟฟ้าอย่างแน่นอน
นอกจากนี้กระแสการรักษาสิ่งแวดล้อมและการลดพิษในเมืองก็ถูกกระตุ้นขึ้นมาใน Social Network จากกรณีฝุ่นพิษ PM2.5 ตลบทั้งเมืองกรุงเทพและเชียงใหม่ ทำให้ประชาชนไทยเริ่มตื่นตัวในด้านสิ่งแวดล้อมและช่วยกันคนละนิดคนละหน่อยเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม เช่น เลือกอยู่ที่อยู่อาศัยในเขตเมืองและใกล้กับระบบขนส่งสาธารณะอย่างรถไฟฟ้ามากขึ้นเพื่อลดภาระทางการเงินที่ต้องผ่อนรถและช่วยลดการสร้าง carbon footprint ได้ไปในตัว สำหรับผู้ขับขี่รถยนต์ก็มองหารถยนต์ที่ไม่ปล่อยไอเสีย ปัจจุบันมีคนอยากขับรถยนต์ไฟฟ้า แต่ยังติดปัญหาอยู่ที่ราคาของรถยนต์ไฟฟ้ายังสูงจนยากที่จะเอื้อมถึงสำหรับคนทั่วไป
ไม่ใช่แค่ผู้ผลิตรถสัญชาติญี่ปุ่นที่จะมาแย่งชิงตลาดรถยนต์ EV นี้เท่านั้นเพราะยังมีกลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่ของเวียดนามอย่าง VinGroup ที่เปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าด้วยการสนับสนุนจากบริษัทรถยนต์สัญชาติยุโรปรวมตัวกันกว่า 20 บริษัท หนึ่งในนั้นก็มี BMW ด้วย สำหรับค่ายรถเยอรมันอย่าง BMW ก็ร่วมกับ Mercedes-Benz ผลิตรถยนต์ Plug-in Hybrid มาตั้งแต่ปี 2016 ซึ่งมียอดขายเกือบ 10,000 คันต่อปี นอกจากนี้ผู้ผลิตรถยนต์จากค่ายเมืองจีนก็จะยกทัพเอารถยนต์ EV มาตีตลาดใหม่ในแถบประเทศกลุ่มอาเซียนอีกด้วย สงครามยังไม่เริ่มก็มีหลายทัพยาตราเข้ามา แม้บริษัทเครื่องดูดฝุ่นสุดล้ำอย่าง Dyson ก็เข้ามาเล่นในตลาดรถยนต์ EV อีกด้วยโดยเริ่มย้ายสำนักงานใหญ่ข้ามจากอังกฤษมาปักลงที่สิงคโปร์เพื่อทำธุรกิจรถยนต์ EV ในภูมิภาคนี้อีก
นอกจากการผลิตรถยนต์ EV แล้วยังมีเรื่องของการบริการใหม่ๆ เช่น app เรียกรถที่จะทำให้ตลาดรถยนต์ใหญ่ขึ้น Toyota ได้ตัดสินใจลงทุนใน GRAB ซึ่งเป็นผู้ให้บริการ app เรียกรถที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งในการปูทางเพื่อรุกเข้าสู่สนามรบแห่งรถยนต์ EV อีกทาง ในอนาคตเราอาจจะเห็นบริการรถยนต์ EV ที่จะทำให้ลูกค้าที่พักอาศัยอยู่ในทำเลต่างๆ สามารถเดินทางได้สะดวกสบายมากขึ้นโดยที่ไม่ต้องซื้อรถยนต์เป็นของตัวเอง อีกเหตุผลที่ทาง Toyota ตัดสินใจลงทุนกับ GRAB เพราะอยากรู้ Big Data เกี่ยวกับพฤติกรรมผู้บริโภคเป็นอย่างไรเพื่อนำมาไปต่อยอดในธุรกิจของตัวเองมากขึ้น แต่ Toyota ก็ไม่ใช่ค่ายเดียวที่ร่วมลงทุนกับบริการเรียกรถแบบนี้เพราะ เพราะทาง Honda ก็ร่วมกับ Softbank และ Didi Chuxing ซึ่งเป็น app เรียกแท็กซี่รายใหญ่ของจีนก็ได้ร่วมลงทุนกันไปแล้วและเริ่มให้บริการเรียกรถแท็กซี่ในญี่ปุ่นโดยเริ่มปักหมุดเมื่อกันยายน 2018 ที่เมืองโอซาก้าก่อนเพราะเป็นเมืองที่คนจีนนิยมไปเที่ยว ปัจจุบันก็ขยายไปอีก 13 เมืองทั่วญี่ปุ่น
-ขอบคุณแหล่งข้อมูล https://propholic.com/