คำว่า TechFin นั้นหมายถึงบริษัท Tech Company ที่เริ่มมาทำธุรกิจการเงินมากขึ้น ส่วนใหญ่จะเป็น Platform ที่มีผู้ใช้งานเยอะ ๆ มาก่อนเช่น Alibaba Amazon Facebook WeChat LINE ต่างก็กระโดดเข้ามาแย่งเค้กก้อนใหญ่ในโลกทางการเงินมากขึ้น
Technology create new capabilities
เรามาถึงจุดที่ตัวเทคโนโลยี โดยเฉพาะเรื่องประสบการณ์ผู้ใช้ Smartphone ที่ทุกวันนี้พัฒนาไปมากจนบริการทางการเงินเปลี่ยนรูปแบบไปอย่างมากจากเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้น ยกตัวอย่างเช่น การทำการค้าขายระหว่างประเทศ ที่สมัยก่อนการยืนยันรายการ การยืนยันการโอนย้ายเงิน การดูเครดิตของผู้ซื้อผู้ขาย ทั้งหมดทำโดยธนาคาร แต่มาวันนี้สามารถทำได้ทั้งหมดโดยไม่จำเป็นต้องใช้ศักยภาพของธนาคารแต่เพียงอย่างเดียวอีกต่อไป หรือการซื้อขายของออนไลน์ เก็บเงินออนไลน์ที่เห็นชัดมากว่าในปัจจุบันหลาย ๆ Platform สามารถทำได้ด้วยตัวเอง
เทคโนโลยี Blockchain ก็เป็นอีกเทคโนโลยีที่มีส่วนสำคัญทำให้หน้าที่ของสถาบันการเงินดูจะจำเป็นน้อยลง จากที่สถาบันการเงินคือตัวกลางหลักที่ทำหน้าที่เชื่อมระหว่างผู้มีเงินเหลือ และผู้ต้องการเงินทุน เทคโนโลยีนี้ทำให้ไม่จำเป็นต้องมีนายหน้า สถาบันตัวกลางอีกต่อไป โดยธุรกรรมเชื่อระหว่างผู้มีเงินเหลือ และผู้ต้องการเงินทุนสามารถทำได้ในลักษณะ Peer to Peer เข้ามาทดแทน
Blockchain นี้ก่อให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า Cryptocurrency ที่เกิดจากการรวบรวมของคำว่า Cryptography และ Currency เข้าด้วยกัน ซึ่งหมายถึงสกุลเงินที่ต้องมีรหัส และเป็นการเปิดมิติใหม่ของการแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลให้มีความน่าเชื่อถือ และโปร่งใสมากขึ้น โดยมูลค่าของสินทรัพย์ในตลาด Cryptocurrency นั้นมักจะถูกประเมินด้วยปริมาณอุปสงค์และอุปทานในตลาดเป็นหลัก ซึ่งต่างกับการประเมินราคาหุ้นที่ต้องวิเคราะห์จากปัจจัยพื้นฐานและผลกำไรโดยสิ้นเชิง
Cryptocurrency ที่ได้รับความนิยมมากสุดและรู้จักกันอย่างแพร่หลายคงไม่พ้น Bitcoin ซึ่งถูกสร้างขึ้นมาในปี 2008 โดยบุคคล/กลุ่ม ผู้ใช้นามแฝงว่า ซาโตชิ นากาโมโตะ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีการเปิดเผยตัวตนที่แท้จริงอย่างเป็นทางการ โดยจุดประสงค์การสร้าง Bitcoin ของซาโตชิ คือ การสร้างสกุลเงินที่สามารถส่งต่อให้กันและกันได้โดยมีความเป็นอิสระจากรัฐบาลและธนาคารกลาง โดยพื้นฐานการทำงานของ Bitcoin จะใช้วิธีที่เรียกว่าการกระจายศูนย์ (Decentralized) หรือการจัดเก็บข้อมูลบนเครือข่ายคอมพิวเตอร์ทุกเครื่องในระบบให้ได้เห็นธุรกรรมที่เกิดขึ้นจริง และสามารถตรวจสอบซึ่งกันและกันได้เองโดยไม่จำเป็นต้องมีหน่วยงานใดเข้ามาควบคุม
หากจะกล่าวว่า Bitcoin จะเข้ามาแทนที่ทองคำนั้นก็นับว่ามีความใกล้เคียง โดยวิธีการที่จะได้มาซึ่ง Bitcoin นั้นจะต้องทำการขุด Bitcoin ซึ่งคล้ายคลึงกับการขุดเหมืองทองที่มีอุปทานจำกัด ส่วนปริมาณอุปทานของ Bitcoin ในระบบทั้งโลกนั้นมีจำกัดทั้งสิ้น 21 ล้าน Bitcoin ซึ่งปัจจุบันถูกขุดพบแล้วประมาณ 18.5 ล้าน Bitcoin จึงเหลือ Bitcoin ให้ขุดพบเพิ่มขึ้นอีกเพียง 2.5 ล้าน Bitcoin แต่การขุด Bitcoin จะต้องใช้การประมวลผลของคอมพิวเตอร์และการ์ดจอเข้าช่วยเพื่อถอดรหัสหา Algorithm ที่มีความซับซ้อนเพื่อให้ได้มาซึ่ง Bitcoin และในทุกๆ 4 ปี จำนวนเหรียญที่นักขุดจะได้รับจะถูกลดทอนเหลือครึ่งหนึ่ง (Halving) เพื่อให้การได้มานั้นยากมากขึ้นไปอีก โดยมีการคาดการณ์ว่า Bitcoin ทั้ง 21 ล้านเหรียญจะถูกค้นพบจนหมดในปี 2140 ด้วยความยากในการค้นพบซึ่งเหรียญใหม่ทำให้ปริมาณอุปทานในตลาดนั้นมีจำกัด แต่ปริมาณของอุปสงค์นั้นกลับเติบโตเมื่อบริษัทใหญ่ๆ เริ่มให้ความสนใจกระจายการลงทุนใน Bitcoin มากขึ้นจากแนวโน้มการเติบโตเช่นเดียวกับความสัมพันธ์ (Correlation) กับสินทรัพย์อื่นที่ต่ำ สะท้อนผ่านการที่บริษัท Tesla ประกาศซื้อ Bitcoin จำนวน 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และเตรียมรับชำระค่ารถด้วย Bitcoin ในอนาคต และก็มีความเชื่อที่ว่าหากหลายๆ บริษัททำเช่นเดียวกับ Tesla ก็จะช่วยผลักดันให้ราคา Bitcoin เติบโตแบบก้าวกระโดดขึ้นไปอีก
ขอบคุณข้อมูล https://www.finnomena.com/ และ https://www.indegowealth.com/