หลักการทำงานของเทคโนโลยีการติดตามผู้สัมผัส (contact tracing) หลังจากที่เชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) แพร่ระบาดไปทั่วโลก ได้มีกลุ่มอาสาสมัคร บริษัทเอกชน รวมถึงรัฐบาลในหลายประเทศ จัดทำแอปพลิเคชันสำหรับติดตั้งบนโทรศัพท์มือถือประเภทสมาร์ตโฟนเพื่อใช้บันทึกข้อมูลการเดินทางและติดตามผู้สัมผัส โดยหลักการพื้นฐานของแอปพลิเคชันเหล่านี้จะเป็นการบันทึกข้อมูลว่าผู้ใช้ได้เดินทางหรือมีความใกล้ชิดกับบุคคลใดบ้าง ซึ่งข้อมูลดังกล่าวผู้ใช้อาจต้องบันทึกด้วยตนเองหรือตัวแอปพลิเคชันจะเก็บรวบรวมให้โดยอัตโนมัติ หากมีการใช้งานไปเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้วผู้ใช้สงสัยว่าติดเชื้อ ก็สามารถนำข้อมูลที่ระบบรวบรวมไว้ส่งให้แพทย์วิเคราะห์อาการต่อ หรืออาจพิจารณาประกาศแจ้งเตือนการติดเชื้อให้กับบุคคลที่เคยใกล้ชิดทราบได้ เทคโนโลยีที่ถูกนำมาใช้ในการติดตามผู้สัมผัสนั้นมีได้หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการสแกน QR code การระบุพิกัดจาก GPS หรือการจับสัญญาณ Bluetooth จากอุปกรณ์ใกล้เคียง โดยเทคโนโลยีแต่ละรูปแบบนั้นมีจุดประสงค์ของการใช้งาน ความสามารถในการทำงาน และข้อจำกัดที่แตกต่างกันไป เช่น
QR Code
รูปแบบการใช้งานหลัก ๆ ของ QR code จะมี 2 ฝั่ง คือฝั่งผู้ให้บริการและฝั่งผู้ใช้บริการ โดยฝั่งผู้ให้บริการนั้นจะต้องลงทะเบียนเพื่อรับรหัสเฉพาะมาในรูปแบบของ QR code และพิมพ์ QR code นั้นไว้ในจุดที่ผู้ใช้บริการสามารถสแกนเพื่อ check-in ว่าได้มาใช้บริการแล้ว หรือตรวจสอบข้อมูลว่าร้านค้าหรือผู้ให้บริการดังกล่าวนั้นผ่านการตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัยแล้วหรือไม่
GPS
การระบุพิกัดจาก GPS นั้นอาศัยการรับสัญญาณดาวเทียมเพื่อวิเคราะห์ตำแหน่งที่อยู่ โดยแอปพลิเคชันที่ใช้ข้อมูลจาก GPS นั้นส่วนใหญ่มักมีจุดประสงค์เพื่อแจ้งเตือนกรณีที่ผู้ใช้เข้าไปอยู่ในบริเวณที่มีเชื้อแพร่ระบาด หรือใช้เพื่อบันทึกประวัติการเดินทางย้อนหลังมากกว่าจะเป็นการวิเคราะห์ความใกล้ชิด เนื่องจากการใช้ข้อมูล GPS นั้นมีความคลาดเคลื่อนสูง
ขอบคุณแหล่งข้อมูล https://www.scimath.org/article-technology/item/11649-contact-tracing