แต่ก่อนที่เราจะเล่าถึงแนวคิดของ “Helical Engine” จำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องรู้คร่าว ๆ ก่อนว่ายานอวกาศในปัจจุบันใช้เครื่องยนต์อะไรในการเดินทางและใช้หลักการอะไร?
ในปัจจุบันนี้เครื่องยนต์ของเครื่องบินและยานอวกาศเป็นเครื่องยนต์ไอพ่น (Jet Engine) ที่ใช้หลักการของกฎการเคลื่อนที่ข้อที่ 3 ของนิวตันในการขับเคลื่อน “แรงที่วัตถุที่หนึ่งกระทำต่อวัตถุที่สอง ย่อมเท่ากับ แรงที่วัตถุที่สองกระทำต่อวัตถุที่หนึ่ง แต่ทิศทางตรงข้ามกัน” กล่าวคือ เครื่องยนต์ไอพ่นจะออกแรงกระทำไปในทิศทางด้านหลังแล้วจึงเกิดเป็นแรงปฏิกิริยาในทิศสวนกันผลักให้เครื่องบินหรือยานอวกาศเคลื่อนที่ไปข้างหน้าหรือขึ้นสู่ท้องฟ้าได้
ด้วยหลักการนี้สามารถทำให้มนุษย์สามารถเดินทางข้ามประเทศ ข้ามทวีป หรือออกนอกโลกไปดวงจันทร์ได้ แต่ไม่เพียงพอที่จะใช้เครื่องยนต์นี้ในการสำรวจอวกาศในที่ระยะทางในหน่วยปีแสงได้
ปี 2016 Roger Shawyer ได้เสนอแนวคิดเครื่องยนต์ EM Drive (Electromagnetic Drive) และตีพิมพ์งานวิจัยที่เกี่ยวกับ EM Drive ลงในวารสาร American Institute of Aeronautics and Astronautics (AIAA) โดยเขาได้อ้างว่าด้วยระบบขับเคลื่อนนี้ที่ใช้กระแสไฟฟ้าในการสร้างคลื่นไมโครเวฟ ซึ่งเป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าแบบหนึ่ง ให้กระเด้งไปมาภายในโพรงรูปกรวยเพื่อให้เกิดแรงขับจะสามารถลดระยะเวลาในการเดินทางในอวกาศไปได้เป็นอย่างมาก โดยเราจะใช้เวลาเดินทางไปยังดาวอังคารด้วยเวลาเพียง 70 วัน และไปถึงดาวพลูโตได้ใน 18 เดือน แต่เครื่องยนต์นี้ก็ตกเป็นประเด็นทางวิทยาศาสตร์ที่เกิดการถกเถียงไปทั่วโลกเพราะหลักการขับเคลื่อนด้วยวิธีของ EM Drive นั้นค่อนข้างจะขัดกับหลักการของกฎข้อที่ 3 ของนิวตัน คือ แรงกิริยาเท่ากับแรงปฏิกิริยา (Action = Reaction) และกฎการอนุรักษ์โมเมนตัมค่อนข้างมาก
ปี 2019 วิศวกรคนหนึ่งของ NASA ได้เสนอแนวคิดหนึ่งของเครื่องยนต์เพื่อใช้ในการเดินทางสำรวจและข้ามอวกาศซึ่งอาจทำลายกฎทางฟิสิกส์อีกครั้ง โดยแนวคิดในครั้งนี้ถูกเสนอโดย David Burns ซึ่งเป็นวิศวกรประจำอยู่ที่ NASA’s Marshall Space Flight Center in Alabama เขาได้ตั้งชื่อแนวคิดเครื่องยนต์นี้ว่า “helical engine” หรือ เครื่องยนต์รูปเกลียว และได้ทำนายความสามารถของเครื่องยนต์นี้ว่าจะสามารถขับเคลื่อนยานอวกาศใด ๆ ได้โดยที่ปราศจากการขับดันของเครื่องยนต์ไอพ่นและจะสามารถทำความเร็วได้ถึง 99% ของความเร็วของแสงซึ่งเป็นความเร็วสูงที่สุดที่มนุษย์นั้นเคยรู้จัก (ความเร็วแสงประมาณ 3*108 m/s)
-ขอขอบคณ แหล่งข้อมูล https://www.scimath.org/article-physics/item/11202-helical-engine