ผึ้งและชันโรง จัดเป็นแมลงที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของไทยเป็นอย่างมากในปัจจุบัน เป็นแมลงที่อยู่ในกลุ่มช่วยผสมเกสร แต่ทว่าผึ้งนั้นจะเก็บเกสรเข้ารังเพียง 20% เมื่อเก็บเกสรจากดอกไม้แล้วจะปล่อยฟีโรโมนหรือกลิ่นตัวของมัน ทำให้ผึ้งตัวต่อไปไม่มาตอมหรือเก็บเกสร ในขณะที่ชันโรงไม่สนใจถึงใครจะดอมดมเก็บเกสรแล้ว มันยังคงเข้าเก็บเกสรทุกดอกทุกรวง เพราะนิสัยของชันโรงชอบเก็บเกสรเข้ารังถึง 80% ทำให้สามารถช่วยผสมเกสรให้กับพืชต่างๆ ได้ดี ส่วนน้ำหวานที่เก็บได้จะมีราคาสูงกว่าน้ำผึ้งทั่วไป 10-20 เท่าตัว ซึ่งน้ำผึ้งชันโรงจะมีชันผึ้งละลายปะปนอยู่จึงมีสีค่อนข้างดำหรือสีเข้ม มีความเป็นกรดค่อนข้างสูงทำให้มีรสเปรี้ยว และมีคุณสมบัติสำคัญเป็นสารยับยั้งการเจริญของเชื้อจุลินทรีย์ สามารถใช้เป็นสารปฏิชีวนะในการรักษาโรคระบบทางเดินหายใจ ระบบทางเดินอาหาร โรคผิวหนัง ฆ่าเชื้อโรค ล้างไขมัน บำรุงผิวพรรณ บำรุงสายตา บำรุงประสาท ต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันมะเร็ง เบาหวาน ความดัน รักษาอาการเจ็บคอและอื่น ๆ อีกมากมาย
ชันโรงหรือผึ้งจิ๋ว (Stingless bee) เป็นแมลงที่อยู่รวมกันเป็นสังคม และไม่มีเหล็กไนจึงไม่ต่อยแต่กัดได้ พบทั่วไปในเขตร้อนตลอดจนบริเวณใกล้เคียงที่ติดกับเขตร้อนและมีอยู่ในท้องถิ่นทั่วไปในประเทศไทย พื้นที่ภาคเหนือเรียกชันโรงตัวเล็กว่า “ขี้ตังนี หรือ ขี้ตึง” ถ้าตัวใหญ่เรียกว่า ขี้ย้าดำ ถ้าเป็นชันโรงยักษ์เรียกว่า ขี้ย้าแดง ภาคใต้เรียก แมลงอุ่ง ภาคตะวันออก เรียกว่า ตัวชำมะโรง หรือ อีโลม ภาคอีสานเรียกว่า ขี้สูด ภาคตะวันตก เรียก ตัวตุ้งติ่ง หรือ ติ้ง การที่ชันโรงเป็นแมลงสังคมชั้นสูงทำให้ภายในรังจึงประกอบด้วยวรรณะ 3 วรรณะ คือ วรรณะนางพญา (Queen) วรรณะชันโรงงาน (Worker) วรรณะเพศผู้ (Drone) โดยแต่ละวรรณะทำหน้าที่แตกต่างกันภายในรัง และชันโรงมีวงจรชีวิตเช่นเดียวกับผึ้ง คือ ระยะไข่ (6-7 วัน) ระยะตัวอ่อน/หนอน (6-7 วัน) ระยะดักแด้ (26 วัน) และระยะตัวเต็มวัย (210 วัน)
นอกจากนี้ยังมีการสร้างรวงรัง โดยแบ่งเป็นสัดส่วน เป็นเซลล์หรือกระเปาะ ได้แก่ กระเปาะเก็บเกสร กระเปาะเก็บน้ำหวานและกระเปาะสำหรับวางไข่และเลี้ยงดูตัวอ่อน ชันโรงเป็นแมลงที่ช่วยผสมเกสรพืชทุกชนิด ทั้งพืชป่า พืชพื้นบ้าน และพืชสมุนไพร จึงทำให้น้ำผึ้งชันโรงเป็นน้ำผึ้งที่อุดมไปด้วยคุณค่าทางอาหารและยามากกว่าน้ำหวานจากผึ้งทั่วไป รวมทั้งเข้มข้นกว่า แต่น้ำผึ้งชันโรงจะมีปริมาณจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับน้ำผึ้งจากผึ้งทั่วไป ทำให้มีราคาแพงกว่า (ประมาณ ขวดละ 1,500-2,000 บาท) เนื่องจากชันโรงจะมีนิสัยเก็บเกสร 80% เก็บน้ำหวาน 20% รวมทั้งเก็บยางไม้หรือชันผึ้ง (propolis) ที่มากกว่าผึ้งทั่วไป เพราะจะใช้สร้างรัง อุดรอยรั่ว ทำทางเข้าออกรังและใช้ป้องกันศัตรูบุกรุก
ซึ่งในปัจจุบันสามารถเลี้ยงเชิงพาณิชย์หรืออุตสาหกรรมได้ เพราะผลิตภัณฑ์จากชันโรงทั้งน้ำหวานและชันผึ้ง ตลาดมีความต้องการสูงเพื่อใช้ในทางการแพทย์ การผลิตอาหารสุขภาพและเครื่องสำอาง อีกทั้งชาวสวนไม้ผลได้มีการเช่าชันโรง เพื่อวางในสวนผลไม้ช่วยในการผสมเกสรเพิ่มผลผลิต คิดราคา 30-50 บาท/วัน/รัง ดังเช่น พื้นที่สวนลำไยทางภาคเหนือได้ทดลองวางชันโรง 2 รังในพื้นที่ 5 ไร่ ช่วงเวลาออกดอก พบว่า สามารถช่วยผสมเกสรทำให้ผลผลิตดีมีคุณภาพ ดังนั้น ชันโรง เป็นสุดยอดแมลงช่วยผสมเกสรเพื่อเพิ่มผลผลิตและเป็นแมลงเศรษฐกิจที่สร้างรายได้
แหล่งที่มา
กุณฑล เทพจิตรา. (2562, 19 มกราคม). ชันโรง สุดยอดแมลงช่วยผสมเกสร เพิ่มผลผลิต เป็นแมลงเศรษฐกิจ สร้างรายได้. สืบค้นเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2562, จาก https://www.technologychaoban.com/bullet-news-today/article_90538
ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านแมลงเศรษฐกิจ จังหวัดเชียงใหม่. (2562, 09 มกราคม). ผลิตภัณฑ์จากผึ้ง. สืบค้นเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2562, จาก http://www.aopdb04.doae.go.th/beeproduct.htm
นัย บำรุงเวช. (2560, 06 เมษายน). ชันโรง ผึ้งจิ๋ว มหัศจรรย์เงินล้าน เป็นประโยชน์แก่เกษตรกร ช่วยผสมเกสรติดผลดีมาก. สืบค้นเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2562, จากhttps://www.technologychaoban.com/agricultural-technology/article_15954
ภาพผึ้งจิ๋วผสมเกสร
ที่มา https://pixabay.com, nuzree