ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป (ตรงถนนเจ้าฟ้า) คืองาน ‘เฉลิมฟิล์มกระจก ฉลองมรดกความทรงจำแห่งโลก’ เราสนใจอยากไปชมนิทรรศการนี้ เมื่อได้ไปเดินในนิทรรศการจริงๆ แล้วก็พบว่ามันเป็นนิทรรศการที่ดีมากๆ ทำให้เราตื่นเต้นกับทุกรูปที่เห็นตั้งแต่ต้นไปจนจบ เลยอยากจะบอกต่อและชวนให้ทุกคนได้ไปเห็นเช่นเดียวกัน
ความสำเร็จในการพยายามถ่ายภาพของมนุษย์เกิดขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2394 (ค.ศ. 1851) เมื่อนักประดิษฐ์ชาวอังกฤษ ชื่อ Frederick Scott Archer ได้พัฒนาฟิล์มกระจกขึ้นมา ทำให้การถ่ายภาพสะดวกขึ้นกว่าที่เคยเป็นมา วิธีการคือใช้สารเคมีหลายตัวมาเคลือบไว้บนแผ่นกระจกแล้วนำไปใส่ในกล้องถ่ายรูป โดยที่ตัวกระจกนั้นยังคงเปียกน้ำยาอยู่ (บางครั้งเราก็เรียกเทคนิคฟิล์มกระจกแบบนี้ว่า wet plate หรือ wet collodion ตามชื่อสารเคมีที่ยังคงเปียกอยู่บนแผ่นกระจกตอนที่เอาไปใช้ถ่ายรูปนั่นเอง) เมื่อถ่ายเสร็จก็นำกระจกออกมาล้างในน้ำยาล้างรูปเพื่อให้เกิดเป็นภาพขึ้นมา
การประดิษฐ์นี้เปลี่ยนโลก เพราะทำให้ต้นทุนการถ่ายภาพถูกลง และเกิดขึ้นได้จริงนอกห้องทดลอง ด้วยความไวแสงของฟิล์มที่มากขึ้นจนใช้เวลาในการบันทึกแต่ละรูปเป็นหน่วยวินาที ไม่ใช่เป็นนาทีอย่างยุคก่อนหน้า ก่อนที่จะถูกพัฒนาต่อมาเป็นฟิล์มกระจกแบบแห้งที่สามารถพกพาไปใช้งานได้ในภายหลัง จนเมื่อเทคโนโลยีเจริญขึ้นและมนุษย์สามารถผลิตแผ่นพลาสติกเซลลูลอยด์ขึ้นมาได้ ก็เลยเกิดฟิล์มถ่ายรูปที่คล้ายกับที่เราใช้กันมาขึ้นในปี พ.ศ. 2440 ทำให้กล้องและฟิล์มนั้นมีขนาดเล็กลง พกพาง่ายขึ้น
การถ่ายรูปจึงเป็นเรื่องสะดวกและง่ายดายขึ้นจากแต่ก่อนมาก (ทำให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เรื่อยมาจนกลายมาเป็นกล้องดิจิตอลอย่างในทุกวันนี้) และทำให้การถ่ายภาพด้วยฟิล์มกระจกค่อยๆ หายไปตามกาลเวลา
ส่วนการถ่ายภาพในประเทศไทยนั้นเริ่มขึ้นในช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ 3 ด้วยการเผยแพร่วิธีการถ่ายภาพจากคณะมิชชันนารี โดยพระสังฆราช ฌ็อง บัปติสต์ ปาลเลอกัวซ์ (Jean-Baptiste Pallegoix) และบาทหลวง ลาร์นอดี (L’Abbé Larnaudie) ได้ถ่ายทอดวิชาการถ่ายภาพให้แก่ พระยากระสาปน์กิจโกศล (โหมด อมาตยกุล) หลวงอัคนีนฤมิตร (จิตร จิตราคนี) และพระปรีชากลการ (สำอาง อมาตยกุล) ซึ่งเป็นช่างภาพรุ่นแรกของไทย
หลังจากนั้น การถ่ายภาพด้วยฟิล์มกระจกจึงเริ่มแพร่หลายมากขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เนื่องจากสิ่งของล้ำสมัยที่ถูกสร้างขึ้นด้วยเทคโนโลยีจากยุโรป ทำให้การถ่ายภาพด้วยฟิล์มกระจกยุคแรกแพร่หลายอยู่แค่เฉพาะในหมู่เจ้านายเท่านั้น จนมาถึงในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระราชนิยมในการถ่ายภาพทำให้หมู่เจ้านายและขุนนางนิยมการถ่ายภาพมากขึ้น แต่ก็ยังคงไม่ได้แพร่หลายออกไปสู่ประชาชนมากนัก หลายๆ รูปในนิทรรศการนี้จึงเป็นรูปที่คนส่วนมาก (อย่างเรา) ไม่เคยเห็นมาก่อน และบางรูปนั้นก็ชวนให้ตกใจว่ามีการบันทึกภาพอยู่ด้วยเหรอ
รูปในนิทรรศการส่วนใหญ่รวบรวมจากภาพในยุคสมัยรัชกาลที่ 4 ถึงรัชกาลที่ 7 เป็นการบันทึกภาพบุคคล เหตุการณ์ สถานที่ ความเจริญ หรือการเปลี่ยนแปลงของบ้านเมืองในหลายๆ แง่ ผ่านมุมมองของผู้ถ่ายภาพ อันได้แก่ พระมหากษัตริย์ พระบรมวงศ์ ขุนนาง และช่างภาพ ถือเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ล้ำค่า จนที่ประชุมคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้ประกาศให้ฟิล์มกระจกและภาพต้นฉบับจากฟิล์มกระจกชุดหอพระสมุดวชิรญาณ เป็นมรดกความทรงจำแห่งโลกในวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2559
นิทรรศการนั้นจัดแสดงรูปจำนวน 150 รูปจากที่มีอยู่ทั้งหมดกว่าสามหมื่นรูป เราจึงขอนำบางรูปจากในนิทรรศการนี้
นิทรรศการเฉลิมฟิล์มกระจก ฉลองมรดกความทรงจำแห่งโลก
26 พฤษภาคม – 28 กรกฎาคม 2561
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป
เลขที่ 4 ถนนเจ้าฟ้า แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200
โทรศัพท์: 02-281-2224
national.gallery.th@gmail.com
วันและเวลาทำการ
วันพุธ – วันอาทิตย์ เวลา 09.00 – 19.00 น.
(ขยายเวลาปิดเฉพาะในช่วงที่มีนิทรรศการเฉลิมฟิล์มกระจก ฉลองมรดกความทรงจำแห่งโลก
เวลาทำการปกติคือ 09.00 – 16.00 น.)
หยุดวันจันทร์ วันอังคาร และวันหยุดราชการ
ขอบคุณแหล่งข้อมูล https://readthecloud.co/