เป็นที่รู้กันดีว่าหมอเป็นหนึ่งในอาชีพที่รายได้สูงไม่แพ้อาชีพทางสายวิทยาศาสตร์อื่นๆ แต่ในอาชีพนี้ก็ยังมีการแตกแขนงออกไปอีกหลายสาขาวิชา ลองมาดูกันว่า 5 อันดับแรกของอาชีพในสายการแพทย์ที่มีรายได้สูงสุด มีหมอจากแผนกไหนติดโผบ้าง
1. ศัลยแพทย์ทั่วไป (General Surgeon)
ศัลยแพทย์ หรือที่เรียกกันภาษาชาวบ้านว่า ‘หมอผ่าตัด’ จัดว่าเป็นหมอที่มีรายได้สูงสุดเลยทีเดียว แต่ก็ต้องแลกมาด้วยการทำงานภายใต้ความกดดันและแข็งขันกับเวลา ที่ทุกนาทีหมายถึงชีวิตของผู้ป่วยซึ่งฝากความหวังไว้กับมือหมอ ศัลยแพทย์แบ่งย่อยออกไปอีกหลายแขนง ไม่ว่าจะเป็นประสาทศัลยแพทย์ (หมอผ่าสมอง) ศัลยแพทย์อุบัติเหตุ กุมารศัลยศาสตร์ (หมอผ่าตัดเด็ก) และอื่นๆ อีกมากมาย แต่ที่คนทั่วไปคุ้นเคยกันมากที่สุดก็คือ ศัลยแพทย์ตกแต่งและเสริมสร้าง หรือที่เรียกกันว่าหมอเสริมความงาม
2. วิสญญีแพทย์ (Anesthesiologist)
วิสัญญี แพทย์หรือที่เรียกกันติดปากว่า ‘หมอดมยา’ ทำหน้าที่วางยาสลบ ยาชา บล็อกไขสันหลัง ฯลฯ เพื่อดูแลผู้ป่วยให้เกิดความเจ็บปวดน้อยที่สุดและปลอดภัยมากที่สุด ทั้งในขณะผ่าตัดและหลังผ่าตัด วิสัญญีแพทย์ต้องเลือกยาและวิธีการให้เหมาะสมกับเคสและกายภาพของผู้ป่วย มิฉะนั้นอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ แม้จะไม่ค่อยถูกพูดถึงเท่าไหร่ แต่อันที่จริงแล้ววิสัญญีแพทย์เป็นผู้ปิดทองหลังพระที่ทำงานหนักไม่แพ้หมอคน อื่นๆ เลยนะ
3. สูตินารีแพทย์ (Gynecologist)
สูตินารีแพทย์มีบทบาทในการทำคลอดและตรวจรักษาโรคที่เกี่ยวข้องกับสตรี โดยเฉพาะปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับระบบสืบพันธุ์ บางคนจึงมักเรียกพวกเขาว่า ‘หมอตรวจภายใน’ ซึ่งมีหน้าที่ครอบคลุมถึงการให้คำปรึกษาเรื่องการมีบุตร และการผ่าตัดต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับอวัยวะสืบพันธุ์ของผู้หญิง
4. ศัลยแพทย์ช่องปาก (Oral and Maxillofacial Surgeons)
ศัลยแพทย์ ช่องปากเป็นส่วนหนึ่งของวิชาชีพทันตแพทย์ ที่ลงลึกเฉพาะทางเกี่ยวกับการผ่าตัดเพื่อรักษาความผิดปกติของขากรรไกรและใบ หน้า ปากแหว่งเพดานโหว่ ดูแลระบบบดเคี้ยวอาหารและการทำหน้าที่ของอวัยวะภายในช่องปาก ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัดกระดูกขากรรไกร ผ่าตัดฝังรากฟันเทียมต่างๆ ปลูกฟัน ผ่าตัดเนื้องอกในช่องปาก หรือแม้แต่การเตรียมความพร้อมก่อนใส่ฟันปลอม ก็ล้วนเป็นงานของศัลยแพทย์ช่องปากทั้งสิ้น
5. อายุรแพทย์ทั่วไป (General internists)
อายุรแพทย์ คือ แพทย์เฉพาะทางที่รักษาผู้ป่วยที่เป็นผู้ใหญ่ โดยเน้นการใช้ยาและวิธีการที่ไม่ต้องผ่าตัดเป็นหลัก ซึ่งจะแบ่งย่อยไปอีกหลายแขนง อย่างเช่น อายุรแพทย์โรคหัวใจ อายุรแพทย์มะเร็ง อายุรแพทย์โรคเลือด เป็นต้น มีการคาดการณ์จากกระทรวงสาธารณสุขของประเทศไทยว่า ในอีก 10 ปีข้างหน้าแพทย์เฉพาะทางจะขาดแคลนทุกสาขา โดยเฉพาะอายุรแพทย์ที่คาดว่าจะขาดแคลนมากถึง 4,000 คนเลยทีเดียว ดังนั้น ใครที่สนใจเรียนต่อทางด้านการแพทย์รับรองว่าไม่ตกงานอย่างแน่นอน แถมยังเป็นอาชีพที่ได้ช่วยเหลือบรรเทาความทุกข์ให้แก่ผู้ป่วยอีกด้วย