หนี้ครัวเรือนของไทยสูงเป็นอันดับ 2 ของเอเชีย เป็นรองแค่เกาหลีและสูงเป็นอันดับที่ 11 จาก 70 ประเทศทั่วโลกปัจจุบันหนี้ครัวเรือนอยู่ระดับ 78.7% ของจีดีพี เป็นผลมาจากภาคธุรกิจมีกลยุทธ์ มีโปรโมชั่น ลด แลก แจกแถม จูงใจลูกค้าซื้อของใช้ฟุ่มเฟือยและเกินความจำเป็น ซึ่งตรงจริตคนไทยที่ “ช้อป ง่าย จ่ายแหลก แดกด่วน” จึงทำให้คนไทยมีหนี้เร็ว ระยะเวลานาน และมีหนี้มากขึ้น
ที่น่าเศร้าใจคือ มากกว่า 50% ของผู้กู้ใหม่ในแต่ละปีมีอายุน้อย และมีสัดส่วนผู้กู้อายุต่ำกว่า 25 ปีนับวันยิ่งจะสูงขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งมีการเพิ่มขึ้นของสัดส่วนของผู้กู้สูงอายุในกลุ่มผู้กู้เดิม มีหลายบัญชี สะท้อนให้เห็นว่า คนไทยมีหนี้เร็วขึ้นและนานขึ้น และมีโอกาสเสี่ยงเป็นหนี้เสียสูงขึ้น
ยิ่งถ้ามองย้อนกลับไปดูการขยายตัวของหนี้ครัวเรือนไทยในรอบ 9 ปีที่ผ่านมา พบว่า ส่วนใหญ่มาจากผู้กู้รายเดิม แต่มีสัดส่วน 1 ใน 5 ที่มาจากการขยายตัวของผู้กู้รายใหม่ซึ่งกู้ซื้อรถยนต์และจักรยานยนต์และเป็นหนี้เสียมากที่สุด รองลงไปเป็นสินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อบัตรเครดิตซึ่งส่วนใหญ่มาจากผู้กู้เดิม
ก็ต้องบอกว่า เรื่องนี้เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันคือ “เศรษฐกิจมีการเติบโต แต่รายได้ของประชาชนไม่เพิ่มขึ้น” หากพลิกข้อมูลย้อนหลังตั้งแต่ปี 2556-2561 ยืนยันว่าดัชนีเศรษฐกิจยังคงมีการเติบโตต่อเนื่อง แต่รายได้ประชากรเติบโตต่ำกว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจมาตลอด และเมื่อหักเงินเฟ้อ “รายได้แทบไม่มีการเติบโต” โดยเฉพาะรายได้ประชากรในภาคเกษตร
ขอบคุณแหล่งข้อมูล https://www.businesstoday